หวั่น"ไทย"ตกขบวน FDI จับตานักลงทุนซบ ‘เวียดนาม-อินโดฯ’
Key Point
- 16 ก.ค."พิชัย ชุณหวชิร "นำทีมไทยแลนด์เจรจายูเอสทีอาร์ รอบ 2
- สรท.หวังไทยปิดดีลภาษีทรัมป์ได้ 18 %
- การที่เวียดนามและอินโดนีเซียเจรจาข้อตกลงการค้ากับสหรัฐฯ ได้สำเร็จ สร้างแรงกดดันให้ไทยอาจสูญเสียความน่าสนใจในการเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออก และนักลงทุนอาจย้ายฐานการลงทุนไปประเทศคู่แข่ง
- ภาคเอกชนไทยกังวลว่าผลการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ อาจทำให้ไทยเสียเปรียบเวียดนามและอินโดนีเซีย โดยต้องการอัตราภาษีที่ไม่สูงกว่าคู่แข่งเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน
- นักวิเคราะห์เตือนว่าหากไทยมีเงื่อนไขภาษีที่ด้อยกว่าคู่แข่ง อาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมหลักอย่างยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์
- มีข้อเสนอแนะให้ไทยไม่จำเป็นต้องลดภาษีเท่าเวียดนามหรืออินโดนีเซีย แต่ควรชูจุดแข็งด้านอื่นเพื่อดึงดูดการลงทุน พร้อมเตรียมมาตรการเยียวยาภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบ

เวียดนามและอินโดนีเซียได้ข้อสรุปการเจรจาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ กล่าวว่า บรรลุข้อตกลงการค้ากับอินโดนีเซีย โดยสินค้าจากอินโดนีเซียจะถูกเก็บภาษีในอัตรา 19% ขณะที่สินค้าส่งออกของสหรัฐไม่ถูกเก็บภาษี
ส่วนอินโดนีเซียตกลงซื้อสินค้าพลังงานจากสหรัฐมูลค่า 15,000 ล้านดอลลาร์ สินค้าเกษตรมูลค่า 4,500 ล้านดอลลาร์ และเครื่องบินโบอิ้ง 50 ลำ ซึ่งหลายลำเป็นเครื่องบินโบอิ้ง 777
นายฮาซัน นาสบี โฆษกประจำตัวประธานาธิบดีอินโดนีเซีย แถลงว่า อินโดนีเซียบรรลุข้อตกลงการค้ากับสหรัฐหลัง “พยายามเป็นพิเศษ” รวมถึงการเจรจาโดยตรงทางโทรศัพท์ระหว่างปราโบโวกับทรัมป์
ขณะที่ปราโบโวกล่าวว่า การพูดคุยโทรศัพท์กับทรัมป์เป็นไปอย่าง “ยอดเยี่ยม” เขาโพสต์อินสตาแกรมว่า อินโดนีเซียกับสหรัฐเห็นชอบนำความสัมพันธ์ทางการค้าเข้าสู่ยุคใหม่
ทั้งนี้ อินโดนีเซียมีประชากรมากเป็นอันดับสี่ของโลกและเป็นสมาชิกกลุ่มจี 20 ได้เปรียบดุลการค้าสินค้าจากสหรัฐ 1.79 หมื่นล้านดอลลาร์ในปีที่ผ่านมา
โฆษกประธานาธิบดีปราโบโว กล่าวว่า ข้อตกลงดังกล่าวเป็น “จุดบรรจบ” ของรัฐบาลทั้งสอง อัตราภาษีของอินโดนีเซียต่ำกว่าประเทศอื่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาก
ตามข้อมูลของทรัมป์ อินโดนีเซียที่มีเศรษฐกิจใหญ่สุดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รับปากซื้อเครื่องบินโบอิง 50 ลำ ซื้อพลังงานสหรัฐ 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ และซื้อสินค้าเกษตร 4.5 พันล้านดอลลาร์ ข้อตกลงที่ทำกับอินโดนีเซียคล้ายกับที่ทำกับเวียดนาม กล่าวคือสินค้าส่งออกจากสหรัฐไปยังอินโดนีเซียไม่ต้องเสียภาษี และสหรัฐจะเก็บภาษีในอัตราสูงขึ้นสำหรับสินค้าจากจีนที่ส่งผ่านอินโดนีเซีย
ไทยเจรจา“ยูเอสทีอาร์”อีกรอบ
นายจตุพร บุรุษพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การเจรจาการค้าระหว่างไทยและสหรัฐอย่างเป็นทางการเริ่มขึ้นแล้วในคืนวันที่ 16 ก.ค.2568 โดยเป็นการประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ ซึ่งนายพิชัย ชุนหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้หารือกับผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR)
“การหารือดังกล่าวได้พิจารณาข้อเสนอเพิ่มเติมของไทยที่จัดทำใหม่ ซึ่งไทยได้เสนอการลดภาษีนำเข้าสินค้าให้สหรัฐเป็น 0% ในสินค้าหมื่นรายการและข้อเสนออื่นที่ไทยยื่นให้สหรัฐเพิ่ม”
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้เตรียมมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบไว้แล้ว โดยแบ่งสมมุติฐานการทำมาตรการเยียวยาไว้ 2 ระดับ คือ ถ้าถูกเก็บภาษี 36% จะมีสินค้าใดได้รับผลกระทบ และผลกระทบลงลึกถึงระดับใด เช่น แรงงานในอุตสาหกรรมต่างๆ และหากถูกเก็บ 20% จะกระทบสินค้ากลุ่มใด ผลกระทบเป็นอย่างไรบ้าง
“อินโดนีเซีย-เวียดนาม”กดดันไทย
นายธนากร เกษตรสุวรรณประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า การที่เวียดนามปิดดีลได้ 20% อินโดนีเซีย ปิดดีล 19% ซึ่งไทยต้องการปิดดีลให้ได้ 18% ทำให้อัตราภาษีมีความต่างกัน 1-2% ทำให้แข่งขันได้ โดยในอาเซียนมีคู่แข่ง 4 ประเทศ คือ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซียและเวียดนาม ซึ่งไทยต้องเจรจาไม่ให้เสียเปรียบทั้ง 4 ประเทศ
“ไทยได้ยื่นข้อเสนอลดภาษีนำเข้าสหรัฐ 0% ในสัดส่วน 90% ซึ่งน่าจะมีโอกาสที่การเจรจาจะสำเร็จเพราะหากเปรียบเทียบกับอินโดนีเซีย และเวียดนามที่ได้ดุลการค้าสหรัฐมากกว่า 3 เท่า รวมถึงการสวมสิทธิ์ถิ่นกำเนิดสินค้า ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบการเจรจาของไทย”
ส่วนการเยียวยาที่รัฐบาลเตรียมซอฟต์โลน 2 แสนล้านบาท โดยผู้ประกอบการไม่ต้องการการเยียวยาเป็นตัวเงิน แต่ต้องการมาตรการ เช่น การไม่ขึ้นค่าแรง 400 บาท การควบคุมอัตราดอกเบี้ย ซึ่งเงินเยียวยาควรช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเปิดตลาด 0% ให้สินค้าสหรัฐ
ส.อ.ท.ห่วงไทยโดนบีบหั่นภาษีให้สหรัฐ0%
นายนาวา จันทนสุรคน รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ข้อสรุปการเจรจาของเวียดนามและอินโดนีเซียที่ยอมลดภาษีนำเข้าสินค้าให้สหรัฐเหลือ 0% สร้างความกังวลให้ภาคเอกชนไทยกังวลว่าอาจถูกบีบให้ลดภาษีเหลือ 0%
ทั้งนี้เมื่อเทียบดุลการค้ากับสหรัฐพบว่าปี 2567 ไทยได้ดุลการค้าสหรัฐ 45,000 ล้านดอลลาร์ มากกว่าอินโดนีเซีย 2.5 เท่า แต่ยังสงสัยว่าทำไมอินโดนีเซียถึงยอมลดภาษีให้สหรัฐหมด
“หากไทยต้องโดนสูตรภาษีแบบอินโดนีเซียถือเป็นประเด็นที่กังวลเพิ่ม ซึ่งเป็นโจทย์ที่ยากกว่า Local Content เพราะไทยได้ดุลการค้ามากกว่าอินโดนีเซียแต่เขายอมขนาดนั้น”
นอกจากนี้ อินโดนีเซียพึ่งพิงตลาดสหรัฐน้อยกว่าเวียดนามที่พึ่งพาตลาดส่งออกสหรัฐมากกว่า 30% ขณะที่ไทยพึ่งพิงตลาดสหรัฐ 18% ของการส่งออกไทยทั้งหมด
นายนาวา กล่าวว่า การที่ไทยจะเทหน้าตักยอมลดภาษีนำเข้า 0% ยืนยันว่า ส.อ.ท.ยอมให้สหรัฐ 0% แค่บางรายการ เช่น ผลิตภัณฑ์ยา เพราะสหรัฐมีความสามารถผลิตยามีคุณภาพ ส่วนกลุ่มสินค้าที่ไม่ควรลดภาษีนำเข้าเป็น 0% คือ กลุ่มเคมีภัณฑ์ที่ลงทุนสูงและอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรม
ธปท.แนะเตรียมมาตรการเยียวยา
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การประเมินผลกระทบจากภาษีทรัมป์ของไทยต้องรอรายละเอียดการเจรจาอย่างเป็นทางการว่าอัตราภาษีจบที่เท่าไหร่ โดยประเทศอื่นที่ประกาศไปแล้วตอนแรกโดนภาษีค่อนข้างสูง แต่หลังจากเจรจาได้รับภาษีลดลง
ทั้งนี้ ไทยควรเจรจาให้จบพร้อมกับมีมาตรการบรรเทาผลกระทบและมาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบและมาตรการรองรับการปรับตัวในอนาคต โดยทุกฝ่ายต้องรวมกันทำงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่ง ธปท.ได้หารือทุกภาคส่วนต่อเนื่อง
ส่วนข้อเรียกร้อง ในเรื่องดอกเบี้ยและค่าเงินเป็นสิ่งที่ ธปท.มีการให้ข้อหารือและชี้แจ้งไปก่อนหน้านี้ในการประชุม กนง. ทั้งเรื่องนโยบายการเงิน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดอกเบี้ยและเรื่องอื่นๆ
สำหรับผลกระทบมีทั้งการค้าและการลงทุน 3 กลุ่ม คือ ผู้ส่งออกไปสหรัฐส่วนนี้ขึ้นกับการเจรจาอัตราภาษีทรัมป์เป็นหลัก แต่ส่วนที่เป็นห่วงมาตลอด คือ สินค้าประเทศอื่นที่ทะลักเข้าในไทย เพราะไม่สามารถส่งไปที่สหรัฐได้ กลุ่มอุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบ เช่น เสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์ คอมพิวเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งเกี่ยวข้องกับเอสเอ็มอีมากที่ยังเปราะบางสูงเมื่อเทียบบริษัทขนาดใหญ่ที่ส่งออกไปสหรัฐ
ห่วงย้ายหนีไทยซบเวียดนาม-อินโดฯ
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า หากไทยไม่สามารถเจรจาเงื่อนไขภาษีได้เทียบเท่าหรือใกล้เคียงกับประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนามและอินโดนีเซีย ส่งผลให้อัตราภาษีนำเข้าของไทยสูงกว่าคู่แข่ง เชื่อไม่เป็นผลดีแน่ ทั้งต่อภาคการส่งออกในอนาคต และต่อการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ)
“สุดท้ายนักลงทุนไม่ได้มองแค่ตลาดภายในของประเทศเรา แต่นักลงทุนต้องการใช้เป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปทั่วโลก โดยเฉพาะธุรกิจในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ ชิ้นส่วน หรือแม้แต่รถ EV จากจีน ที่กำลังอยู่ระหว่างการตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ดังนั้นนักลงทุนเหล่านี้ อาจหันไปหาประเทศที่มีต้นทุนภาษีต่ำกว่าไทยได้”
อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวมองว่าแม้สถานการณ์จะกดดัน แต่มองว่าไทยไม่จำเป็นต้องเดินตามรอยเวียดนามและอินโดนีเซียทุกอย่าง เพราะบริบทของแต่ละประเทศต่างกัน โดยเฉพาะภาคเกษตรของไทยที่เปราะบางกว่า และไทยมีโครงสร้างเศรษฐกิจที่ซับซ้อนกว่า การลดภาษีจึงต้องคำนึงถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับหลายภาคส่วน โดยเฉพาะภาคเกษตรและ SME ที่ยังต้องพึ่งพามาตรการคุ้มครอง
ชี้ภาษี25-30%ไทยแข่งขันได้
ดังนั้นมองว่าไทยอาจจะไม่ต้องลดเท่ากับเวียดนามหรืออินโดฯ แต่ต้องต่ำกว่าระดับ 36% ให้ได้ และหากอยู่ที่ระดับ 25-30% ก็ถือว่าเป็นไปได้สูง และยังพอแข่งขันได้
ทั้งนี้ ไทยต้องหาจุดแข็งให้มากขึ้น เพราะในอดีตชี้ให้เห็นแล้วว่า แม้ค่าแรงเราแพง ค่าไฟก็แพง แต่คนก็ยังเลือกมาลงทุนในไทย เพราะหลายธุรกิจยังมองว่าประเทศไทยมีจุดแข็ง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่สามารถสร้างความได้เปรียบได้ เช่น อิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง อุปกรณ์การแพทย์ รถ EV ที่พัฒนาเอง รวมถึงภาคอาหารแปรรูป และบริการสมัยใหม่ รวมถึงภาคบริการก็สำคัญมาก
“กลุ่มที่ได้รับผลกระทบ ต้องได้รับการดูแลจากรัฐ ต้องมีมาตรการเยียวยาและช่วยให้เขาสามารถปรับตัวได้ พร้อม ๆ กับการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ และเชื่อ่าไทยยังไม่สายเกินไป ถ้ากล้าปรับและหาจุดยืนให้ชัด เราอาจจะเติบโตช้ากว่าประเทศที่ลดภาษีเร็วกว่า แต่เรายังมีโอกาสถ้าเรารู้ว่าจะแข่งด้วยอะไร จุดแข็งของเราคืออะไร แล้วหาทางปรับจุดอ่อนให้ได้ ประเทศไทยยังมีทางเลือกเสมอ”
ที่มา.. https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1189801