RATCH คาดผลงานครึ่งหลังโตต่อ
เเย้มเจรจาซื้อกิจการโรงไฟฟ้าราว 5 ราย
เตรียมงบ 6 พันลบ. เดินหน้าลงทุนธุรกิจใหม่

.
RATCH มองผลงานครึ่งหลังปี 2566 ดีกว่าครึ่งปีแรก หลังเริ่มบันทึกรายได้จากโครงการโรงไฟฟ้าไพตันขนาด 742 เมกะวัตต์ COD โรงไฟฟ้าเพิ่มอีก 29.7 เมกะวัตต์ ทุ่มงบลงทุนปีนี้ที่ 3.5 หมื่นล้านบาท ขยายพอร์ตทั้งธุรกิจโรงไฟฟ้าและไม่ใช่โรงไฟฟ้า แย้มเจรจาดีลซื้อกิจการโรงไฟฟ้าอยู่ 5 ราย กำลังการผลิตรวมกว่า 300-350 เมกะวัตต์
.
นางสาวชูศรี เกียรติขจรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานครึ่งปีหลังปี 2566 จะดีกว่าครึ่งปีแรก ที่มีรายได้อยู่ที่ 27,456 ล้านบาทและ กำไรสุทธิที่ 3,572 ล้านบาท เนื่องจากจะเริ่มมีการบันทึกรายได้จากโครงการโรงไฟฟ้าไพตัน ในอินโดนีเซีย กำลังการผลิต 742 เมกะวัตต์ และประกอบกับบริษัทจะมีการรับรู้รายได้เพิ่มเติมจากการเดินเครื่องเชิงพาณิชย์(COD)โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม อีโค่วิน ที่ประเวียดนาม กำลังการผลิต 29.7 เมกะวัตต์
.
พร้อมกันนี้ผลการดำเนินงานในช่วง 6 เดือนหลัง บริษัทยัคงได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงการที่มีอยู่ในพอร์ตของ NREI และ RAC รวม 9 โครงการ กำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้น รวม 1,116.98 เมกะวัตต์ โดย 4 โครงการ ตั้งอยู่ในฟิลิปปินส์ ประกอบด้วยโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ 2 แห่ง และโครงการพลังงานลมบนชายฝั่ง และในทะเล อีก 2 โครงการ รวมกำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นประมาณ 550 เมกะวัตต์
.
อีกทั้งยังมีโครงการพลังงานน้ำและลมในเวียดนามอีก 2 โครงการ กำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้น รวม 65.15 เมกะวัตต์ และอีก 3 โครงการในออสเตรเลีย ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าพลังงานลม โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ และโครงการระบบกักเก็บพลังงานแบบแบตเตอรี่ กำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นรวม 502 เมกะวัตต์ ซึ่งโครงการทั้งหมดจะทยอยดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ตั้งแต่ปี 2567 - 2571
.
นอกจากนี้ บริษัทยังได้แสวงหาโอกาสต่อยอดการลงทุนและประสานความร่วมมือกับพันธมิตรธุรกิจชั้นนำในการขยายฐานธุรกิจในตลาดเดิม ได้แก่ ไทย สปป.ลาว อินโดนีเซีย เวียดนาม และออสเตรเลีย ในธุรกิจพลังงานไฟฟ้าในตลาดประเทศพัฒนาแล้ว ทั้งโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน โครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติที่มีศักยภาพสามารถเปลี่ยนเป็นเชื้อเพลิงไฮโดรเจนได้
.
ตลอดจนโครงการผลิตเชื้อเพลิงไฮโดรเจนในออสเตรเลีย และโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน ในรูปแบบ Greenfields หรือ Brownfields รวมทั้งการเข้าซื้อกิจการที่ปัจจุบันบริษัทได้อยู่ระหว่างเจรจาอยู่ 5 ราย ขนาดกำลังการผลิตรวม 300 - 350 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดหวังว่าจะเห็นความชัดเจนได้ในเร็วๆนี้
.
สำหรับงบลงทุนในปี 2566 บริษัทได้เตรียมงบไว้ที่ 3.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นการลงทุนในธุรกิจพลังงานทั้งในรูปแบบของ Greenfields หรือ Brownfields และการเข้าซื้อกิจการ ราว 2.9 หมื่นล้านบาท เพื่อผลักดันกำลังการผลิตของบริษัทตามสัดส่วนการลงทุนได้เพิ่มขึ้นเป็น 10,807.35 เมกะวัตต์ ภายในปี 2576
.
ในส่วนที่เหลือราว 6 พันล้านบาท จะใช้รองรับการลงทุนในธุรกิจที่ไม่ใช่พลังงาน ซึ่งบริษัทมีความสนใจในธุรกิจสมาร์ทพาวเวอร์, ธุรกิจบริการทางการเเพทย์และดูแลสุขภาพที่จะไปกับพันธมิตรหรือบริษัท พริ้นซิเพิล แคปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ PRINC รวมไปถึงธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับยานยนต์ไฟฟ้า(Ev car) ซึ่งบริษัทได้วางเป้าเพิ่มสัดส่วน EBITDA ของธุรกิจที่ไม่ใช่พลังงานให้เป็น 10% ภายใน 5 ปีหน้าจากปัจจุบันอยู่ที่ 5%
.
ด้านการจัดการลดก๊าซเรือนกระจก ในปีนี้ บริษัทได้กำหนดแผนกลยุทธ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมี 3 แนวทาง คือ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าเพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การขยายการลงทุนในธุรกิจสีเขียว และการชดเชยและซื้อ-ขายคาร์บอน ซึ่งแต่ละแนวทางได้กำหนดเป้าหมายระยะกลางในปี 2573 ไว้อย่างชัดเจน
.
ประกอบด้วย การลดปริมาณความเข้มข้นของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อหน่วยไฟฟ้า (GHG Intensity) ให้ได้ 15% เทียบกับปีฐาน 2566 การเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานทดแทนให้ถึง 30% และเป้าหมายการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกจากป่าไม้ (คาร์บอนเครดิต) ให้ได้ 1% ของปริมาณการปล่อยทั้งหมด โดยบริษัทได้จัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวแล้ว