ห้องเม่าปีกเหล็ก

รายงานพิเศษ : อลเวงดีล Twitter ของ อีลอน มัสก์ ปฏิบัติการสายฟ้าแล่บที่โลกต้องจำ

โดย PhotoStory
เผยแพร่ :
178 views

รายงานพิเศษ : อลเวงดีล Twitter ของ อีลอน มัสก์ ปฏิบัติการสายฟ้าแล่บที่โลกต้องจำ

ทันทีที่อีลอน มัสก์ เข้าซื้อ Twitter Inc. ในราคา 4.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ปลดเจ้าหน้าที่ระดับสูงเกือบทั้งหมดและคณะกรรมการของบริษัท และดำเนินการตามแผนปลดพนักงานราวครึ่งหนึ่งของจำนวนพนักงาน 7,500 คน โดยมีเป้าหมายที่จะทำให้โซเชียล เน็ตเวิร์คนี้ ยืนหยัดเพื่อคำพูดที่มีเสรีภาพที่สามารถทำกำไรได้ แต่ด้วยความเร่งรีบของเขา ทำให้ผู้ที่จะมาลงโฆษณา ผู้คุมกฎ และเหล่าที่ชอบการทวีต ต่างอกสั่นขวัญแขวนกันไปหมด

.

สรุปความอลเวงจากการเข้าซื้อ Twitter ครั้งนี้ของ อีลอน มัสก์

1. มัสก์ พยายามจะทำอะไร

มหาเศรษฐีเทคท่านนี้ กำลังสร้างภาพตนเองเป็นผู้พิทักษ์มนุษยชาติจากสิ่งที่เขามองว่าเป็นภัยคุกคามที่ดำรงอยู่ นั่นคือการเซนเซอร์คำพูดโดย “ม็อบผู้แตกตื่น” (Woke Mob) แต่เขายังมีความต้องการเร่งด่วนคือ มัสก์ได้กู้ยืมเงินจำนวนมากเพื่อใช้สำหรับเข้าซื้อ Twitter และพยายามที่จะหาแหล่งรายได้ใหม่ๆ นอกเหนือจากแผนเก็บค่ารายเดือน 8 ดอลลาร์สำหรับบัญชีที่ได้รับการรับรองถูกต้องแล้ว (Verified Account) ซึ่งเดิมเป็นฟีเจอร์ที่ไม่ได้เก็บค่าใช้จ่ายใดๆกับผู้ใช้ เขากำลังเร่งพัฒนาเครื่องมืออื่นๆที่จะสร้างเงินสดให้บริษัท

.

2. สิ่งที่เหล่าผู้ซื้อโฆษณากังวล

จากการที่ Twitter ปลดพนักงานออกจำนวนมาก ทำให้เกิดความกลัวว่าจะส่งผลกระทบต่อการคัดกรองเนื้อหา (Content Moderation) และนี่เป็นประเด็นหลักของผู้ซื้อโฆษณา ซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักของบริษัทด้วย โดยผู้ซื้อโฆษณาเหล่านี้ อยากให้แน่ใจว่าแบรนด์ของพวกเขาจะไม่ถูกวางใกล้กับพวกคำพูดเกลียดชัง โดยแบรนด์ดังอย่าง General Motors Co., Volkswagen AG, Pfizer Inc. และ General Mills Inc. กล่าวว่าได้วางแผนที่จะระงับการใช้จ่ายโฆษณาบนแพลตฟอร์มดังกล่าว ระหว่างที่รอว่า Twitter จะมีพัฒนาการอย่างไรภายใต้การนำของมัสก์

.

บรรดานักเคลื่อนไหวได้หาทางกดดันเหล่าผู้ซื้อโฆษณา เป็นวิธีการหนึ่งเพื่อให้มั่นใจว่าการคัดกรองเนื้อหาจะไม่ถูกรื้อ ทั้งนี้ มัสก์กล่าวว่า เขาได้รับคำร้องเรียนว่าเกิดการหยุดซื้อโฆษณาบนแพลตฟอร์ม Twitter และส่งผลให้รายได้ร่วงลง แม้ว่าจะยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ กับการคัดกรองเนื้อหา มัสก์ยังได้ทวีตว่า “เราได้ทำทุกอย่างเพื่อเอาใจเหล่านักเคลื่อนไหว”

.

3. มัสก์ต้องเผชิญกับแรงกดดันทางธุรกิจอย่างไรบ้าง

ความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดของมัสก์คือ ค่าใช้จ่ายด้านดอกเบี้ย ซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ราวๆ 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี และอาจจะมากกว่านั้นจากการที่ดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้น จึงเป็นที่มาว่าเหตุใดอีลอน มัสก์ จึงได้รีบเร่งดำเนินการสายฟ้าแล่บ ในการเปลี่ยนแปลงต่างๆ

.

แต่แนวคิดการจัดหารายได้ของเขาได้เพิ่มความเสี่ยงให้ผู้ใช้ที่ทวีตเป็นจำนวนมาก อาจถอยห่าง และเช่นเดียวกับโซเชียลเน็ตเวิร์กส่วนใหญ่ที่ต้องพึ่งพาผู้ใช้ในการโพสต์ข้อมูลเนื้อหา และพึ่งพาทำเงินจากการโฆษณา ทั้งนี้ “Blue Check” ของบริษัทซึ่งใช้ยืนยันความถูกต้องของผู้ใช้ เป็นกุญแจสำคัญในการดึงผู้คนมาใช้บริการ หากมีการเรียกเก็บ 8 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือนเพื่อรักษาสถานะนี้ไว้ ชื่อเสียงของ Twitter ก็จะหายไปอย่างรวดเร็ว

.

หนึ่งในผู้ร้องเรียนกับแผนการยืนยันตัวตนใหม่นี้ คือ สตีเฟน คิง นักเขียนนวนิยายขายดีชื่อดังระดับโลก มีผู้ติดตาม 6.9 ล้านคน โดยเขาปฏิเสธที่จะจ่ายค่ายืนยันตัวตนดังกล่าว และทวีตว่า บริษัทควรจะจ่ายเขา ทางด้านรายอื่นๆ ได้ตั้งข้อสังเกตุว่า ระบบการยืนยันตัวตนที่ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ และยุติธรรมนี้ ทำให้มั่นใจว่าบรรดาผู้มีชื่อเสียงจะไม่ถูกขโมยตัวตนบน Twitter ของเขา อย่างไรก็ตาม เกิดความติดขัดในแผนการยืนยันตัวตนของมัสก์ และเป็นอีกหนึ่งสัญญาณแรงกดดันที่เขาต้องเผชิญ

.

4. โซเชียลมีเดียอื่นๆ คิดค่าบริการอย่างไร

โดยรวมแล้ว การคิดค่าบริการทำได้ไม่ค่อยดี แม้ไม่มีความวุ่นวายเรื่องการเข้าซื้อ Twitter ก็ตาม บรรดาผู้ให้บริการแพลตฟอร์มโซเชียล มีเดียเหล่านั้น ก็กำลังเผชิญกับตลาดโฆษณาออนไลน์ที่ไม่ค่อยสู้ดีนัก ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อ บริษัท Meta Platforms Inc. บริษัท Snap Inc. และคู่แข่งรายอื่นๆ ทั้งนี้ Meta เจ้าของ Facebook และ Instagram ได้คาดการณ์การชะลอตัวลงในไตรมาสปัจจุบัน และทำให้ราคาหุ้นลดฮวบสู่ระดับแย่ที่สุดของปี

.

นักการตลาดได้ตัดค่าใช้จ่ายจากเศรษฐกิจที่อ่อนแอ เงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น และการชะลอตัวลงของการใช้จ่ายผู้บริโภค และนั่นส่งผลเสียต่ออุตสาหกรรมเทคโนโลยีทั้งอุตสาหกรรม ส่งผลให้บริษัทเหล่านั้น หยุดรับพนักงานหรือปลดพนักงาน และนี่ ยิ่งทำให้งานของมัสก์ที่ Twitter มีความท้าทายมากยิ่งขึ้น มัสก์กล่าวว่า Twitter กำลังสูญเสียเงิน 4 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อวัน ทำให้มีความจำเป็นต้องลดจำนวนพนักงานจำนวนมาก

.

หากเห็นว่า การดำเนินการทั้งหมดของมัสก์ มีประสิทธิภาพและกำลังลดค่าใช้จ่ายได้ และอยากลงทุนในหุ้น Twitter ก็เป็นที่น่าเสียดาย เนื่องจากว่า หุ้น Twitter ได้ออกจากตลาด และเป็นบริษัทเอกชนโดยสมบูรณ์แล้ว

.

หลายคนอาจจะมองว่า ผู้ใช้ Twitter คงไม่หนีไปไหนแน่ แต่ในช่วงที่มัสก์เข้าจัดการ Twitter ผู้ใช้จำนวนหนึ่งแห่กันไปสมัครโซเชียล เน็ตเวิร์คเล็กๆ ที่ชื่อว่า Mastodon

.

ชื่อนี้ ไม่ค่อยคุ้นหูนัก แต่จริงๆ แล้ว Mastodon ก่อกำเนิดมาตั้งแต่ปี 2559 และตอนนี้กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว จากการที่ผู้ใช้จาก Twitter กำลังหาแพลตฟอร์มที่สองที่พวกเขาสามารถโพสต์ความคิดเห็นต่างๆ หลังจากที่ Twitter ปลดพนักงานจำนวนมาก มีการเปลี่ยนแปลงผลิตภัณฑ์ อาจมีการดำเนินการเกี่ยวกับการคัดกรองเนื้อหา และคำพูดเชิงเกลียดชังเพิ่มขึ้นสูงมาก

.

อาจจะไม่ใช่ทางเลือกที่ชัดเจนที่จะเข้ามาแทนที่ Twitter ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มีที่มีอิทธิพลมาก มีการเคลื่อนไหวเร็ว เน้นการใช้ข้อความ การสนทนา และนำเสนอข่าวเป็นหลัก แต่ Mastodon ก็น่าจับตา จากบริการที่หน้าตาคล้ายๆกับ Twitter มีทั้งไทม์ไลน์ของการอัปเดทสั้นๆ เรียงตามเวลา ไม่ใช่ตามการจัดการของอัลกอริธึ่ม อีกทั้งยังให้ผู้ใช้เข้าร่วมจากเซิฟร์เวอร์ที่หลากหลายที่ดำเนินการโดยกลุ่มหรือบุคคลอื่นๆ ที่ไม่ใช่การเป็นศูนย์รวมบนแพลตฟอร์มเดียวควบคุมโดยบริษัทเดียว อย่าง Twitter Instagram หรือ Facebook

.

ที่สำคัญ ไม่มีค่าใช้จ่ายในการใช้ และไม่มีโฆษณา โดยแอปพลิเคชันนี้ พัฒนาในรูปแบบไม่แสวงหากำไร โดยผู้สร้าง Mastodon นั่นคือ ยูเจน ร็อคโค และได้รับการสนับสนุนเงินทุนด้วย Crowdfunding ซึ่งก็คือการระดมทุนจากบุคคลทั่วไปหรือนักลงทุนรายย่อย

.

ร็อคโค ได้ให้สัมภาษณ์ เมื่อวันพฤหัสบดี (3 พ.ย.) ว่า Mastodon มีผู้ใช้เพิ่ม 230,000 ราย นับตั้งแต่ 27 ต.ค. ช่วงที่มัสก์เข้าซื้อ Twitter และปัจจุบันนี้

มีผู้ใช้งานจริง 650,000 ราย ต่อเดือน ด้าน Twitter รายงานในเดือน ก.ค. ว่ามีผู้ใช้งานจริง 238 ล้านรายต่อวัน

.

ผู้สร้าง Mastodon กล่าวว่า แม้จะไม่ได้ใหญ่โตเท่า Twitter แต่ถือว่าเป็นจำนวนที่มากที่สุดที่เน็ตเวิร์คนี้เคยมีมา เดิมที ร็อคโค สร้าง Mastodon เป็นโครงการ มากกว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับผู้บริโภค และชื่อ ก็ได้รับแรงบันดาลใจจากวง Mastodon ซึ่งเป็นวง Heavy Metal

.

ด้านมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของมัสก์ ซึ่งเขาได้รับการจัดอันดับว่าเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลก มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิมากกว่าผู้ที่รวยที่สุดอันดับสองของโลกคือ เบอร์นาร์ด อาร์โนลด์ เจ้าของ LVMH ประมาณ 4 หมื่นล้านดอลลาร์

.

ทั้งนี้ ตามข้อมูลของ Forbes ที่รายงานออกมา ปัจจุบันมัสก์มีมูลค่าทรัพย์สุทธิราว 1.948 แสนล้านดอลลาร์ ส่วนใหญ่มาจากการถือหุ้นเกือบ 15% ของเขาใน Tesla บริษัทรถยนต์ไฟฟ้าที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก และบริษัทสูญเสียมูลค่าตลาดไปเกือบครึ่งของมูลค่าตลาดทั้งหมดราว 6.22 แสนล้านดอลลาร์ และมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของมัสก์ลดลง 7 หมื่นล้านดอลลาร์ นับตั้งแต่เขาเสนอซื้อ Twitter ในเดือนเมษายน

.

โดยสรุป แม้ อีลอน มัสก์ จะเป็นเจ้าของ Twitter แล้ว เรื่องก็ยังไม่จบแค่นั้น ราวกับเทพนิยาย ที่เจ้าชายแต่งงานกับเจ้าหญิงครองรักกันอย่างมีความสุขแบบ Happily Ever After แต่นี่ไม่ใช่เทพนิยาย ดีลจบ การแต่งงานจบ ชีวิตจริงยังต้องดำเนินต่อไป ความท้าทาย ความยากลำบาก ยังรออีกมาก คู่แข่งต่างจับจ้องจะแย่งชิงพื้นที่ตรงนี้ ผู้ใช้เริ่มหวั่นวิตก และพร้อมหาแหล่งที่สองที่พวกเขาจะโพสต์ หรือแสดงความคิดเห็นได้ หากมัสก์ดำเนินการแบบสายฟ้าแลบเช่นนี้ ความเชื่อมั่นรอบด้าน อาจจะไม่เหลืออยู่เลยก็เป็นได้

***********************************

 


PhotoStory