50 ปี ไทย - จีน ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่ไม่ได้เพิ่งมีมาแค่ 50 ปี
ปีนี้นับว่าเป็นอีกหนึ่งปีครบรอบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศระหว่างเทศกับพระเทศต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นปีครบรอบ 75 ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ไทยกัมพูชา ไปจนถึงปีครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทยจีน เป็นต้น แน่นอนว่า “จีน” เป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนานนับพันปี ย่อมทำให้เห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนนั้นน่าจะเป็นอะไรที่ยาวนานมากกว่าแค่ 50 ปี ซึ่งเป็นความสัมพันธ์กับจีนที่หมายถึง “สาธารณรัฐประชาชนจีน”
แต่ความเป็นจีนไม่ได้เพิ่งมีแค่ในยุคสาธารณรัฐเท่านั้น และคนไทยเองก็ติดต่อกับรัฐจีนมาอย่างยาวนาน พร้อมกับสร้างความสัมพันธ์ในหลากหลายรูปแบบ ทั้งในแง่ของผู้คน สังคม ความเชื่อ การเมือง ไปจนถึงเศรษฐกิจ ซึ่งใน All About History สัปดาห์นี้ เราจะขอพาย้อนทบทวนความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนในหลากหลายแง่มุม ตั้งแต่ในอดีตอันไกลโพ้น จนถึงวันสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อ 50 ปีก่อนกัน
-----

จากจีนถึงดินแดนสุวรรณภูมิ
จีนเป็นดินแดนที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน นานก่อนที่จะมีรัฐอย่างสุโขทัยที่คนไทยเรายึดกันให้เป็นอาณาจักรแรก ๆ ที่มีชาวไทยเป็นผู้ปกครอง ซึ่งความเก่าแก่ของการมีรัฐจีนมานานย่อมทำให้เกิดการค้าขายกันระหว่างรัฐจีนกับรัฐน้อยใหญ่ในสุวรรณภูมิผ่านทางทะเลเป็นส่วนใหญ่เนื่องจากการสัญจรทางบกจากจีนมาสวรรณภูมินั้นเป็นหนทางที่ยากลำบาก
ซึ่งการติดต่อกันระหว่างจีนกับรัฐน้อยใหญ่เหล่านั้นก็ได้ไปปรากฎชื่ออยู่ที่หลักฐานทางประวัติศาสตร์ของชาวจีนที่เป็นตัวเขียน อย่างในบันทึกของพระถังซัมจั๋ง ไม่ว่าจะเป็นชื่ออี้เจี้ยน้าโป้ล้อ (อิศานบุระ) โถโลโปตี (ทวารวดี) ชิดหลีซาตําล้อ (ศรีเกษตร) เป็นต้น
จากยุครัฐโบราณ เข้าสู่ยุคที่กำเนิดอาณาจักรของกลุ่มผู้พูดภาษาไทยอย่าง สุโขทัยขึ้นมาและตามด้วยอยุธยาในอีก 100 ปีให้หลัง ก็มีประวัติบันทึกการติดต่อระหว่างรัฐไทยกับรัฐจีนดังที่ปรากฎในพงศาวดารราชวงศ์หยวน หรือก็คือราชวงศ์ฝ่ายมองโกลที่มีอำนาจปกครองในจีน มีกุบไลข่านเป็นปฐมจักรพรรดิ ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่รัฐสุโขทัยเพิ่งก่อตั้งขึ้นมาด้วย
โดยเนื้อความในพงศาวดารระบุไว้คราว ๆ ว่าในปีที่ 19 ในรัชกาลจื้อหยวน เดือนหก วันจีไฮ่ (ราวปีพุทธศักราช 1825) มีรับสั่งให้เหอจื่อจื้อซึ่งเป็นนายพล เป็นทูตไปยังเสียน ซึ่งก็มีระบุอีกว่าคณะทูตนี้เดินทางมาไม่ถึงเพราะถูกฝ่ายจามปาจับตัวไว้และประหารชีวิตทั้งคณะ
การเริ่มติดต่อกับรัฐไทยก่อนของจีนไม่ประสบความสำเร็จในครั้งแรก อย่างไรก็ดีในช่วงไม่กี่ปีหลังจากนั้น ก็ปรากฎหลักฐานของการส่งคณะทูตจากสุโขทัยในสมัยพ่อขุนรามคำแหงในปี 1835 โดยเป็นการทูตเพื่อผลประโยชน์ทางการค้ารวมไปถึงทางการเมือง โดยตั้งแต่ปี 1835 เป็นต้นมา ไทยก็มีสถานะเป็นหนึ่งในรัฐที่ได้รับการคุ้มครองจากราชวงศ์จีน และจำต้องส่งของกำนัลหรือเครื่องบรรณาการที่เรียกว่า “จิ้มก้อง” ไปให้ด้วย
-----
จิ้มก้อง ของกำนัลเพื่อผลประโยชน์
จิ้มก้องน่าจะเป็นอีกหนึ่งคำที่คุ้นหูคนไทยเป็นอย่างดีเมื่อพูดถึงความสัมพันธ์ไทยจีนในยุคแรกเริ่ม การส่งจิ้มก้องอาจจะถูกมองว่าเป็นเหมือนกับการส่งบรรณาการที่ไม่ต่างอะไรกับการเป็นประเทศราชหรือเป็นเมืองขึ้น แต่ทั้งนี้รัฐบรรณาการ กับเมืองขึ้นเป็นอะไรที่ต่างกันพอสมควร
การส่งบรรณาการถูกมองว่าเป็นการยอมรับอำนาจ และส่งไปเป็นเหมือนกับการนอบน้อมต่ออำนาจของผู้เป็นใหญ่ แต่ทั้งนี้รัฐบรรณาการก็มีอิสระในการปกครองตนเองอยู่เหมือนกัน ไม่ได้ถูกจีนเข้ามาแทรกแซงภายใน ทำให้สถานะการเป็นรัฐบรรณาการนั้นเป็นเหมือนกับเกราะป้องกันเพียงชั้นหนึ่งที่จะการันตีความสงบในภูมิภาค แต่ในขณะเดียวก็กันมีผลประโยช์อื่นที่แฝงไว้ด้วย นั่นก็คือในเรื่องของประโยชน์ทางการค้า
ในเอกสารของฝ่ายจีนมีระบุว่าสุโขทัยส่งบรรณาการให้แก่ราชวงศ์หยวนราว ๆ 14 ครั้ง ซึ่งก็ทำให้เกิดความสัมพันธ์อันดีและเป็นประโยชน์ต่อการค้า และการถ่ายโอนความรู้จากจีนมายังสุโขทัย ซึ่งความรู้จากจีนนี้ก็มีส่วนสำคัญในการพัฒนาเครื่องสังคโลกของสุโขทัยให้กลายเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของรัฐได้
ราว 100 ปี หลังการตั้งสุโขทัย มหาอำนาจใหม่ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างอยุธยาก็ได้ก้าวขึ้นมามีอำนาจท่ามกลางความเสื่อมถอยของอาณาจักรสุโขทัย อยุธยา ในขณะเดียวกันหลังการเกิดขึ้นของอยุธยา จีนเองก็มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่คือการเกิดขึ้นมาของราชวงศ์หมิงที่เข้าปกครองแทนมองโกลเดิม
ซึ่งการเปลี่ยนราชวงศ์ในแผ่นดินจีนก็นำมาสู่การส่งข่าวลงมายังดินแดนสุวรรณภูมิดังที่ปรากฎเนื้อหาในพงศาวดารราชวงศ์หมิงว่า เมื่อปีที่ 3 ในรัชกาลหงหวู่ เดือนที่ 8 มีรับสั่งให้ลู่จงจุ้นกับพวกอัญเชิญพระบรมราชโองการไปยังประเทศเสียนโล้ ซึ่งในปีถัดมาพระบรมราชาธิราชที่ 1 แห่งกรุงศรีอยุทธยาก็ได้ส่งเครื่องบรรณาการขึ้นไปยังจีนเพื่อแสดงถึงการยอมรับอำนาจด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งมีระบุว่าอยุทธยาส่งช้าง 6 เชือก เต่าหกขา พร้อมด้วยของพื้นเมืองไปถวาย
ตลอดระยะเวลาเกือบ 400 ปีของกรุงศรีอยุธยา ได้มีการติดต่อค้าขายและส่งเครื่องบรรณาการจิ้มก้องไปจีนอยู่นับร้อยครั้ง และทางจีนเองก็ส่งทูตมาเจริญสัมพันธ์ไมตรีกับกรุงศรีอยุธยาก็นับสิบครั้ง โดยมีครั้งสำคัญคือตอนที่นักเดินเรือผู้ยิ่งใหญ่อย่างเจิ้งเหอเดินทางมา ในรัชสมัยจักรพรรดิหย่งเล่อ ซึ่งความสัมพันธ์นี้ก็ได้ชักพาให้ชาวจีนจำนวนไม่น้อยเดินทางมาแสวงโชคและตั้งถิ่นฐานในเมืองไทยไปพร้อมกัน
ครั้นเมื่อกรุงศรีอยุธยาสิ้นสุดลง อย่างไรก็ดี ความสัมพันธ์ก็ไม่ได้สิ้นสุดตาม โดยเมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ตั้งกรุงธนบุรีศรีมหาสมุทร ก็ยังคงส่งทูตและเครื่องบรรณาการขึ้นไปถวายพระเจ้ากรุงจีนอยู่เพื่อรักษาความสัมพันธ์อันดีเอาไว้ จนถึงในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์เองก็ยังคงส่งเครื่องบรรณาการไปยังจีนไม่ขาด การจิ้มก้องนี้เป็นผลงานต่อการค้าของรัฐไทยเป็นอย่างมาก
ซึ่งกรมพระยาดำรงราชานุภาพก็ทรงอธิบายถึงความสัมพันธ์ไทยจีนว่าเป็นไปด้วยเรื่องการค้ามาตั้งแต่แรกเริ่ม ซึ่งการจิ้มก้องนี้เป็นธรรมเนียมเพื่อให้การค้าสะดวกสบาย ตัวอย่างความมั่งคั่งจากการค้าระหว่างไทยจีนที่น่าจะเห็นภาพมากที่สุดก็คงจะเป็นเรื่องเงินถุงแดงที่ถูกนำออกมาจ่ายให้ฝรั่งเศสในช่วงวิกฤตการณ์ร.ศ.112
-----
สายใยที่รัฐตัดได้ แต่ประชาชนตัดไม่ขาด
ต้องยอมรับว่ารัฐไทยทำการค้าโดยพึ่งพาจีนมาเป็นระยะเวลานาน ทำให้ต้องมีการส่งจิ้มก้องเป็นเนืองนิตย์ อย่างไรก็ดี การเข้ามาของชาวตะวันตกในกรุงรัตนโกสินทร์ได้สร้างแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่ต่อการค้า ซึ่งในรัชกาลที่ 4 นั้นเกิดสนธิสัญญาฉบับสำคัญอย่างสนธิสัญญาเบาว์ริง ที่ทำให้การค้าของรัตนโกสินทร์ ไม่ได้มีจีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดอีกต่อไป การติดต่อค้าขายกับตะวันตกได้ทำให้บทบาทของจิ้มก้องลดลง และนำมาสู่การตัดความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนในฐานะของรัฐบรรณาการลง
ถึงแม้ว่าความสัมพันธ์ในรูปแบบของรัฐบรรณาการจะจบลงไป แต่ถึงอย่างนั้นแล้วก็ใช่ว่าความเป็นจีน หรือคนจีนในไทยจะหายไปพร้อมกัน ชุมชนชาวจีนในไทยยังคงดำรงอยู่เรื่อยมาถึงแม้ว่าจะไม่ได้มีสถานะเป็นรัฐบรรณาการจีนแล้วก็ตาม ตลอดจนด้วยจำนวนและอุปนิสัยในการทำงานของชาวจีนอพยพกลุ่มนี้ก็ทำให้พวกเขาสามารถก้าวขึ้นมามีหน้ามีตาในสังคมได้
ความสัมพันธ์ไทยจีนค่อนข้างสั่นคลอนเป็นพิเศษตั้งแต่ช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นต้นมา ทั้งความสัมพันธ์กับคนจีนภายในประเทศอันเนื่องมาจากนโยบายชาตินิยมในรัฐบาลของจอมพลป.พิบูลสงคราม และความสัมพันธ์กับจีนแผ่นดินใหญ่ในช่วงสงครามเย็น ซึ่งในช่วงสงครามเย็นนั้นจีนได้กลายมาเป็นสาธารณรัฐประชาชนจีนขึ้นมา ทำให้เกิดท่าทีระแวงต่อกัน กระทั่งในปี 2518 ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและจีนก็เริ่มพัฒนากลับขึ้นมาจากการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตขึ้นมาใหม่อีกครั้งหนึ่ง
-----
50 ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต
ในช่วงก่อนปี 2518 สถานการณ์ความสัมพันธ์ของไทยกับจีนไม่ได้ราบรื่นมากนักอันเนื่องมาจากสถานการณ์การเมืองภายในจีนด้วยอีกประการหนึ่ง โดยในปี 2506 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตต์พระบรมราชินีนาถเด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ซึ่งทางไต้หวันเองก็ได้ส่งทูตมายังไทยเหมือนกัน ทำให้เกิดความสัมพันธ์ทางการทูตครั้งใหม่
อย่างไรก็ดีในเวลาต่อมาความสัมพันธ์จากสาธารณรัฐจีนก็ได้เปลี่ยนมาเป็นสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี 2518 ซึ่งเป็นการแสดงความยอมรับและรับรองความเป็นรัฐบาลของสาธารัฐประชาชนจีนด้วยในอีกทางหนึ่ง
การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีนครั้งใหม่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ปี 2518 ภายใต้รัฐบาลของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช โดยมรว.คึกฤทธิ์ได้เดินทางไปยังกรุงปักกิ่งโดยมีนายโจวเอินไหล นายกรัฐมนตรีของสาธารณัฐประชาชนจีนเป็นผู้ให้การต้อนรับพร้อมกับลงนามแถลงการณ์ร่วมกันว่าด้วยการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสองประเทศ ทำให้ราชอาณาจักรไทยเป็นประเทศที่ 101 ที่รับรองรัฐบาลของสาธารณรัฐประชาชนจีน
จากวันนั้นถึงวันนี้ ไทยกับจีนก็ได้ดำเนินความสัมพันธ์ทางการทูตยุคปัจจุบันมาครบรอบ 50 ปี แล้ว ซึ่งตลอดระยะเวลา 50 ปีนี้ ไทยกับจีนก็ได้มีการร่วมมือกันในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว ไปจนถึงทางการทหาร โดยมีด้านเศรษฐกิจเป็นด้านที่โดดเด่นซึ่งเป็นเหมือนกับการสืบต่อความสัมพันธ์ทางการค้าเดิมที่เคยมีกับจีนมาตั้งแต่ในอดีตกาล…
-----
เรื่อง : ณัฐรุจา งาตา
ภาพประกอบ : บริษัท ก่อการดี จำกัด
════════════════
ขอบคุณที่มาเนื้อหาจาก.. Bnomics by Bangkok Bank