เมื่อเราโตขึ้น เราจะรู้ถึง "ความสำคัญ" ของเงินมากขึ้น ยิ่งเมื่อเราเริ่มต้นทำงาน มีเงินเดือน เงินเก็บได้สักพัก เราจะนึกถึงการลงทุนในแบบต่าง ๆ เพราะเราทุกคนอยากมีชีวิตที่มั่นคงและมั่งคั่ง
ซึ่งแท้จริงแล้ว "นิสัย" การออมเงินไม่ใช่เรื่องที่ใคร ๆ ก็เปลี่ยนได้ในชั่วข้ามคืน เพราะมันขัดกับ "ความอยากมี-อยากได้" ที่เราเป็น เช่น...
เงินเดือนออกทั้งทีก็อยากช้อปปิ้งหน่อย หรือผู้ชายหลายคนที่ชื่นชอบการแต่งรถ หรือแม้แต่อยากได้รถคันใหม่ที่ดีและมีฟังก์ชั่นกว่าคันเก่า หรือเห็นเขามี เราก็อยากมีด้วย ฯลฯ
คำถามที่มักเจอบ่อย ๆ คือ "เมื่อไรถึงต้องออมล่ะ" หรือ "จะออมได้ไง...เงินจะใช้ยังไม่พอ" ไปจนถึงคำถามที่ลงรายละเอียดที่ว่า ต้องอายุเท่าไร ต้องทำงานมาแล้วกี่ปี หรือถ้าเป็นหนี้อยู่จะออมได้ไหม ฯลฯ
วันนี้ผมจึงมี "เคล็ดลับ" ของการออมมาฝาก 3 ข้อด้วยกันครับ
นั่นคือ...
1.ออมได้เลย
2.ออมได้เลยยยยย
3.ออมได้เลยยยยยยยยยย
ใช่แล้วครับ ...เราออมได้เลย เพราะเหตุผลที่คนส่วนมากออมไม่ได้ มันเป็นเพราะเราไม่มีวินัยในการใช้จ่ายต่างหาก บางคนชอบทำตัวใหญ่กว่าเงินในกระเป๋าตลอด ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย กู้หนี้ยืมสินเพื่อมาซื้อของที่ไม่จำเป็น หรือบางคนก็ไม่อดทนต่อ "สิ่งเร้า" ที่เข้ามาในชีวิต
คุณตอบคำถามตัวเองได้ว่า "คุณมีวินัยทางการเงินมากพอหรือยัง" ถ้าคุณพยายามถึงเต็มที่แล้วยังไม่มีเงินออม คุณถึงจะยอมแพ้ครับ แต่ถ้ายังไม่เริ่มต้นหรือมุ่งมั่นจริง ๆ อย่าเพิ่งหา "ข้ออ้าง"
1.เริ่มต้นจากวันละ 1 บาท
เวลาพูดถึงเงินออม หลาย ๆ คนจะคิดว่าต้องมีเงินขั้นต่ำสิถึงจะออมได้ อย่างน้อยก็ 2,000, 5,000 หรือ 10,000 บาท ซึ่งการ "ตั้งเป้าหมาย" เพื่อออมเป็นสิ่งที่ดี แต่อีกด้านหนึ่งก็เป็นข้อจำกัดที่ทำให้เราไม่ได้ออมเลย
งั้นลองเริ่มต้นออมแค่วันละ 1 บาทครับ
นี่คือจำนวนเงินขั้นต่ำที่คุณทำได้เลย แค่วันละ 1 บาท ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นที่เราก็สามารถออมเพิ่มได้มากขึ้นแล้ว เพราะนั่นก็คือว่าเราได้ก้าวข้ามข้ออ้างต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคในชีวิตไปแล้ว
2.ตัดค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือย
ค่าใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือยคือค่าใช้จ่ายที่ประหยัดได้ ยกตัวอย่างเช่น ค่ารถแท็กซี่ ถ้าเราสามารถเดินทางด้วยรถเมล์และไม่ลำบากนัก ค่าโทรศัพท์มือถือที่เกินความจำเป็น ถ้าเรามีช่องทางอย่างอื่นที่สามารถสื่อสารกันได้ หรือค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยอื่น ๆ ที่เราเสียไปทุกเดือนแต่ไม่รู้ เช่น ค่าเมมเบอร์ฟิตเนส ที่นาน ๆ ครั้งไปที หรือไปก็ไม่ได้ออกกำลังกาย แค่ไปถ่ายรูปอัพไอจี หรือข้าวของเครื่องใช้ที่เราสอยมาเมื่อห้างประกาศลดราคากระหน่ำ แต่ซื้อมาก็ใช้ไม่ทัน แถมของบางอย่างก็มีวันหมดอายุด้วยสิ (นี่มันชีวิตจริงชัด ๆ)
3.เริ่มต้นไว ถึงเป้าหมายได้เร็วขึ้น
แน่นอนว่า ถ้า "เริ่มต้นไว" มันจะทำให้เราถึงเป้าหมายได้เร็วมากขึ้น
เช่น ถ้าคุณเริ่มออมเร็วเมื่ออายุ 20 ปี มีระยะเวลาการลงทุนเหลือ 40 ปี ที่อัตราผลตอบแทน 8% ต่อปี คุณสามารถบรรลุเป้าหมาย 5 ล้านบาท ตอนอายุ 60 ปี ด้วยการเก็บเงินเพียงเดือนละประมาณ 1,600 บาทเท่านั้น แต่ถ้าคุณเริ่มออมช้าไปเริ่มต้นตอนอายุ 50 ปี เหลือระยะเวลาลงทุนแค่ 10 ปี ด้วยผลตอบแทนที่เท่ากัน คือ 8% ต่อปี คุณต้องออมถึงเดือนละประมาณ 28,000 บาท เพื่อบรรลุเป้าหมาย เรียกได้ว่าต้องเพิ่มเงินอีกหลายเท่าจึงจะบรรลุเป้าหมายได้
http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1485419242