COM7 ธุรกิจปี 60 ยังเป็นขาขึ้น! ชี้ราคาอ่อนตัวเป็นโอกาสช้อนหุ้น
COM7 ธุรกิจปี 60 ยังเป็นขาขึ้น! โบรกฯมองหุ้นอ่อนตัวเป็นโอกาสเข้าซื้อ ชูเป้าสูงเกิน 14 บาท พร้อมอัพไซด์เด่น
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาหุ้น บริษัท คอมเซเว่น จำกัด (มหาชน) หรือ COM7 อ่อนตัวลงแรงหลังรับข่าวลือ Apple Inc. จะเข้ามาเปิด Apple Retail Store ในไทย ส่งผลให้นักลงทุนเกิดความกังวลว่าธุรกิจจะเกิดการแข่งขันสูงขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยลบต่อราคาหุ้น อย่างไรก็ตามจากการศึกษาข้อมูลหาก Apple เปิดร้านในไทยจริงกลับมองว่าจะเป็นปัจจัยบวกต่อ COM7 มากกว่าคือ
การเข้ามาของ Apple Retail Store เชื่อว่ามิใช่การ รุกธุรกิจค้าปลีก แต่น่าจะเน้น ไปในด้านกิจกรรมเพื่อสร้าง Brand ให้แข็งแกร่ง โดยเฉพาะกิจกรรมในการเสริมสร้างภาพลักษณ์ของ Brand ซึ่งจะสร้างผลบวกต่อ Brand Loyalty อันเป็นผลดีในระยะยาว อ้างอิงจาก Apple Retail Store ที่เปิดดำเนินการในประเทศแถบเอเชีย
ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ราคาหุ้น COM7 เกิดการ Panic ช่วงสั้น แต่นั้นถือเป็นโอกาสที่นักลงทุนจะได้ช้อนหุ้นอีกครั้งเพราะอย่าลืมว่า COM7 ถือเป็นหุ้นที่มีการเติบโตโดดเด่นและมีปัจจัยบวกเข้ามาสนับสนุนหลายทาง อาทิ ผลการดำเนินงานไตรมาส 4/59 คาดกำไรจะโตกระฉูดจากยอดขาย iPhone7 & iPhone7 Plus ขณะเดียวกันการเข้าเทคโอเวอร์ BKK จำนวน44 สาขา ถือเป็นแรงหนุนให้ยอดขายของบริษัทโตสนั่นอีกทาง
ไม่เพียงเท่านั้นภายหลังการเข้าบริหาร TRUE Shop ภายใต้ชื่อ "TRUE by COMSEVEN" ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 2559 โดยได้รับสิทธิ 166 สาขา ซึ่งอยู่ในห้างสรรพสินค้า Big C และ Tesco Lotus เชื่อว่าธุรกิจดังกล่าวจะเริ่มมีกำไรตั้งแต่ไตรมาส1/60 ตรงนี้น่าจะเป็นแรงหนุนให้ธุรกิจ COM7 ยังเป็นขาขึ้นอย่างงดงาม ขณะที่ราคาหุ้นร่วงหล่นมาถือเป็นโอกาสในการช้อนซื้ออีกครั้ง
บล.เอเซีย พลัส ระบุในบทวิเคราะห์ว่า คาดกำไรงวดไตรมาส 4/59 อยู่ที่ 140 ล้านบาท (+54%ไตรมาสก่อนหน้า, +33%เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน) ทำนิวไฮต่อเนื่อง จาก iPhone7 & iPhone 7 Plus ที่เปิดตัวในช่วง ไตรมาส 4/59 มีกระแสตอบรับดีเยี่ยม บวกกับการซื้อ iPhone จาก Apple โดยตรง คาดว่า Gross margin จะเติบโตราว 130 bps ประกอบกับการขาย SIM และการเข้าบริหาร ทรูช็อป ช่วยหนุนรายได้เติบโต 15%เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนและ Net margin เพิ่มขึ้น เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนราว 40 bps
COM7 เข้าซื้อสินทรัพย์ของ บ.บางกอก เทเลคอม 999 จก. โดยลงทุน 184 ล้านบาท ซื้อแบรนด์และทรัพย์สินของ BKK กว่า 44 สาขา คาดจะรับโอนและเข้าทำธุรกิจขายสินค้ามือถือ แทบเล็ต และอุปกรณ์สื่อสารภายใต้ชื่อ "BKK" เสร็จสิ้นภายใน 1Q60 นับเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เนื่องจากคิดเป็นเงินลงทุน 4.2 ล้านบาท/สาขา จากปกติ COM7 จะต้องใช้เงินลงทุน 5-7.5 ล้านบาท/สาขา โดยจำนวนร้านที่ซื้อมาคิดเป็น 16% ของจำนวนสาขาทุกรูปแบบของ COM7 ที่มีอยู่ 275 สาขา ทั้งนี้ เชื่อว่า BKK ทุกสาขาที่ซื้อมาสร้างกำไรได้ทันที อย่างไรก็ตามฝ่ายวิจัยยังรอการเปิดเผยข้อมูลจากผู้บริหารอย่างเป็นทางการก่อนที่จะปรับประมาณการและเพิ่ม Fair Value
อีกทั้งหลังจากเริ่มเข้าบริหาร TRUE Shop ภายใต้ชื่อ "TRUE by COMSEVEN" ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 2559 โดยได้รับสิทธิ 166 สาขา ซึ่งอยู่ในห้างสรรพสินค้า Big C และ Tesco Lotus ฝ่ายวิจัยเชื่อว่าธุรกิจดังกล่าวจะเริ่มมีกำไรตั้งแต่ 1Q60 จากจำนวนสาขาที่เข้าบริหารมีมากขึ้น (ณ สิ้นปี 2559 เข้าบริหารแล้วราว 44 สาขา คาดสิ้นปี 2560 จะบริหารครบ 166 สาขา) ภายใต้สมมติฐานกำไรสาขาละ 6 หมื่นบาท/เดือน นอกจากนี้ COM7 ยังมีส่วนแบ่งรายได้จากค่าบริการรายเดือนจากการขาย SIM พร้อม package ให้ TRUE แบบ Exclusive เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และคาดรูปแบบโมเดลนี้จะใช้กับร้าน BKK ด้วย
ส่วนราคา COM7 ลดลงกว่า 8% ใน 7 วันที่ผ่านมา จากข่าวลือว่า Apple Inc. จะเข้ามาเปิด Apple Retail Store ในไทย ซึ่งนักลงทุนกังวลว่าทำให้การแข่งขันสูงขึ้น เป็นปัจจัยลบต่อราคาหุ้น อย่างไรก็ตามจากการศึกษาข้อมูลหาก Apple เปิดร้านในไทยจริง กลับจะเป็นปัจจัยบวกต่อ COM7 มากกว่า ขณะที่คาดกำไรปีนี้ยังไม่รวมผลบวกจาก BKK จะเติบโต 24% อีกทั้งราคาหุ้น Panic Sell ระยะสั้น หลังมีข่าวลือดังกล่าว จนมีอัพไซด์ถึง 15.7% เป็นโอกาสเข้า "ซื้อ" สยบข่าวลือ แนะนำซื้อราคาเป้าหมาย 14.00 บาท
บล.เคจีไอ ระบุในบทวิเคราะห์ว่า COM7 (เป้า Consensus 14.5 บาท) ระยะสั้น คาดแนวโน้ม Earnings momentum เป็นบวกต่อเนื่อง โดยคาดไตรมาส 4/59 กำไรจะโตเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนและเทียบไตรมาสก่อนหน้า(High season+ช้อปช่วยชาติ+สินค้าใหม่ๆ) ขณะที่แนวโน้มกำไรไตรมาส 1/60 จะโต เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน(สาขาเพิ่ม + เริ่มรับรู้รายได้ Bangkok Telecom 999 เข้ามาในงบฯ) แต่อาจอ่อนตัวเทียบไตรมาสก่อนหน้า(พ้นมาตรการช้อบช่วยชาติ)
ระยะกลาง - ยาว คาดแนวโน้มอุตสาหกรรมค้าปลีกไอทีเป็นขาขึ้นใน 1 - 2 ปีนี้ จาก i) ลดสงครามราคาของผู้ประกอบการฯ ii) การสนับสนุนจากภาครัฐฯ ด้วยนโยบายไทยแลนด์ 4.0 คาดจะหนุนความต้องการสินค้าไอที 4) Valuation ไม่แพงด้วย PEG 0.95 เท่า (CAGR 31.7% 2559 - 61) เทียบกับ PEG เฉลี่ยกลุ่มค้าปลีกที่ 2.2 เท่า (CPALL* 2.25x, ROBINS* 2.27x, HMPRO* 3.20x, GLOBAL* 2.95x, BIG* 1.49x) ข้อมูล Bloomberg consensus
บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส ระบุในบทวิเคราะห์ว่า เมื่อวันที่ 27 ม.ค.60 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พรบ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 44) พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้แล้ว ใจความสำคัญคือ คนเงินเดือน 2.6 หมื่นบาท ไม่ต้องเสียภาษี จากเดิม 20,000 บาท ค่าลดหย่อนสำหรับผู้มีเงินได้ จากเดิม 30,000 บาทเป็น 60,000 บาท หักลดหย่อนภาษีคู่สมรสที่มีเงินได้ 6 หมื่นบาท บุตรได้คนละ 3 หมื่นบาท บุตรบุญธรรมคนละ 3 หมื่นบาท แต่รวมกันไม่เกิน 3 คน ปรับปรุงขั้นเงินได้และบัญชีอัตราภาษี
ผลกระทบ: เป็นบวก ทำให้รายได้คนชั้นกลาง มีเงินไปจับจ่ายใช้สอยได้มากขึ้น ถือเป็นมาตรการจากภาครัฐที่ออกมากระตุ้นการบริโภคของภาคประชาชน นอกจากมาตรการ ช็อปช่วยชาติ การท่องเที่ยว การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และจ่ายเงินช่วยเหลือให้ผู้มีรายได้น้อย แม้ว่ารัฐจะต้องสูญเสียรายได้เพิ่มปีละ 32 พันล้านบาทก็ตาม อย่างไรก็ตามการเห็นผลจะล่าช้าไปบ้าง เพราะปกติจะเสียภาษีช้าไปจากปีภาษี คือ ปีที่มีรายได้คือ 2560 แต่ไปยื่นภาษีภายใน มี.ค.61อย่างไรก็ตามถือว่าประชาชนจะมีรายได้สุทธิเพิ่มขึ้นนั่นเอง
หลักทรัพย์ที่ได้ประโยชน์นอกจากกลุ่มค้าปลีกหรือพาณิชย์ (Commerce) เช่น BIGC, ROBINS, BIG, COM7, IT, JMART และ CPALL แล้ว หลักทรัพย์อื่นๆที่เข้าข่ายได้ประโยชน์ เช่น ธุรกิจอาหารจานด่วน เช่น MINT และ CENTEL ก็ได้รับประโยชน์ หลักทรัพย์ SPA ก็ได้รับประโยชน์เป็นต้น
ที่มา..