แนวความคิดการลงทุนแบบ Value Investments ในตลาดหุ้นไทยนั้นน่าจะดำเนินมากว่า 20 ปีแล้ว ผมเองยังจำได้ว่าผมเริ่มแนวทางการลงทุนแบบนี้มาตั้งแต่ประมาณปี 2537-39 ก่อนวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 ในช่วงนั้นส่วนใหญ่ก็จะเป็นการลงทุนเงินของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ที่ผมเป็นผู้บริหารอยู่ เรียกในสมัยนี้ก็คือ Prop Trade หรือการลงทุนเงินของบริษัทหลักทรัพย์เอง ในสมัยนั้นมีมีบริษัทไม่มากนักที่ทำอย่างนั้นและเงินที่ใช้ซึ่งรวมถึงบริษัทที่ผมทำงานอยู่ก็ไม่สูงนัก ผลการลงทุนในช่วงประมาณ 2-3 ปี ก็ไม่ได้ผลตอบแทนที่ดี ว่าที่จริงน่าจะแย่มาก เพราะราคาหุ้นในตอนที่ซื้อก็คงแพงเพราะอยู่ในช่วงที่ตลาดหุ้นมีราคาแพงมากเป็น “ฟองสบู่” พอเกิดวิกฤติหุ้นก็กลายเป็นหายนะ ราคาหุ้นทุกตัวตกต่ำลงมาหมด อย่างไรก็ตาม นี่เป็นยุคของการ “ก่อตัว” ของแนวความคิด
หลังปี 2540 ผมก็เริ่มชีวิตการลงทุนแบบ VI เต็มตัวหลังจากที่ต้องออกจากงานประจำที่มั่นคง ด้วยราคาหุ้นที่ตกต่ำลงมาก ผมก็เห็นหุ้นที่มี “คุณภาพดี” จำนวนมากมีราคาที่ถูกมาก ค่า PE ไม่เกิน 10 เท่า PB ต่ำกว่า 1 เท่า และปันผลที่สูงลิ่วบางตัวถึง 10% ต่อปี ผมจึงเริ่มเข้าไปซื้อลงทุน และหลังจากนั้นผมก็เริ่มเขียนหนังสือและบทความเผยแพร่แนวความคิดแบบ VI จนเริ่มได้รับความนิยมและเริ่มมีนักลงทุนสนใจเข้ามาฟังการสัมมนาและเริ่มจับกลุ่มก่อตั้งเป็นชมรม VI มีเวปไซ้ต์ซึ่งขณะนั้นยังเป็นของใหม่ในประเทศไทยเป็นของตนเอง ใน “ยุคเริ่มต้น” นี้ เนื่องจากราคาหุ้นถูกมาก ที่จริงน่าจะถูกที่สุดเพราะในช่วงหนึ่งดัชนีตลาดตกลงไปถึงประมาณ 200 จุดเศษ ๆ การลงทุนแบบ VI ทำได้ง่ายและให้ผลตอบแทนสูง ความเข้าใจของคนก็คือ VI นั้นคือการลงทุนในหุ้นที่มีราคาถูกเป็นหลัก จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งในช่วงนี้ก็คือ นักลงทุนที่เป็น VI กลายเป็นคนลงทุน “รุ่นใหม่” ที่ไม่ได้ Active หรือเคยเล่นหุ้นเป็นประจำในตลาดหุ้นก่อนหน้านั้น พวกเขาเป็นคนกินเงินเดือนที่มีการศึกษาสูง การลงทุนของพวกเขาเน้นที่ “พื้นฐานของกิจการ” ลงทุน “ระยะยาว” และถือหุ้นเป็นพอร์ตโฟลิโอ
ช่วงต่อมาน่าจะเรียกว่าช่วง “เติบโต” หลังจากที่แนวคิดเรื่อง VI เริ่มเป็นที่ยอมรับในวงกว้างส่วนหนึ่งจากภาวะหุ้นบูมในปี 2546 ที่ดัชนีตลาดหุ้นเพิ่มขึ้นปีเดียวประมาณ 120% และสื่อมวลชนต่างก็สนใจที่จะเข้ามารายงานและทำรายการเกี่ยวกับตลาดหุ้น และถ้าจำไม่ผิด นี่เป็นปีก่อตั้งของ Money Channel สถานีทีวีที่เน้นเฉพาะการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ VI กลายเป็นการลงทุน “กระแสหลัก” ของนักลงทุน “รุ่นใหม่” ที่หวังจะร่ำรวยจากการลงทุน หนังสือพิมพ์เริ่มมีบทสัมภาษณ์และข้อมูลเกี่ยวกับ VI แม้ว่าพวกเขาจะยังไม่ใหญ่เท่ากับ “ขาใหญ่” ในตลาดหุ้น
หลังจากวิกฤติ “แฮมเบอร์เกอร์” ของตลาดหุ้นสหรัฐ-และไทยในปี 2551 และการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วในช่วง 2-3 ปีต่อมา การลงทุนและนักลงทุน VI ก็กลับมาเติบโตอย่างรวดเร็ว “VI มืออาชีพ” จำนวนไม่น้อยสามารถสร้างผลงานการลงทุนในระดับที่เป็น “ปรากฏการณ์” นั่นคือหลาย ๆ คนสามารถสร้างความมั่งคั่งจนกลายเป็นคนร่ำรวยมีพอร์ตเป็นร้อยหรือเป็นพันล้านบาทจากเงินเริ่มต้นไม่มากนัก ชื่อของพวกเขาปรากฏในรายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ในหลาย ๆ บริษัทที่มีมูลค่ากิจการหรือ Market Cap. เติบโตขึ้นมหาศาลในเวลาอันสั้น หลาย ๆ คนเป็นเซียนหุ้นเติบโต บางคนเป็นเซียนหุ้นฟื้นตัว บางคนเน้นหุ้นที่เป็นวัฏจักร ทุกคนต่างก็เป็น “สุดยอด VI” ที่เป็น “ไอดอล” ของคนรุ่นใหม่ แนวความคิดที่เน้นซื้อหุ้นถูกแบบ VI ดั้งเดิมนั้นหายไปอย่างสิ้นเชิง ว่าที่จริงหุ้นที่ราคาถูกจริง ๆ ก็เหลือน้อยมากยกเว้นในช่วงวิกฤติหรือไม่ก็เป็นหุ้น “ตะวันตกดิน” ที่ไม่โตและอาจจะค่อย ๆ ตาย ช่วงของความเฟื่องฟูนี้น่าจะเรียกว่าเป็น “ยุคทองของ VI” ซึ่งดำเนินมาจนถึงปี 2555
ยุคทองของ VI นั้นน่าจะทำให้ VI เป็น “กระแสหลัก” ของ “นักลงทุนทั่วไป” แม้แต่นักลงทุน “รายใหญ่” ในตลาดหุ้น ซึ่งในช่วงนี้หลายคนก็คือ VI รุ่นใหม่ที่เข้าตลาดด้วยเงินจำนวนมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมารวมถึงนักลงทุนรายใหญ่เดิมที่หันมาให้ความสำคัญกับการลงทุน “แนว VI” และเรียกตัวเองว่าเป็น VI ดูเหมือนว่าจะเป็น Consensus หรือเป็น “มติมหาชน” ไปแล้วว่า VI คือแนวทางที่จะลงทุนแล้วได้ผลตอบแทนดีที่สุด คนทุกคนอยากที่จะเป็น VI แม้ว่าหลายคนบอกว่าจะทำไม่ได้และหลายคนก็ไม่ใช่ VI จริง ๆ อย่างไรก็ตาม ผลจากความนิยมนั้นทำให้ราคา “หุ้น VI” จำนวนมากหรืออาจจะเกือบทั้งหมดกลายเป็น “ฟองสบู่” ที่ทำให้คนรุ่นใหม่ที่เข้ามาซื้อตามขาดทุนอย่างหนักในขณะที่ VI รายใหญ่เป็นคนขายก็ทำให้เกิดภาพของ “VI ทมิฬ” ที่ “หลอกกินเงินคนอื่น”
สองสามปีที่ผ่านนี้ ผมคิดว่าเป็นจุด “สิ้นสุดยุคทองของ VI” การลงทุนคงไม่ง่ายเหมือนเดิมเนื่องจากราคา “หุ้น VI” สำหรับผมแล้วไม่ค่อยมี Margin of Safety ที่จะลงได้อย่างสบายใจ ด้วยเหตุผลนี้คงจะทำให้ VI รุ่นหนุ่มสาวจำนวนหนึ่งที่ยังไม่ได้ร่ำรวยจากยุคทองของ VI ไทย เริ่มที่จะมองหาตลาดใหม่ที่จะให้ผลตอบแทนที่ดีเยี่ยมแบบที่เกิดขึ้นในตลาดหุ้นไทยเมื่อ 10-20 ปีก่อน ประกอบกับการ “เปิดตลาด” ของหุ้นทั่วโลกเฉพาะอย่างยิ่งตลาดหุ้นใน AEC นั่นส่งผลให้ VI นักบุกเบิกจำนวนหนึ่งที่กำลังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เริ่มไปลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศโดยเฉพาะตลาดหุ้นเวียตนาม ผมเองลึก ๆ แล้วก็รู้สึกว่าในที่สุดยุคของ VI ไทยหลังจากนี้ก็อาจจะเป็นยุคของ “การลงทุนในต่างประเทศ” โดยเฉพาะถ้าตลาดหุ้นไทยไม่สามารถให้ผลตอบแทนที่ดีอย่างที่เคยเป็น เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์
--------------------------
VI หลายยุค
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
ที่มา : Thai Vi
โลกในมุมมองของ Value Investor