เทรดวันจันทร์ที่ 29 พ.ย. นี้ TNR หรือ บริษัท ไทยนิปปอนรับเบอร์อินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน) จะเป็นผู้ผลิตถุงยางอนามัยรายแรก ที่ประเดิมเข้าเทรดในตลาดหลักทรัพย์
1. TNR เป็นหุ้นที่ "ไม่มี" โครงการในอนาคต
2. TNR ระดมทุนเพื่อนำเงินส่วนใหญ่ไป "ชำระหนี้"
หนังสือชี้ชวน ระบุวัตถุประสงค์การใช้เงินจากการระดมทุนของ TNR ดังนี้
- เพื่อนำไปใช้ชำระคืนเงินกู้จากสถาบันการเงิน 400 ล้านบาท ภายในปี 2560
- เพื่อนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน 181.3 ล้านบาท ภายในปี 2560
3. เจ้าหนี้รายใหญ่ของ TNR คือ ธนาคารกสิกรไทย
หนังสือชี้ชวนระบุว่า หนึ่งในสถาบันการเงินดังกล่าว คือ ธนาคารกสิกรไทย ซึ่งถือหุ้นร้อยละ 99.99 ของบริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย เป็นที่ปรึกษาทางการเงินสำหรับการเสนอขายหุ้นสามัญของบริษัทฯ ในครั้งนี้
4. TNR เคยกู้เงินส่วนหนึ่งมาจ่ายปันผลก่อนขาย IPO
หนังสือชี้ชวนระบุว่า เงินกู้จากสถาบันการเงินดังกล่าวถูกนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนเพื่อรองรับการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ และเสริมสภาพคล่องในการดำเนินงานของบริษัทฯ รวมถึงการจ่ายเงินปันผลบางส่วน
โดย ณ วันที่ 30 กันยายน 2559 บริษัทฯ มียอดเงินกู้คงค้างกับ ธนาคารกสิกรไทย รวมจำนวนประมาณ 744.9 ล้านบาท ประกอบไปด้วย
(1) ตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 512.0 ล้านบาท
(2) สินเชื่อเพื่อการส่งออกจำนวน 172.4 ล้านบาท
(3) เงินกู้ยืมระยะยาวจำนวน 60.5 ล้านบาท
5. TNR เหลือกำไรสะสมแค่ 1 แสนบาท
หนังสือชี้ชวนระบุว่า TNR จ่ายปันผลถึง 5 ครั้ง ในช่วง 1 ปีก่อนขายหุ้น IPO โดยเป็นการจ่ายจากกำไรสะสม
ครั้งสุดท้ายที่จ่ายคือปันผลระหว่างกาลงวด 9 เดือน สิ้นสุด 30 ก.ย. 59 (ก่อนขาย IPO) คิดเป็นเงินทั้งสิ้น 115 ล้านบาท ส่งผลให้กำไรสะสมที่ยังไม่จัดสรรของบริษัทฯ ล่าสุด เหลือเพียง 0.1 ล้านบาท (1 แสนบาทนั่นเอง)
6. หนี้สินต่อทุน (D/E) ของ TNR พุ่งแตะ 3.4 เท่า
หนังสือชี้ชวนระบุว่า D/E ของ TNR ณ 30 กันยายน 2559 อยู่ที่ 2.4 เท่า แต่หลังจ่ายปันผลงวด 9 เดือนแล้ว จะอยู่ที่ 3.4 เท่า เนื่องจากส่วนผู้ถือหุ้นที่ลดลงจากการจ่ายเงินปันผล และ บริษัทฯ มีเงินกู้ยืมระยะสั้นจากสถาบันการเงินเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้แม้ว่า D/E ของบริษัทฯ จะเกินกว่าที่สถาบันการเงินกำหนด แต่บริษัทฯ ได้ขอผ่อนผันกับสถาบันการเงินและได้รับอนุญาตแล้ว
โดยเชื่อว่าอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ จะลดลงอย่างมีนัยสำคัญภายหลังจากการเสนอขายหุ้นต่อประชาชน
7. TNR ขายหุ้น IPO ทั้งหมด 75 ล้านหุ้น แต่บริษัทได้เงินแค่ครึ่งเดียว
เพราะหุ้นที่ขาย IPO เป็นหุ้นเพิ่มทุน 37.50 ล้านหุ้น หรือแค่ครึ่งเดียว อีกครึ่งหนึ่งเป็นหุ้นของผู้ถือหุ้นเดิมตระกูล "ดารารัตนโรจน์" ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้ง โดยถือในนาม THK Investment Company Limited
ราคา IPO หุ้นละ 16 บาท คิดเป็นมูลค่า 1,200 ล้านบาท บริษัทฯ ได้ 600 ล้านบาท ผู้ถือหุ้นเดิมเอาไป 600 ล้านบาท
8. TNR มีหุ้นเดิมที่ "ไม่ติด" ไซเรนต์ พีเรียด มากถึง 55%
หรือ 165 ล้านหุ้น จากหุ้นทั้งหมด 300 ล้านหุ้น หลังขาย IPO หมายความว่าหุ้นจำนวนนี้สามารถขายได้ทันทีหลังจากหุ้นเข้าเทรด ซึ่งเป็นหนึ่งในความเสี่ยงที่ระบุในหนังสือชี้ชวนว่า
"ความเสี่ยงจากการที่บริษัทฯ หรือผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทฯ ขายหุ้นภายหลังจากการเสนอขายหุ้นครั้งนี้ และการมีหุ้นของบริษัทฯ จำนวนมากเพื่อการขายอาจมีผลทำให้ราคาหุ้นของบริษัทฯ ลดลง"
9. ราคา IPO ของ TNR ที่ 16 บาท (พาร์ 1 บาท) คิดเป็น P/E ที่ 20.4 เท่า
โดยราคา IPO ได้มาจากการสำรวจความต้องการซื้อหลักทรัพย์ (Book Building) จากนักลงทุนสถาบันในประเทศ และไม่มี P/E บริษัทที่ทำธุรกิจเดียวกันอ้างอิง เพราะเป็นถุงยางอนามัยรายแรกที่เข้าตลาดหลักทรัพย์
10. TNR มีผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง แบ่งเป็น
- ธุรกิจผลิตและจำหน่ายถุงยางอนามัยและเจลหล่อลื่นภายใต้เครื่องหมายการค้า ‘Onetouch’ ซึ่งทำตลาดทั้งในไทยและต่างประเทศ สัดส่วนรายได้ 8%
- ธุรกิจรับจ้างผลิต (OEM) ถุงยางอนามัยและเจลหล่อลื่น สัดส่วนรายได้ 78% โดยรับจ้างผลิตให้แก่บริษัทเอกชนและองค์กรเอกชน (NGOs) ทั้งในไทยและต่างประเทศมากกว่า 100 ประเทศทั่วโลก รวมถึงได้รับจ้างผลิตถุงยางอนามัยให้กับ United Medical Devices ภายใต้เครื่องหมายการค้า PLAYBOY ทั่วโลกและเป็นผู้จัดจำหน่ายเพียงผู้เดียวในประเทศไทย
- ธุรกิจงานประมูล สัดส่วนรายได้ 14% โดยได้เข้าร่วมประมูลงานผลิตถุงยางอนามัยกับองค์กรภาครัฐและองค์กรเอกชนทั้งในและต่างประเทศ เพื่อนำไปแจกจ่ายตามภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งออเดอร์ในส่วนนี้จะเข้ามาเติมเต็มการใช้กำลังการผลิตและทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าต่อหน่วยลดลง
- สัดส่วนรายได้ใหญ่ 90-93% มาจากต่างประเทศในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ
11. ผลการดำเนินงาน 3 ปีย้อนหลังของ TNR เป็นดังนี้
รายได้
ปี 56 อยู่ที่ 1,053.20 ล้านบาท
ปี 57 อยู่ที่ 1,182.40 ล้านบาท
ปี 58 อยู่ที่ 1,302.20 ล้านบาท
กำไรสุทธิ
ปี 56 อยู่ที่ 96.5 ล้านบาท
ปี 57 อยู่ที่ 108.60 ล้านบาท
ปี 58 อยู่ที่ 234 ล้านบาท
ส่วนงวด 9 เดือนปี 59 มีรายได้ 934.20 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 158.10 ล้านบาท มีอัตรากำไรขั้นต้นปัจจุบันอยู่ที่ 29.2% และอัตรากำไรสุทธิ 16.9%
12. ฐานะการเงินงวด 9 เดือนปี 59
- สินทรัพย์ 1,362.80 ล้านบาท
- หนี้สิน 966.10 ล้านบาท
- ส่วนผู้ถือหุ้น 396.70 ล้านบาท
13. TNR มีเป้าหมายเพิ่มส่วนแบ่งตลาดถุงยางอนามัย ภายใต้แบรนด์ Onetouch ในประเทศไทยเป็น 35% ของตลาดรวมภายในปี 2563 จากเดิมที่มีส่วนแบ่งตลาด 20.6%
14. เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา TNR ได้เปิดตัวถุงยางอนามัยวันทัช ซีโร่ ซีโร่ ทรี (Onetouch 003) ซึ่งเป็นถุงยางอนามัยผิวเรียบ แบบบาง 0.03-0.038 มิลลิเมตร ที่มีความบางที่สุดเท่าที่บริษัทฯ เคยผลิต เพื่อตอบสนองกลุ่มลูกค้าเป้าหมายหลักอายุ 18-45 ปี ที่มีรายได้ปานกลางขึ้นไปและชื่นชอบถุงยางอนามัยที่บางพิเศษในราคาที่คุ้มค่า
15. TNR มีแผนจะเร่งขยายตลาดสู่ประเทศใหม่ ๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะทวีปเอเชียและแอฟริกา ที่มีความต้องการใช้สินค้าและโอกาสขยายตลาดได้อีกมาก ด้วยการแต่งตั้งผู้จัดจำหน่ายสินค้าในประเทศต่าง ๆ ที่มีศักยภาพและมีเครือข่ายร้านค้าเป็นจำนวนมากเพื่อกระจายสินค้าได้อย่างครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย
16. TNR ตั้งเป้าเป็นผู้นำธุรกิจผลิตและจำหน่ายถุงยางอนามัยและเจลหล่อลื่นภายใต้แบรนด์ Onetouch ในประเทศไทยและกลุ่มประเทศ CLMV ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาร์และเวียดนาม รวมถึงเป็นผู้นำธุรกิจรับจ้างผลิตถุงยางอนามัยและเจลหล่อลื่นระดับโลก
17. ปัจจุบัน TNR มีกำลังการผลิตติดตั้ง 1,959 ล้านชิ้นต่อปี จากโรงงาน 2 แห่ง ได้แก่ โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง มีกำลังการผลิตติดตั้ง 426 ล้านชิ้น และโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง จังหวัดชลบุรี มีกำลังการผลิตติดตั้ง 1,533 ล้านชิ้นต่อปี จึงถือเป็นผู้ผลิตถุงยางอนามัยจากน้ำยางธรรมชาติรายใหญ่ ที่มีกำลังการผลิตติดตั้งมากที่สุดของไทยและเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก
18. rubberjournalasia.com รายงานการวิเคราะห์ตลาดถุงยางอนามัยโลกในรูปของรายได้ และปริมาณ จะเติบโตเฉลี่ย 9.28% และ 9.07% ตามลำดับในระหว่างปี 2558 - 2562
หนังสือชี้ชวนฉบับเต็ม
http://market.sec.or.th/public/ipos/IPOSEQ01.aspx…
ที่มา: efinance.com