ห้องเม่าปีกเหล็ก

5 วิธีรับมือค่าใช้จ่ายภาษีสังคม

โดย กล้วย
เผยแพร่ :
869 views

“ยิ่งตำแหน่งสูง ภาษีสังคมก็ยิ่งแพงขึ้น”

 

.

เพื่อนๆ เคยเจอสถานการณ์แบบนี้กันไหมครับ ทีมเลี้ยงฉลองปิดโปรเจค เราในฐานะหัวหน้าต้องเลี้ยงทีมงานทั้งชุดเพื่อเป็นน้ำใจตอบแทนค่าเหนื่อยของทุกคนที่ร่วมหัวจมท้ายกันมา หรือซื้อของขวัญให้กับสมาชิกในทีมบ้างบางโอกาสสำคัญ เช่น วันเกิด หรือช่วยใส่ซองในงานวาระต่างๆ เช่น งานแต่ง งานบวช ทำบุญขึ้นบ้านใหม่ ฯลฯ ค่าใช้จ่ายเหล่านี้เรียกว่า “ภาษีสังคม” นับว่าเป็นอีกค่าใช้จ่ายที่จำเป็นของวัยทำงานหลายๆ คนที่ยากจะเลี่ยง เนื่องจากเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการทำงานที่ราบรื่น ถือเป็นการซื้อใจเพื่อนร่วมทีม ซื้อความร่วมมือการทำงานในอนาคต

.

โดยยิ่งเรามีตำแหน่งหน้าที่การงานที่สูงขึ้น ค่าใช้จ่ายภาษีทางสังคมก็จะยิ่งแพงขึ้น เพราะคนส่วนใหญ่มักมองว่าหน้าที่การงานดี รายได้ก็น่าจะดี ยกตัวอย่าง เพื่อนคนหนึ่งของ บ.ก. aomMONEY เองก็เคยเจอปัญหานี้และมาบ่นให้ฟังอย่างหนักใจถึงปัญหาการใส่เงินช่วยงานแต่ง เนื่องจากตัวเองเป็นหัวหน้า กลัวว่าใส่ซองน้อยไป ลูกน้องจะเอาไปพูดกันลับหลัง ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง ตำแหน่งหัวหน้าที่ถืออยู่ ก็มีรายได้ก็ไม่ได้สูงไปกว่ากันเท่าไหร่ และมีภาระค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ต้องแบกรับเช่นกัน

.

5 วิธีรับมือกับค่าใช้จ่ายทางสังคม เพื่ออุดรอยรั่วในกระเป๋าเงิน

.

1. กำหนดงบค่าภาษีสังคมในแต่ละเดือน

ถ้าไม่อยากเสียภาษีสังคมมากจนเกินไป เราควรกำหนดเป้าหมายในแต่ละเดือน ว่าเราจะใช้จ่ายกับภาษีสังคมเดือนละเท่าไหร่ เพื่อไม่ให้ใช้จ่ายเกินตัว จนเราเองเดือดร้อนครับ

.

2. ไม่ใจป้ำจนเกินไป จ่ายแบบพอดีตัว

การที่เราหน้าใหญ่ใจโต ไปไหนไปนั่น ใจป้ำตลอด เป็นพฤติกรรมที่จะทำให้เงินในกระเป๋าจะหมดไปโดยไม่รู้ตัว ฉะนั้นจ่ายแบบพอดีไม่เกินตัว เราเองจะได้ทั้งซื้อใจทีม แถมตัวเองก็ไม่เดือดร้อนอีกต่างหาก

.

3.ไม่ต้องเข้างานสังคมทุกงานก็ได้

เพราะการเข้าร่วมงานสังคมแต่ละครั้ง ย่อมมีค่าใช้จ่าย ดังนั้นเราควรเข้าร่วมงานเท่าที่จำเป็น งานไหนที่เราสามารถเลี่ยงได้ก็ควรปฏิเสธอย่างถนอมน้ำใจ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เงินออกจากกระเป๋าเท่าที่จำเป็น

.

4. เกรงใจได้ แต่อย่าเกรงใจจนตัวเองเดือดร้อน

หลายคนขี้เกรงใจ เพื่อนห่างๆ ที่ไม่เคยติดต่อกันเลยหลายปี จู่ๆ ติดต่อมาทีก็แจ้งข่าวส่งซองมาให้ไปงาน ถ้าคนขี้เกรงใจหน่อย ก็จะต้องไปงาน ทั้งๆ ที่ในงานก็แทบไม่มีคนรู้จัก แนะนำว่า บางงานปฏิเสธบ้างก็ได้ ไม่ต้องร่วมทุกงาน บางงานใส่ซองไปช่วยก็พอ เพราะอย่าลืมว่าการร่วมงาน 1 ครั้ง ไม่ได้มีแค่ค่าซองที่ช่วย ไหนจะค่าชุด ค่าเดินทาง

.

5.จ่ายเมื่อไหร่ จดบันทึกเมื่อนั้น

อีกหนึ่งวิธีที่สำคัญที่สุดเลยก็คือ “การจดบันทึก” ไม่ว่าจะใช้จ่ายอะไรเราก็ควรจดบันทึกเอาไว้ จะได้รู้ว่าต่อเดือนเราเสียภาษีสังคมไปเท่าไหร่ จะได้จัดการบริหารการเงินได้อย่างถูกต้อง เพราะการจดบันทึกจะช่วยให้เราไม่ใช้จ่ายจนเกินงบครับ

.

คำแนะนำ จาก aomMONEY

“ภาษีสังคม” เป็นสิ่งที่เราเลี่ยงไม่ได้ แต่ลดและควบคุมได้ เพียงแค่เรารู้จักการวางแผน กำหนดงบประมาณให้ดี และกล้าที่จะปฏิเสธบ้าง เพียงเท่านี้รอยรั่วทางการเงินของเราก็จะหายไป และมีความสุขในการทำงานมากขึ้นครับ

 

 


กล้วย