กลยุทธ์บริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติ เสียภาษีน้อยนิดในไทย - BillionMoney

เราอาจจะเคยเห็นผ่านตากันมาบ้างว่า มีบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกหลายบริษัท มาจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทลูกในประเทศไทยกัน เช่น
- บริษัท เฟซบุ๊ก (ประเทศไทย) จำกัด ของ Meta
- บริษัท กูเกิล (ประเทศไทย) จำกัด ของ Alphabet
เคยสงสัยไหมว่า ทำไมบริษัทระดับโลกเหล่านี้ ถึงมาจดทะเบียนบริษัทในบ้านเรา โดย BillionMoney จะมาอธิบายให้เข้าใจ แบบง่าย ๆ
คำตอบ ก็คือ เรื่องของภาษี..
เพื่อให้เราเข้าใจเรื่องนี้กันง่ายขึ้น
ลองมาดูตัวอย่างต่อไปนี้กัน
มีบริษัทสัญชาติอเมริกันชื่อว่า BMART เลือกไปจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ในประเทศลักเซมเบิร์ก ที่มีอัตราภาษีนิติบุคคลค่อนข้างต่ำ
นั่นจึงทำให้เวลาที่บริษัทต้องการจะโอนเงินเข้าและออกจากประเทศนี้ จึงจ่ายภาษีต่ำตามไปด้วย
หลังจากนั้น บริษัทดังกล่าวจะจัดตั้งบริษัทลูกในอีกประเทศที่มีค่าแรงค่อนข้างถูก แต่ว่ามีแรงงานที่ค่อนข้างมีฝีมืออยู่บ้าง เช่น อินเดีย ไทย และเวียดนาม
ในตัวอย่างนี้ บริษัท BMART เลือกไปตั้งบริษัทลูกในประเทศไทย โดยใช้ชื่อว่า บริษัท BMT
ทีนี้ บริษัท BMART และบริษัท BMT ก็จะมีการทำธุรกิจร่วมกัน
โดยบริษัท BMART จะมีการจ้างงานให้บริษัท BMT ผลิตสินค้าหรือบริการให้
แต่สินค้าที่บริษัท BMT ผลิตให้บริษัท BMART นั้น อาจไม่ได้เป็นสินค้าที่สามารถจับต้องได้เลย
ยกตัวอย่างเช่น บริษัท BMART อาจจ้างวานให้บริษัท BMT มาเป็นที่ปรึกษาทางธุรกิจให้ ซึ่งบริษัท BMT ก็จะได้ค่าจ้างมาในรูปแบบค่าที่ปรึกษา
ดังนั้น ค่าใช้จ่ายหลัก ๆ สำหรับบริษัท BMT ก็จะมีเพียง
ค่าจ้างพนักงาน และค่าเช่าสถานที่ เท่านั้น
ถ้าให้บริษัท BMART มีรายได้ทั้งหมดใน 1 ปี คิดเป็นเงินไทย เท่ากับ 9,500 ล้านบาท
ส่วนบริษัท BMT ซึ่งเป็นบริษัทลูก จะมีค่าใช้จ่าย ได้แก่
- ค่าใช้จ่ายด้านพนักงานทั้งหมด 144 ล้านบาท
- ค่าใช้จ่ายด้านสถานที่ทั้งหมด 6 ล้านบาท
เมื่อรวมกันแล้ว บริษัท BMT จะมีค่าใช้จ่ายต่อปี ทั้งหมด 150 ล้านบาท
ซึ่งในส่วนนี้เอง บริษัท BMART ก็จะสามารถคาดเดาค่าใช้จ่ายของบริษัท BMT ได้ก่อนอยู่แล้ว เพราะเป็นค่าใช้จ่ายด้านพนักงาน และค่าเช่าสถานที่ ซึ่งค่อนข้างคงที่
ทำให้บริษัท BMART เลือกจ่ายค่าราคาสินค้าและบริการที่ซื้อจากบริษัท BMT ซึ่งเป็นบริษัทลูก ในมูลค่าที่ใกล้เคียงกับค่าใช้จ่ายของบริษัท BMT
เมื่อรู้รายจ่าย และควบคุมมูลค่ารายได้ของบริษัทลูกได้ บริษัท BMT จึงมีกำไรน้อย หรือไม่มีกำไรเลยก็ได้
นั่นจึงเป็นเหตุผลให้ บริษัท BMT แทบจะไม่ต้องเสียภาษีเลย..
จากตัวอย่างข้างต้น เราจะเห็นได้ว่าเมื่อเทียบรายได้ของบริษัท BMART กับบริษัท BMT นั้น จะมีความแตกต่างกันหลายเท่าตัวเลย
ซึ่งถ้าเราลองยกตัวอย่างไปว่า บริษัท BMART โอนเงิน 150 ล้านบาท ไปให้บริษัท BMT ก็จะคิดเป็นสัดส่วนเพียงแค่ 1.6% ของรายได้ของบริษัท เท่านั้น
กลยุทธ์การทำธุรกิจแบบนี้ เราสามารถพบเห็นได้ทั่วไป
ในบริษัทระดับโลก ที่เลือกไปตั้งบริษัทลูก ในต่างประเทศ ที่มีค่าแรงต่ำ เช่น
- บริษัทแม่อย่าง Meta Platforms
ปี 2564 มีรายได้ 3.9 ล้านล้านบาท
ส่วนบริษัทลูกที่จดทะเบียนในไทย คือ
บริษัท เฟซบุ๊ก (ประเทศไทย) จำกัด
รายได้ 413 ล้านบาท กำไรสุทธิ 23 ล้านบาท
เสียภาษี 12 ล้านบาท
- บริษัทแม่อย่าง Alphabet Inc.
ปี 2564 มีรายได้ 8.6 ล้านล้านบาท
บริษัทลูกที่จดทะเบียนในไทย คือ
บริษัท กูเกิล (ประเทศไทย) จำกัด
รายได้ 1,009 ล้านบาท กำไรสุทธิ 44 ล้านบาท
เสียภาษี 30 ล้านบาท
- บริษัทแม่อย่าง Microsoft Corporation
ปี 2565 มีรายได้ 6.6 ล้านล้านบาท
บริษัทลูกที่จดทะเบียนในไทย คือ
บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด
รายได้ 1,220 ล้านบาท กำไรสุทธิ 92 ล้านบาท
เสียภาษี 28 ล้านบาท
ด้วยกลยุทธ์การทำธุรกิจแบบนี้ จะช่วยให้บริษัทแม่ สามารถประหยัดภาษีไปได้ หลายเท่าตัว..
References
-กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
-Yahoo Finance
-https://www.interviewbit.com/blog/it-companies-in-india
-https://www.billionmoney.com/7668
-https://www.longtunman.com/38465