ห้องเม่าปีกเหล็ก

ข้าวคาร์บอนต่ำของไทยพร้อมแข่งกับเวียดนามแค่ไหน?

โดย littleboy
เผยแพร่ :
22 views

ข้าวคาร์บอนต่ำของไทยพร้อมแข่งกับเวียดนามแค่ไหน?

 

 

 

  • กระแสรักษ์โลก เกณฑ์การค้าด้านสิ่งแวดล้อมโลกที่เข้มข้น และเทรนด์ผู้บริโภคสีเขียว เร่งให้ไทยต้องปรับตัวสู่เกษตรคาร์บอนต่ำ โดยเฉพาะการผลิตข้าวที่ปล่อยก๊าซมีเทนสูง
  • ศักยภาพการผลิตข้าวคาร์บอนต่ำของไทยอยู่ที่ 4 ล้านตัน ขณะที่เวียดนามอยู่ที่ 6.3 ล้านตัน หรือแซงไทยไปราว 1.6 เท่า
  • หากสหภาพยุโรปมีการบังคับใช้เกณฑ์การค้าข้าวคาร์บอนต่ำ ไทยจะสามารถส่งออกข้าวคาร์บอนต่ำไปได้จากผลผลิตที่มีเพียงพอ และคงช่วยประคองปริมาณส่งออกไว้ได้
  •  

ทำไมไทยต้องมุ่งหน้าสู่ “เกษตรคาร์บอนต่ำ”?


        ภาคเกษตรไทยจะถูกบีบมากขึ้นจากเทรนด์โลกที่ส่งสัญญาณเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หากไทยยังไม่ยกระดับไปสู่เกษตรคาร์บอนต่ำ ด้วยแรงกดดันของโลกใน 2 ด้านหลักคือ ด้านอุปทาน จากการที่หลายประเทศได้ตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่รวมถึงภาคเกษตร และเกณฑ์การค้าด้านสิ่งแวดล้อมโลกที่เข้มข้นโดยเฉพาะในสหภาพยุโรป (EU) ที่ระยะข้างหน้าอาจมีการนับรวมภาคเกษตรไว้ในระบบการซื้อขายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของ EU จนนำไปสู่กติกาการค้าสินค้าเกษตรกับ EU ที่เข้มงวดขึ้น
        ส่วนด้านอุปสงค์ ด้วยกระแสผู้บริโภคสีเขียวใน EU ที่มาแรงพร้อมกับการตระหนักถึงการมีฉลากสะอาดรับรอง ปัจจัยเหล่านี้จะกดดันให้ไทยซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรต้องเร่งปรับตัวสู่เกษตรคาร์บอนต่ำ เนื่องจากไทยก็มีการส่งออกสินค้าเกษตรไป EU ด้วย (รูปที่ 1)

ข้าวไทยไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมยังไง และข้าวไทยอยู่ตรงไหนเทียบกับคู่แข่ง?


        ภาคเกษตรปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงอันดับต้นๆ ส่วนใหญ่มาจากการปลูกข้าวที่มีน้ำขัง ซึ่งปล่อยก๊าซมีเทนสูงที่สุด โดยภาคเกษตรไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเป็นอันดับ 2 ราว 16% ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทุกสาขา ซึ่งมาจากการปลูกข้าวมากที่สุดถึง 51% ของกิจกรรมในภาคเกษตรทั้งหมด
        ทั้งนี้ การปลูกข้าวจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมามากที่สุดจากปัญหาการทำนาแบบดั้งเดิมที่มีน้ำขังในนาข้าว คิดเป็น 80% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดในการปลูกข้าว ซึ่งจะปล่อยก๊าซมีเทนสูงสุดกว่า 78% (รูปที่ 2)
        ข้าวไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงกว่าเวียดนาม ไทยจึงต้องมุ่งผลิตข้าวคาร์บอนต่ำ เพื่อรักษาการแข่งขันในตลาดสหภาพยุโรประยะข้างหน้า โดยการผลิตข้าวไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเป็นอันดับ 2 จากผู้ผลิตหลักของโลก ขณะที่คู่แข่งสำคัญอย่างเวียดนามปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าอยู่ที่อันดับ 7 (รูปที่ 3) ประกอบกับไทยส่งออกข้าวไป EU ราว 3% ของมูลค่าส่งออกข้าวทั้งหมด แม้จะเป็นสัดส่วนไม่มากและ EU ยังไม่ได้บังคับใช้เกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อมเป็นกติกาการค้าข้าวในปัจจุบัน แต่ไปข้างหน้า EU ก็อาจบังคับใช้เกณฑ์นี้ได้
นอกจากนี้ การที่เวียดนามเป็นคู่แข่งในตลาด EU ซึ่งเดิมข้าวเวียดนามก็ได้เปรียบไทยอยู่แล้ว ทั้งต้นทุนการผลิต ผลผลิตต่อไร่ ราคาขาย และพื้นที่ปลูกที่อยู่ในเขตชลประทานกว่า 70% อีกทั้งเวียดนามยังจริงจังในการผลิตข้าวคาร์บอนต่ำและมีเป้าหมายที่ชัดเจน ดังนั้น คงถึงเวลาแล้วที่ไทยจะต้องเร่งยกระดับไปสู่การผลิตข้าวคาร์บอนต่ำ  เพื่อลดผลกระทบจากการแข่งขันที่รุนแรงในระยะข้างหน้า   

เทียบฟอร์มข้าวคาร์บอนต่ำของไทยทำได้แค่ไหนเทียบกับเวียดนาม?

        ศักยภาพการผลิตข้าวคาร์บอนต่ำของไทยยังตามหลังเวียดนาม โดยไทยเริ่มต้นด้วยพื้นที่ปลูกที่น้อยกว่าเวียดนามไม่มากนักราว 0.55 ล้านไร่ แต่ด้วยผลผลิตต่อไร่ที่ต่ำของไทยและการที่ไทยยังไม่มีเป้าหมายชัดเจนมากนักในเรื่องข้าวคาร์บอนต่ำ ทำให้แม้ไทยจะพยายามขยายพื้นที่ปลูกไปในเขตชลประทานที่เหมาะสมมากขึ้น แต่ก็ยังทำให้ศักยภาพการผลิตข้าวคาร์บอนต่ำของไทยทำได้เพียง 4 ล้านตัน
        ขณะที่เวียดนามมีเป้าหมายชัดเจนในปี 2030 ที่จะมีพื้นที่ปลูกข้าวคาร์บอนต่ำให้ได้ 6.25 ล้านไร่ จากการสนับสนุนของภาครัฐอย่างจริงจัง ผนวกกับผลผลิตต่อไร่ที่สูงกว่าไทยเกือบ 2 เท่า ทำให้เวียดนามมีศักยภาพการผลิตข้าวคาร์บอนต่ำได้มากกว่าไทยถึง 1.6 เท่า หรืออยู่ที่ 6.3 ล้านตัน (รูปที่ 4)  
        อย่างไรก็ดี แม้ข้าวคาร์บอนต่ำจะเป็นเทรนด์โลกระยะยาว แต่ไทยยังคงทำได้ไม่ดี ด้วยข้อจำกัดบางประการ โดยเฉพาะเรื่องระบบชลประทานที่ไทยมีพื้นที่ปลูกข้าวในเขตชลประทานเพียง 20% นอกจากนี้ เงินลงทุนเริ่มต้นที่สูงเพื่อปรับไปเป็นแปลงนาข้าวคาร์บอนต่ำ เช่น การปรับหน้าดิน การจัดการระบบน้ำ เป็นต้น ประกอบกับเกษตรกรส่วนใหญ่เป็นเพียงรายย่อยที่ไม่มีเงินทุนเพียงพอ ทำให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่การผลิตข้าวคาร์บอนต่ำของไทยจะต้องใช้เวลาและคงไม่ง่ายนัก

การส่งออกข้าวคาร์บอนต่ำของไทยไป EU จะเป็นอย่างไร?


        ไทยจะสามารถประคองการส่งออกข้าวไป EU ได้ระยะข้างหน้าจากผลผลิตข้าวคาร์บอนต่ำที่มีเพียงพอ แต่ต้องเผชิญการแข่งขันด้านราคากับเวียดนาม โดยเดิมข้าวไทยก็แข่งขันกับเวียดนามยากอยู่แล้ว สะท้อนจากปี 2019-2023 ปริมาณส่งออกข้าวไทยไป EU ลดลงเหลือ 0.24 ล้านตันจากปี 2014-2018 ที่ 0.27 ล้านตัน ขณะที่เวียดนามเพิ่มขึ้นเป็น 0.074 ล้านตันจาก 0.067 ล้านตัน ตามลำดับ
        หากยิ่งไปข้างหน้า EU มีการบังคับใช้เกณฑ์ค้าข้าวคาร์บอนต่ำ ซึ่งไทยก็คงประคองปริมาณส่งออกไปได้จากผลผลิตข้าวคาร์บอนต่ำที่มีเพียงพอ แต่ไทยจะต้องแข่งขันด้านราคากับเวียดนามที่ได้เปรียบไทย โดยปี 2019-2024 ราคาข้าวหอมมะลิไทยเฉลี่ยที่ 964 ดอลลาร์ฯต่อตัน ขณะที่ข้าวหอมเวียดนามเฉลี่ยที่ 521 ดอลลาร์ฯต่อตัน จะส่งผลกระทบต่อมูลค่าส่งออกข้าวไทยไป EU ให้ลดลงได้

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

 

ที่มา  https://www.kasikornresearch.com/

 


littleboy