Ichimoku หรือ Ichimoku Cloud คือ ชื่อของ indicator ชนิดหนึ่งที่นิยมอย่างมากในประเทศญี่ปุ่น โดยเฉพาะกลุ่มแม่บ้านชาวญี่ปุ่น ใช่ครับคุณได้ยินไม่ผิดหรอก “แม่บ้านชาวญี่ปุ่น” เชื่อไหมละเคยมีผลสำรวจหนึ่งบอกว่า ประชากรชาวญี่ปุ่นโดยเฉพาะกลุ่มแม่บ้าน นิยมหารายได้เสริมหลังจากการทำงานประจำ เวลาที่ว่างจากการทำงานบ้านและเลี้ยงดูเด็ก ด้วย การเทรด Forex (การซื้อขายแลกเปลี่ยนค่าเงิน) และ เล่นหุ้น อยู่ที่บ้าน
ส่วนเหตุผลที่ Ichimoku เป็น Indicator ที่ได้รับความนิยมมากนั้น มีอยู่สองส่วนหลักๆ
หนึ่ง คือ มันถูกคิดค้นขึ้นโดยคนญี่ปุ่น เพราะคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่นั้นมีความเป็นชาตินิยมสูงมาก พวกเขาย่อมเชื่อใจเครื่องมือที่ถูกคิดค้นโดยคนชาติเดียวกันมากกว่าเครื่องมืออื่น (เรื่องประวัติลองหาจาก google เอานะ)
สอง คือ ความง่าย ด้วยคอนเส็ปการคิดค้นที่ว่าด้วย “At one glance” หรือ “มองแปปเดียว รู้เรื่อ” ถึงแม้ว่าเราลองเปิด Indicator ตัวนี้ขึ้นมาแล้วจะเกิดอาการงงเป็นไก่ตาแตกก็ตาม “เส้นอะไรมันเยอะแยะนักวะเนี้ย”
เหมียวคิดว่านิยามความง่ายของ Ichimoku ใช่ความง่ายในการใช้งานแบบที่ตาสีตาสาที่ไหนก็ไม่รู้ก็สามารถใช้งานได้ แต่เป็นความง่ายในรูปแบบของความ “ครบ” เสียมากกว่า เพราะ Ichimoku นั้นจะประกอบด้วยเครื่องมือย่อยๆทั้งหมด …. ด้วยกันใน Indicator ตัวเดียวแบบที่ว่าไม่ต้องไปหาของค่ายไหนเพิ่มเลย ค่ายนี้ค่ายเดียวครบ ทั้งจุดซื้อ จุดขาย แนวรับ แนวต้าน มีเทรน หรือ Sideway ครบ
Ichimoku ประกอบด้วยเครื่องมือย่อยๆหลายชนิด ได้แก่
——————————-
1.Tenkan Sen (เท็งกัง เซน) (สีฟ้า) คือ เส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ SMA ที่คำนวณจากราคาสูงสุดและต่ำสุดของในแต่ละวัน((Highest high +Lowest low)/2) แล้วคำนวณย้อนหลังไป 9 วัน (ค่าเริ่มต้นถูกตั้งค่าไว้ที่ 9 )
2.Kijun Sen (คิจุน เซน) (สีน้ำเงิน) คือ เส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ SMA ที่คำนวณจากราคาสูงสุดและต่ำสุดของในแต่ละวัน((Highest high +Lowest low)/2) แล้วคำนวณย้อนหลังไป 26 วัน (ค่าเริ่มต้นถูกตั้งค่าไว้ที่ 26 )
หลักการของสองเส้นนี้ก็คล้ายกับ moving average ทั่วๆไปเพียงแต่ใช้ค่ากลางจากจุดสูงสุดและต่ำสุดในแต่ละวันแทนที่จะใช้ราคาปิดเท่านั้น วิธีใช้งานเองก็ไม่ต่างจากการใช้เส้น SMA 9 กับ SMA 26 ตัดกันขึ้นลง เกิดเป็นสัญญาณซื้อขาย
——————————-
3.Senkou Span A (เซนโคว สแปนเอ) (เส้นสีเหลือง) คือค่าเฉลี่ยของ Tenkan และ Kijun ((Tenkan + Kijun )/2) และถูก plot ไปข้างหน้า 26 ครั้ง ในช่วงเวลานั้น
4.Senkou Span B (เซนโคว สแปนบี) (เส้นสีขาว) คือ เส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ SMA ที่คำนวณจากราคาสูงสุดและต่ำสุดของในแต่ละวัน((Highest high +Lowest low)/2) แล้วคำนวณย้อนหลังไป 26 วัน (ค่าเริ่มต้นถูกตั้งค่าไว้ที่ 26 ) ก่อนที่จะถูก shift ไปด้านหน้า 26 ครั้งนั้นเอง อ่านดูแล้วงงมาก
สองเส้นนี้คือเส้นราคาล่วงหน้า เพราะจะถูกพล๊อทไปข้างหน้า 26 วัน สองเส้นนี้จะวิ่งตีคู่กันไปเกิดเป็นช่องว่างระหว่างกัน ซึ่งจะถูกไฮไลท์ เป็นสีบางๆ ส่วนที่ถูกไฮไลท์นี้จะถูกเรียกว่า Kumo ที่แปลว่า “ก้อนเมฆ” (เป็นตัวชูโรง และ เป็นที่มาของชื่อ Indicator นั้นเอง) การใช้งานสองเส้นนี้แบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลักๆคือ
-ใช้การตัดขึ้น ลง ของเส้นเป็นตัวบอกแนวโน้มหลัก ถ้า Senkou Span A มากกว่า Senkou Span B แปลว่า ราคาอยู่ในแนวโน้มขาขึ้น
-ใช้ส่วนของ Kumo “ก้อนเมฆ” บอกถึงสภาวะแนวโน้ม โดยเมื่อราคาวิ่งไปมาอยู่ใน “ก้อนเมฆ” แปลว่าช่วงเวลานั้นอยู่ในสถาณะ Side Way และเมื่อราคาอยู่เหนือ “ก้อนเมฆ” ได้ให้แปลว่า ราคาอยู่ในแนวโน้มขาขึ้น
——————————-
5.Chinkou Span (ชิโคว สแปน) หรือ Lagging Span (เส้นสีม่วง) คือ เส้นราคาปิด ณ ปัจจุบันที่ ถูก shift ย้อนหลังไป 26 วัน มองแว๊ปแรกอาจจะ งงๆ แต่ทว่า Chinkou เป็นเส้นที่เรียบง่ายที่สุดแล้ว หลักการของมันแค่ทำการเปรียบเทียบราคา ณ ปัจจุบันกับราคาเมื่อ 26 วันที่แล้วเท่านั้น หากเส้น Chinkou สูงกว่าราคาเมื่อ 26 วันที่แล้วให้แปลว่า ราคาอยู่ในแนวโน้มขาขึ้น
สรุปการใช้งาน indicator Ichimoku Cloud อย่างง่าย
1.ใช้ Kumo หรือ “ก้อนเมฆ” เพื่อดูแนวโน้มราคาว่าอยู่ในช่วงใด ขาขึ้น ขาลง หรือ SideWay
2.ใช้ Chinkou Span (ชิโคว สแปน) เพื่อดูแนวโน้มราคาว่าอยู่ในช่วงใด ขาขึ้น ขาลง เป็นตัวช่วยยืนยันอีกครั้ง
3.ใช้การตัดขึ้นลงของเส้น Tenkan Sen กับ Kijun Sen เป็นสัญญาณซื้อ สัญญาณขาย ถ้า Tenkan Sen ตัด Kijun Sen ขึ้นในระหว่าที่อยู่ในแนวโน้มขาขึ้น ถือเป็นสัญญาณซื้อ เป็นต้น
4.ใช้ Kumo หรือ “ก้อนเมฆ” เป็นแนวรับ แนวต้าน เพื่อกำหนดจุดขาดทุนได้
อ่านมาตั้งนาน เพิ่งจะมาเข้าใจตรงสรุปนี้แหละใช่ไหมครับ… สำหรับ Ichimoku นั้นแรกๆอาจจะดูยากเสียหน่อยเพราะมันมีหลายเส้นเหลือเกิน แต่หากเข้าใจถึงหลักการเบื่องต้นของมันและดูมันบ่อยๆ เราจะสามารถเข้าใจเส้นต่างๆที่อยู่ใน Ichimoku และ Take Action ได้อย่างเป็นธรรมชาติมากเลยครับ
———–
ชอบก็ กดถูกใจเพจ meawbin Investor ให้ด้วยนะครับ คลิ๊ก
———–
หรืออ่านบทความอื่นๆที่ www.meawbininvestor.com