ห้องเม่าปีกเหล็ก

นักเศรษฐศาสตร์ชี้ผลกระทบตลาดการการเงินผันผวนของ โดนัลด์ ทรัมป์

โดย Fin-trading
เผยแพร่ :
66 views

ธนาคารยูโอบี ชี้ผลกระทบ "โดนัลด์ ทรัมป์" ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ จะส่งผลให้ตลาดการเงินมีความผันผวน คนหันไปสนใจสินทรัพย์ที่ปลอดภัย ทั่วโลกจับตาการการเจรจา

ทีพีพีเอ (Trans-Pacific Partnership Agreement) และอาร์ซีอีพี (Regional Comprehensive Economic Partnership)

นายอัลวิน ลิว นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสกลุ่มธนาคารยูโอบี กล่าวถึงความคิดเห็นกรณีนายโดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกันชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐ ในวันที่ 8 พ.ย. 2559 ที่ผ่านมา คาดว่าจะทำให้ตลาดเงินผันผวน อาจทำให้นักลงทุนเปลี่ยนความสนใจจากสินทรัพย์เสี่ยงไปให้กลุ่มสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยกว่า เช่น ตราสารหนี้รัฐบาลสหรัฐ ทองคำ เงินสกุลเยนและสวิสฟรังก์



ส่วนประเด็นที่ต้องจับตามองคือ การแต่งตั้งผู้คุมนโยบายด้านการทหาร การเงินการคลัง และสำหรับธนาคารกลางสหรัฐในปี 2561 และการยืดเวลาการขยายเพดานหนี้สาธารณะออกไปจากเดิมที่จะครบกำหนดในเดือนมีนาคม 2560

โดยแบ่งเป็น 2 กรณีได้แก่

1.หากพรรครีพับลิกันยังคงครองเสียงส่วนใหญ่ในทั้งในสภาสูงและสภาผู้แทนราษฎร ก็จะมีความเป็นไปได้มากที่กฎหมายขยายเพดานหนี้สาธาณะรวมถึงข้อเสนอของทรัมป์ในด้านภาษีและสาธารณูปโภคจะได้รับการอนุมัติ และเกิดผลทางบวกในการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะอันใกล้

2.หากพรรคเดโมแครตครองเสียงส่วนใหญ่ในวุฒิสภาและรีพับลิกันครองเสียงส่วนใหญ่ในสภาผู้แทนราษฎร ข้อเสนอของทรัมป์จะไม่ได้รับการอนุมัติ และน่าจะเกิดภาวะชะงักงันทางการเมืองขึ้น และจะลากยาวออกไปอีกระยะหนึ่ง

ในขณะที่ผลกระทบต่อตลาดการเงินและเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชีย คือจะเกิดผลลบต่อการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและภูมิภาคเอเชีย ส่วนสกุลเงินเอเชียโดยเฉพาะเงินหยวนของจีนจะถูกกดดันให้แข็งค่าขึ้น ในขณะที่ธนาคารกลางของเอเชียคงจะต้องคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำไปนานกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้



ด้าน นายจิมมี่ โค หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธนาคารยูโอบี กล่าว่าในกรณีที่ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งจะส่งผลลบต่อการค้าระหว่างอเมริกาและเอเชีย และสกุลเงินเอเชียจะพบกับแรงกดดันให้แข็งค่าขึ้น ซึ่งต่างจากกรณีที่นางฮิลลารี คลินตัน ชนะการเลือกตั้งจะเป็นการสานงานต่อจากรัฐบาลชุดก่อน ซึ่งทำให้เป็นการ "ธุรกิจตามปกติ"

อย่างไรก็ตาม คาดว่าทรัมป์จะดำเนินการตามที่ให้คำสัญญาในช่วงหาเสียงเลือกตั้งได้หลายสิ่ง เช่น การปฏิรูปทางการค้า โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับจีน (ด้วยการใช้อำนาจในการออกคำสั่งพิเศษโดยไม่ต้องผ่านสภา หรือ Executive Orders) ในขณะที่บางเรื่อง ทรัมป์ทำไม่ได้ เพราะ ติดกลไกการ "ตรวจสอบและถ่วงดุล" ในระบบการเมืองของอเมริกา

ส่วนคำแถลงการณ์ของทรัมป์ ที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อเอเชีย คือ นโยบาย “ทำให้อเมริกาแกร่งอีกครั้ง” ที่จะทำให้เกิดข้อขัดแย้งทางการค้ากับประเทศอื่นๆ ซึ่งเห็นได้ชัดว่า

การเจรจาความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก หรือ ทีพีพีเอ (Trans-Pacific Partnership Agreement) ย่อมมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ซึ่งสมาชิกชาติเอเชียที่จะได้รับผลประโยชน์สูงสุดจากความตกลงทีพีพีเอ คือ เวียดนาม มาเลเซีย และสิงคโปร์ นั่นเป็นเพราะประเทศเหล่านี้ส่งสินค้าออกโดยมีอัตราภาษีสูงที่กำหนดโดยสหรัฐอเมริกา



"หากความตกลงทีพีพีเอถูกปัดออกจากโต๊ะเจรจา กลุ่มประเทศที่อยู่ในภาวะเสี่ยงจะได้แก่ เม็กซิโก แคนาดา ญี่ปุ่น เวียดนาม เกาหลีใต้ มาเลเซีย และไทย เพราะประเทศเหล่านี้ทำการค้ากับอเมริกาในปริมาณมาก และเศรษฐกิจมีการพึ่งพาภาคการค้าในระดับสูง" นายจิมมี่กล่าว

ทั้งนี้หากสหรัฐฯไม่ร่วมเป็นพันธมิตรในทีพีพีเอ (ที่มีอยู่ 12 ประเทศ) ก็ทำให้ประเทศสมาชิกมี แนวโน้มจะหันไปให้ความสำคัญกับความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรืออาร์ซีอีพี (Regional Comprehensive Economic Partnership) แทน ซึ่งเป็นข้อตกลงทางการค้าที่เน้นภูมิภาคเอเชียมากกว่า

และกำลังมีการเจรจาระหว่างตัวแทน 16 ประเทศ รวมทั้งอาเซียน ญี่ปุ่น จีน อินเดีย เกาหลีใต้ ออสเตเลีย และนิวซีแลนด์ซึ่งหากความตกลงอาร์ซีอีพีเป็นจริงประเทศที่ได้รับประโยชน์ได้แก่ เวียดนาม มาเลเซีย เกาหลีใต้ อินเดีย จีน และฮ่องกง

ในส่วนของเศรษฐกิจไทย จะได้รับผลกระทบในวงจำกัด เพราะไทยมีกลยุทธ์ที่เน้นความหลากหลายทางการค้าและนักลงทุนจากต่างประเทศรายใหญ่ในไทยที่ไม่ใช่แค่อเมริกาเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น จีน และประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วย อย่างไรก็ตามคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตต่ำกว่าศักยภาพในระยะกลาง

 

ขอบคุณแหล่งข้อมูล : ปราชาติธุรกิจ

http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1478684898


Fin-trading