มุมมองการลงทุนไตรมาส 4 – Look for lows, but stay open-minded
By อิทธิพล ประสงค์ทรัพย์ ที่ปรึกษาด้านการลงทุนอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ จำกัด
นับตั้งแต่การประชุมธนาคารประจำปีที่ Jackson Hole ต่อเนื่องมาจนถึงการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ ครั้งล่าสุด การที่เฟดส่งสัญญานว่า ‘Let us get the job done’ และ ‘do whatever it takes to kill inflation’
นั่นคือสัญญานที่ชัดเจนว่าเฟดยังคงยืนกรานที่จะใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อ ส่งผลให้มุมมองการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ และรวมไปถึงธนาคารกลางอื่นๆ ด้วยนั้นยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ในกรณีของสหรัฐฯ ตลาดการเงินคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยจะวิ่งไปถึง 4.6% ภายในปีหน้า ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นจากการประชุมและคาดการณ์ครั้งก่อนหน้าไปมาก ส่งผลให้ตลาดการเงินทั้งตลาดพันธบัตร ตลาดตราสารหนี้ และสินทรัพย์เสี่ยงอย่างตลาดหุ้นนั้นปั่นป่วนอีกครั้ง โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯนั้นพุ่งขึ้นสู่ระดับ 4%
ขณะที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ นั้นกลับลงมาทดสอบจุดต่ำสุดของปีอีกครั้ง (ซึ่งเป็นไปตามที่นักวิเคราะห์ของ Julius Baer Group Co., Ltd (จูเลียสแบร์) เคยคาดการณ์ไว้) ทำให้นับเป็นการปรับตัวลงจากจุดสูงสุดของราคาสินทรัพย์หรือราคาหุ้นที่มากกว่า 20% หรือเข้าสู่ Bear Market เป็นครั้งที่ 2 ในปีนี้ โดยครั้งแรกเกิดขึ้นในช่วงกลางเดือนมิ.ย.
โดยปกติภาวะ Bear market หรือการปรับตัวลงของราคาสินทรัพย์หรือราคาหุ้นจากจุดสูงสุดที่มากกว่า 20% เป็นเหตุการณ์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย โดยในช่วง 70 ปีที่ผ่านมาดัชนีหุ้นสหรัฐฯ S&P500 เข้าสู่ภาวะ Bear Market ทั้งสิ้น 11 ครั้ง ก่อนที่จะกลับไปทำจุดสูงสุดใหม่ได้อีกครั้ง
ในหลายๆ ครั้งดัชนีสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วเช่นปี 2020 ที่เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 หรือ Black Monday ปี 1987 แต่ในกรณีอื่นเช่นฟองสบู่หุ้นดอทคอมในปี 2000 หรือวิกฤติการเงินปี 2008 ตลาดหุ้นจะอยู่ในภาวะ Bear Market ในระยะเวลาที่ยาวกว่าและทำให้ระดับราคาหุ้นลงมาอยู่ในระดับที่ถูกอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งภาวะ Bear Market แบบนี้เราจะเรียกว่า “Secular Bear Market”
ขณะที่ภาวะ Bear Market ที่เกิดขึ้นในช่วงสั้นๆ นั้นจะเรียกว่า “Cyclical Bear Market” ซึ่งการจะประเมินว่าภาวะตลาดนั้นอยู่ในภาวะตลาดหมีแบบใดนั้นเราสามารถดูจากการฟื้นตัวของตลาดซึ่งมักจะเกิดสิ่งที่เรียกว่า “Bear Market Rally” ที่ตลาดหุ้นมีการฟื้นตัวที่เร็วและแรงในระยะเวลาสั้นๆ โดยหลังจากที่ตลาดหุ้นเข้าสู่ภาวะ Bear Market ค่าเฉลี่ยของการฟื้นตัวจะอยู่ที่ประมาณ 12%
โดยใช้เวลามากกว่า 2 เดือน ก่อนที่ตลาดหุ้นจะปรับตัวลงไปทดสอบจุดต่ำสุดก่อนหน้า ถ้าตลาดหุ้นสามารถกลับมาฟื้นได้อีกครั้งจะเป็นสัญญานที่บอกว่าเป็น Cyclical Bear Market ซึ่งมีโอกาสที่จะกลับเข้าสู่แนวโน้มขาขึ้นรอบใหม่ในอัตราการเติบโตที่สูงขึ้นกว่าเดิม แต่ในทางตรงกันข้ามก็จะหมายถึงตลาดที่เป็นขาลงต่อเนื่อง และเรียกว่า Secular Bear Market ดังนั้นในช่วงที่เหลือของปีนี้จะเป็นจุดสำคัญที่อาจจะเป็นจุดเปลี่ยนแนวโน้มของตลาดการเงินได้เลย
ทั้งนี้ในมุมมองการลงทุนในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ เรายังคาดว่านักลงทุนยังคงให้ความสำคัญกับตัวเลขเงินเฟ้อและการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลาง ที่ผ่านมาตลาดได้คาดการณ์ว่าจะมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ในมุมมองของจูเลียสแบร์นั้นยังคงคาดการณ์ว่าเฟดน่าจะลดความ Hawkish ลง
จากการเริ่มปรับลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และรวมไปถึง Demand หรือความต้องการบริโภคที่จะชะลอลงจากความกังวลในภาวะเศรษฐกิจ ขณะที่ในภาคธุรกิจหรือบริษัทจดทะเบียนแม้จะได้เห็นการปรับลดคาดการณ์รายได้เป็นส่วนใหญ่ แต่อัตราส่วนความสามารถในการทำกำไรหรือ Profit margins ยังคงแข็งแกร่ง
โดยเฉพาะบริษัทที่มีลักษณะที่เป็น Quality company ซึ่งมีสถานะความเป็นผู้นำในตลาด ที่มีอำนาจต่อรองสูง สามารถที่จะผลักต้นทุนสินค้าไปที่ผู้บริโภคได้ บริษัทเหล่านี้ยังคงมีความแข็งแกร่ง จากปัจจัยดังกล่าวทำให้เราเชื่อว่าภายหลังจากที่ตลาดการเงินเกิดการ “Reset” ในเรื่องต้นทุนทางการเงินจากอัตราดอกเบี้ยแล้ว
ตลาดการเงินจะเข้าสู่จุดสมดุลใหม่ซึ่งแน่นอนว่าในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านแบบนี้ตลาดการเงินจะมีความผันผวน แต่เรายังอยากให้มองว่าในภาวะแบบนี้เป็นโอกาสในการลงทุนระยะยาว การคาดการณ์ผลตอบแทนจากการลงทุนนั้นสูงกว่าการประมาณการณ์ในช่วงต้นปีและค่าเฉลี่ยในรอบหลายปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ถ้าในระยะสั้นตัวเลขเงินเฟ้อเริ่มออกมาดีกว่าคาด (ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง) และมีการยุติการรบในยูเครนจะเป็น 2 ปัจจัยหลักที่อาจจะทำให้ตลาดการเงินมีการกลับตัวและปรับตัวสูงขึ้นได้ทันที อย่างไรก็ตามถ้าสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค พันธบัตรสหรัฐฯ ซึ่งปีนี้ราคาปรับตัวลงอย่างมาก จากอัตราผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้น พันธบัตรสหรัฐอาจจะกลับมา outperform ได้
แต่ถ้าเฟดสามารถจัดการเงินเฟ้อโดยหลีกเลี่ยงการถดถอยของเศรษฐกิจได้ก็จะเป็นเรื่องที่ดี ดังนั้นจนกว่าเราจะเห็นความชัดเจนในประเด็นเหล่านี้ เรายังคงแนะนำให้นักลงทุนระมัดระวัง และมีการป้องกันความเสี่ยงไว้เช่นเดิมและเตรียมตัวปรับพอร์ตหรือเข้าลงทุนในช่วงที่ตลาดอ่อนตัวเพื่อปรับพอร์ตสำหรับปี 2023
ซึ่งเรายังคาดหวังว่าภาวะ Bear Market ที่เกิดขึ้นในปีนี้นั้นจะไม่ลากยาวไปถึงปีหน้า ทั้งนี้การลงทุนมีความเสี่ยงผู้ที่สนใจจะลงทุนควรติดต่อเพื่อสอบถามและรับข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ผู้แนะนำการลงทุนของท่านเพื่อศึกษารายละเอียดและเฟ้นหาการลงทุนที่เหมาะสมกับท่าน