‘บ้านพักคนชรา’ จะขาดแคลนในอีก 5 ปี ถอดบทเรียน ตั้งรับ ‘สังคมผู้สูงอายุ’
- อีก 5 ปีข้างหน้า ประชากรสหรัฐที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไปคาดว่าจะเพิ่มขึ้นกว่า 4 ล้านคน เป็น 18.8 ล้านคน
- ความต้องการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้น จนเกิดภาวะ“ขาดแคลน”
- 'ญี่ปุ่น' ได้จัดตั้ง 'ไคโกะโฮเคน' ระบบประกันการดูแลผู้สูงอายุ ส่วน 'จีน' มีสถานดูแลผู้สูงอายุถึง 404,000 แห่งทั่วประเทศในปี 67
ในอีกไม่ถึงปี เจนเนอเรชัน “เบบี้บูมเมอร์” รุ่นแรกในสหรัฐจะเข้าสู่วัย 80 ปี และภายในปี พ.ศ. 2573 หรืออีก 5 ปีข้างหน้า ประชากรสหรัฐที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไปคาดว่าจะเพิ่มขึ้นกว่า 4 ล้านคน เป็น 18.8 ล้านคน

สิ่งนี้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก เพราะโลกไม่เคยเจอกับเหตุการณ์ “สังคมผู้สูงอายุ” มาก่อน จากข้อมูลในอดีตชี้ให้เห็นว่า ผู้สูงอายุจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่สามารถใช้ชีวิตอย่างสะดวกสบายหรือปลอดภัยในบ้านของตนเองได้ และประสบปัญหาในการหา “สถานดูแลผู้สูงอายุ”
‘บ้านพักคนชรา’ กำลังจะขาดแคลน ในอีก 5 ปีจ้างหน้า
ในอดีต การลงทุนในที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุเคยเป็นเรื่องที่นักลงทุนอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์มองว่าเป็นความเสี่ยงและไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าที่ควร
หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์นัล (WSJ) รายงานสถานการณ์ปัจจุบันกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ด้วยจำนวนประชากรมหาศาลของกลุ่มเบบี้บูมเมอร์ที่กำลังก้าวเข้าสู่วัยสูงอายุ ทำให้ความต้องการที่อยู่อาศัยที่ตอบโจทย์ผู้สูงอายุเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์สำหรับผู้สูงอายุกลายเป็นโอกาสทองสำหรับนักลงทุนที่มองเห็นศักยภาพในการเติบโตในอนาคต
ในอีก 5 ปีข้างหน้า ความต้องการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก จนเกิดภาวะ“ขาดแคลน”
จากข้อมูลของ NIC MAP พบว่าภายในปี 2030 จะต้องมีที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอีกกว่า 560,000 หน่วย เพื่อตอบสนองความต้องการทั้งหมด แต่ด้วยอัตราการพัฒนาในปัจจุบัน คาดว่าจะสามารถเพิ่มได้เพียง 191,000 หน่วยเท่านั้น ซึ่งหมายความว่าเรากำลังเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุในอนาคตอันใกล้

อาริค มอร์ตัน ผู้บริหารของ NIC MAP กล่าว "เรากำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในแง่ของโครงสร้างประชากร"
ดังนั้น เพื่อให้ทันต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้น อุตสาหกรรมที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุจะต้องเร่งการก่อสร้างที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าของจำนวนที่เคยสร้างในแต่ละปี แต่ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นและต้นทุนการก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้พัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุส่วนใหญ่จึงชะลอการก่อสร้างโครงการใหม่
สิ่งนี้ส่งผลให้ผู้สูงอายุจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ที่มีรายได้จำกัด อาจต้องเผชิญกับค่าใช้จ่ายที่พักอาศัยในบ้านพักคนชราที่สูงเกินไป หรือมีตัวเลือกที่พักอาศัยในพื้นที่ที่ต้องการน้อยลง
Green Street รายงานว่า ผู้สูงอายุประมาณครึ่งหนึ่งไม่สามารถจ่ายค่าที่พักในบ้านพักผู้สูงอายุแบบส่วนตัวได้ เนื่องจากค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง เพราะทั่วไปแล้วผู้พักอาศัยต้องจ่ายเอง และไม่สามารถเบิกจากบุคคลที่สามได้ โดยค่าเช่ารายเดือนโดยเฉลี่ยอยู่ที่มากกว่า 4,100 ดอลลาร์สำหรับห้องพักอิสระ หรือราว 1.39 แสนบาท และ 6,400 ดอลลาร์ หรือราว 2.1 แสนบาท สำหรับห้องพักที่มีผู้ดูแล ซึ่งรวมบริการดูแลเพิ่มเติม
ถอดบทเรียน ตั้งรับ Aging Society
ญี่ปุ่น
เว็บไซต์วอยซ์ออฟอินโดนีเซียรายงานสถานการณ์ที่ "ญี่ปุ่น" กำลังเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่ในการดูแลผู้สูงอายุจากประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้จำเป็นต้องมีระบบ "ไคโกะ" เพื่อให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆ ของชีวิตผู้สูงอายุ ทั้งด้านการแพทย์ การฟื้นฟู และกิจกรรมในชีวิตประจำวัน
คำว่า "ไคโกะ" ในภาษาญี่ปุ่นแปลว่า "การดูแล" หรือ "การรักษา" ซึ่งหมายถึงการดูแลผู้สูงอายุโดยเฉพาะ การดูแลนี้ครอบคลุมหลายด้าน ตั้งแต่การช่วยเหลือในกิจกรรมประจำวัน เช่น การรับประทานอาหาร การอาบน้ำ และการแต่งตัว ไปจนถึงบริการทางการแพทย์และการฟื้นฟู
รัฐบาลญี่ปุ่นได้จัดตั้งระบบประกันการดูแลผู้สูงอายุที่เรียกว่า "ไคโกะโฮเคน" ซึ่งเริ่มใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 ระบบนี้เปิดโอกาสให้พลเมืองญี่ปุ่นที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป สามารถจ่ายเบี้ยประกันไคโกะ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับความต้องการในการดูแลเมื่อเข้าสู่วัยชรา
เมื่อความต้องการผู้ดูแลสูงอายุเพิ่มขึ้น ญี่ปุ่นจึงเปิดโอกาสให้แรงงานต่างชาติ รวมถึงจากอินโดนีเซีย ทำงานในภาคส่วนนี้ผ่านโครงการฝึกงานและวีซ่าไคโกะพิเศษ
แม้ว่าระบบไคโกะในญี่ปุ่นจะก้าวหน้ามากแล้ว แต่ก็ยังมีปัญหาท้าทายหลายประการที่ต้องเผชิญ เช่น การขาดแคลนแรงงานในภาคส่วนนี้ ดังนั้น รัฐบาลญี่ปุ่นจึงยังคงหาทางแก้ไขต่อไปโดยเพิ่มจำนวนแรงงานต่างชาติ พัฒนาเทคโนโลยีการดูแลผู้ป่วยโดยใช้ AI และหุ่นยนต์ และปรับปรุงสวัสดิการของผู้ดูแลผู้ป่วยเพื่อให้อาชีพนี้มีความน่าดึงดูดใจมากขึ้น
- จีน
จีนเองก็กำลังเจอกับความท้าทายจากประชากรสูงอายุ ซึ่งซินหัวรายงานว่าปัจจุบันคิดเป็นมากกว่าหนึ่งในห้าของประชากรทั้งหมด
กระทรวงกิจการพลเรือนของจีนประกาศแนวปฏิบัติเพื่อปฏิรูปบริการดูแลผู้สูงอายุ โดยรองรัฐมนตรี ถัง เฉิงเป่ย เน้นย้ำถึงความจำเป็นของแนวทางแบบครอบคลุมที่เชื่อมโยงระบบประกันสังคมและสุขภาพ หนึ่งในการปฏิรูปที่สำคัญคือการพัฒนาระบบดูแลผู้สูงอายุแบบ 3 ระดับ ตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ตำบล ไปจนถึงเทศมณฑล และการประสานงานระหว่างศูนย์ดูแลผู้สูงอายุและผู้ดูแลที่บ้านและในชุมชน เพื่อให้การปฏิรูปมีประสิทธิภาพสูงสุดภายในสิ้นทศวรรษหน้า

จำนวนบ้านพักคนชราและสถาบันสวัสดิการสังคมสำหรับผู้สูงอายุในจีน ตั้งแต่ปี 2014 ถึงปี 2023
ในปีที่แล้ว รัฐบาลกลางจีนได้จัดสรรงบประมาณ 300 ล้านหยวน (ประมาณ 1.3 ล้านล้านบาท) เพื่อสนับสนุนโครงการช่วยเหลือด้านอาหารสำหรับผู้สูงอายุทั่วประเทศ นอกจากนี้ ยังมีโครงการริเริ่มเพิ่มเติมที่ช่วยจัดหาเตียงสำหรับดูแลผู้สูงอายุที่บ้านได้ถึง 358,000 เตียง การดูแลผู้สูงอายุในสถานดูแลก็มีความก้าวหน้าอย่างมากเช่นกัน โดยในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2567 ประเทศจีนมีสถานดูแลผู้สูงอายุและสถาบันที่เกี่ยวข้องถึง 404,000 แห่ง
ไทยกำลังเข้าสู่ ‘สังคมสูงวัยระดับสุดยอด’
กระทรวงสาธารณสุข เผยในปี 2568 ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มตัว มีผู้สูงอายุ 14.4 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นเกิน 20% ของประชากรทั้งหมด แฃะประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป 14% ของประชากรทั้งหมด อีกภายในไม่กี่ปีเราจะเข้าสู่ “สังคมสูงวัยระดับสุดยอด” คือมีประชากรอายุ 60 ปีเกินกว่า 28%
ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้อง เตรียมความพร้อมในทุกด้านตั้งแต่วันนี้ ทั้งในด้านสังคมและเศรษฐกิจ
ผู้สูงอายุ ‘กำลังซื้อสูง’ พร้อมจ่ายในยุคเงินเฟ้อ
ตอนนี้ ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์หลายรายในสหรัฐกำลังมุ่งเป้าไปที่การสร้างโครงการที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุระดับหรู โดยเน้นการออกแบบที่สวยงาม สิ่งอำนวยความสะดวกระดับพรีเมียม เช่น ร้านอาหารหรู สปา และกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆ
ตัวอย่างเช่น บริษัท Harrison Street และพันธมิตร กำลังจะสร้างโครงการที่พักผู้สูงอายุ 172 ยูนิตใน Rancho Santa Fe รัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งจะมีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย เช่น สนามกอล์ฟส่วนตัว ห้องเก็บไวน์ สตูดิโอศิลปะ โรงภาพยนตร์ และห้องกีฬา
ข้อมูลเผยว่า ผู้สูงอายุกว่า 40% สามารถจ่ายค่าที่พักได้ ซึ่งเพิ่มขึ้นมากกว่า 10% จากปี 2017 แสดงให้เห็นว่ากลุ่มเบบี้บูมเมอร์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีฐานะทางการเงินดีที่สุดในประเทศนั้นมีกำลังซื้อที่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายเหล่านี้ และมีสัดส่วนที่สามารถจ่ายได้เพิ่มขึ้นจากเดิม
ที่มา https://www.bangkokbiznews.com/world/1167984