
ดูเหมือนว่าประเทศไทยในปัจจุบันจะมีการเก็บภาษีมากขึ้นเรื่อยๆ
โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีฐานะ เป็นนักลงทุน
ล่าสุดกรมสรรพากรยืนยันว่าจะมีการเก็บภาษีเงินได้ของบุคคลธรรมดา ที่มีรายได้จากต่างประเทศ
รวมไปถึงเงินได้จากการลงทุนในหุ้นต่างประเทศ โดยจะเริ่มต้นวันที่ 1 มกราคม 2567 ที่จะถึงนี้
.
หลักใหญ่ๆ คือ
1. กำไรจากการขายทรัพย์สิน เช่น หุ้นต่างประเทศ
2. คนไทยที่มีหน้าที่การงานในต่างประเทศ หรือเป็นพนักงานในบริษัทต่างประเทศ
โดยคนทั้ง 2 กลุ่มนี้ จะเสียภาษีเมื่อมีการโอนเงินกลับเข้ามาประเทศไทย นับเป็นรายได้บุคคลธรรมดา ไม่ว่าจะเป็นปีภาษีไหนก็ตาม
.
อ่านมาถึงตรงนี้เราอาจจะสงสัยว่า ยังไง ?
แต่เดิม การเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับคนที่มีเงินได้จากการลงทุนต่างประเทศ มีอยู่ 2 ประเด็นด้วยกัน คือ
- ถ้าอยู่ในไทยตั้งแต่ 180 วันในปีไหน
- นำเงินได้ในปีนั้นเข้าไทยในปีเดียวกัน
.
โดยปกติคนไทยที่ไปลงทุนหุ้นต่างประเทศ แล้วได้กำไร มักจะชอบนำเงินเข้ามาในไทยปีถัดไป หมายความว่า นักลงทุนซื้อหุ้นอเมริกาเมื่อปี 2565 แล้วขายได้กำไรเมื่อไรก็เก็บไว้ก่อน พอขึ้นปีใหม่ คือ ปี 2566 ก็จะค่อยโอนกลับเข้ามาในไทย เพราะถือว่านำเงินได้เข้ามาในไทย “คนละปี” ทำให้ไม่ต้องเสียภาษี
ล่าสุดกรมสรรพากรบอกว่า ไม่ว่าจะโอนกลับประเทศไทยปีไหน เงินได้นั้นก็จะต้องถูกคำนวณภาษีด้วย
.
แต่ถ้าเราพิจารณาอย่างละเอียดจะพบว่าประเด็นเรื่องภาษีหุ้นต่างประเทศก็ยังมีความไม่ชัดเจนหลายอย่าง เช่น
...เงินที่จะเอาคำนวณภาษี เป็นเงินต้นของเราต้องนำมาคิดด้วยไหม?
ตัวอย่างเช่น เราโอนเงินออกไป 1 แสนบาท ลงทุนหุ้นได้กำไร 5 หมื่นบาท รวมเป็นเงิน 1.5 แสนบาท
เมื่อนำกลับประเทศก้อนเดียว คือ 1.5 แสนบาท จะต้องหัก 1 แสนบาทซึ่งเป็นเงินของเราก่อนไหม และคิดเฉพาะ 5 หมื่นที่เป็นกำไร เป็นต้น
.
...ถ้าเราลงทุนหุ้นแล้วขาดทุน จะสามารถนำมาหักภาษีได้ไหม?
และถ้าคนที่ไปลงทุนหุ้นหลายๆ ประเทศ อเมริกา ฮ่องกง เวียดนาม
ถ้าขาดทุนฮ่องกง แต่กำไรอเมริกา จะมีการคิดภาษีอย่างไร
.
...กำไรที่เกิดจากอัตราแลกเปลี่ยน ถือเป็นรายได้ ต้องนำมาคำนวณภาษีด้วยไหม?
...การนำส่งข้อมูลให้กรมสรรพากร จะส่งเป็นแบบใด ต้องมีการว่าจ้างโบรคเกอร์ให้ทำเป็นรายงานนำส่งด้วยไหม?
...เงินปันผลจากหุ้นต่างประเทศ ถูกหักไปแล้วในประเทศนั้นๆ จะต้องถูกหักภาษีอีกไหม?
เรียกได้ว่า มีอีกหลายข้อสงสัย และมีความไม่ชัดเจนหลายอย่าง
.
เท่ากับว่า กรมสรรพากรยังไม่ชัดเจน เจ้าหน้าที่ที่ทำงานอยู่ในกรมสรรพากรก็อาจจะต้องปวดหัวกับการตรวจสอบเอกสารและอยู่กับกฎเกณฑ์ที่ไม่ชัดเจนหลายอย่าง กลายเป็นว่าจะเก็บภาษีได้มากขึ้น ก็กลับไปได้น้อยอยู่ดี
อ่านเพิ่มเติมที่นี้ : https://bit.ly/3REWbln