เราหมกมุ่นกับข้อมูลระยะสั้นมากเกินไปหรือเปล่า?
ช่วงนี้ตลาดมีความผันผวนที่ค่อนข้างรุนแรงมาก แผนและวินัยการลงทุนเป็นสิ่งเดียวที่จะช่วยให้เราอยู่รอดได้
ดึงสติ ถามตัวเองดูว่า เราเป็นนักลงทุนหรือนักเก็งกำไรประเภทไหน เป็นระยะสั้น กลาง หรือยาว แล้วเรามีการตัดสินใจซื้อขายด้วย”ข้อมูล” ที่เหมาะสมแล้วหรือยัง ?
นักลงทุนต่างกระหายในข้อมูล เพราะมันช่วยทำให้พวกเขาแยกแยะได้ว่า อะไรคือเรื่องเล่าโคมลอย อะไรมีหลักฐานยืนยันและเป็นเรื่องจริง หรืออะไรเป็นเพียงความตื่นตระหนกและความเห็นส่วนบุคคล
แน่นอนว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับนักลงทุนส่วนใหญ่ คือ การไปจดจ่อกับสิ่งที่เห็น ณ ปัจจุบัน ด้วยช่วงเวลาที่สั้นมากๆ จนแทบจะเป็น ‘tick-by-tick’ เลยก็ว่าได้
Recency Effect
วิชาเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม เรียกปรากฎการณ์นี้ว่า ‘recency effect’ หรือพูดง่ายๆ คือ มนุษย์เรามีแนวโน้มที่จะหมกมุ่นอยู่กับการวิเคราะห์เหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้น หรือข้อมูลที่เพิ่งถูกเผยแพร่ แต่กลับไม่ค่อยสนใจมองสถานการณ์นั้นๆ แบบเป็นภาพต่อๆ กันในระยะที่ยาวขึ้น (longer-term series)
ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด คงหนีไม่พ้น ตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐฯ หรือที่เราคุ้นกันดีในชื่อ nonfarm payrolls (NFP) ซึ่งหากท่านเป็นคนในวงการ ก็น่าจะพอรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลที่ค่อนข้างเหวี่ยงมาก มีความไม่แม่นยำในหลายจุด อีกทั้ง มักมีการย้อนกลับไปปรับแก้ข้อมูลหลังการประกาศอีก !
ในกรณีแบบนี้ หากนักลงทุนเอาใจไปจดจ่อกับข้อมูลที่ออกมาในแต่ละเดือนเพียงอย่างเดียว ก็จะกลายเป็นการเทรดแบบไม่มีหลักยึดซะเท่าไร พูดในทางสถิติ ก็คือ แต่ละจุดถือจะเป็นเพียง statistical noise ที่คือค่า random ไม่ต่างจากการโยนเหรียญ ดังนั้น ไม่ได้มีความหมายสำคัญอะไรเลยในเชิงปัจจัยพื้นฐาน
ยกตัวอย่างเช่น ตัวเลข NFP ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ที่ออกมาเพิ่มขึ้นเพียง 38,000 ตำแหน่ง (จากที่ตลาดคาดไว้ที่กว่า 160,000 ตำแหน่ง) ทำให้นักวิเคราะห์และนักลงทุนต่างพากันวิตกกังวลว่าสหรัฐฯ กำลังจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (recession) และเสนอข่าวรัวๆ ว่า Fed คงไม่สามารถขึ้นดอกเบี้ยได้ไปอีกนาน
แค่ไม่ถึง 1 เดือนต่อมา ทุกคนต่างพากันกลับลำ ลืมสิ่งที่เคยพูดไว้โดยสิ้นเชิง เมื่อเห็นตัวเลข NFP เดือนมิถุนายน ออกมาดีถึงกว่า 287,000 ตำแหน่ง
คุณคิดว่าเป็นไปได้หรือที่เศรษฐกิจจะพลิกจากหน้ามือเป็นหลังเท้าได้ถึงเพียงนี้ !?!?
กลับมาในมุมของนักลงทุนบ้านเรา ถามว่า ราคาของหุ้นแต่ละตัว (price) ที่มีการเคลื่อนไหว เรามีวิธีการแยก “ข้อมูลที่แท้จริง” กับ statistical noise ให้ออกจากกันนี้ทำอย่างไร ?
จริงๆ แล้วไม่ใช่อะไรที่แปลกใหม่เลยเสียทีเดียว หลายคนก็ใช้ แต่อาจจะยังไม่เข้าใจความหมายที่แท้จริง กล่าวคือ ราคาของหุ้นแต่ละตัวสามารถแยกออกได้เป็น
Price = Trend + Noise
ข้อมูลที่แท้จริง แสดงในรูป Trend ของราคา ซึ่งเกิดจากการพิจารณาราคา ณ ปัจจุบัน รวมถึงราคาย้อนหลังในอดีต
ยกตัวอย่างเช่น Trend ในระบบของคุณอาจจะอ้างอิงจากราคาค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 10 วัน 50 วัน 100 วัน หรือ 200 วัน ขึ้นอยู่กันว่าคุณเป็นนักลงทุนในระยะสั้น กลาง หรือ ยาว
ในขณะที่ Noise คือ ส่วนต่างของราคา ณ ปัจจุบัน เทียบกับ Trend ซึ่งในทางสถิติแล้ว
- เมื่อ noise > 0 นั่นหมายถึง ราคาหุ้น ณ ปัจจุบันเคลื่อนไหวอยู่ในระดับที่สูงเกินที่ควรจะเป็น ในขณะที่
- เมื่อ noise < 0 นั่นหมายถึง ราคาหุ้น ณ ปัจจุบันเคลื่อนไหวอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น
การที่เราจะตัดสินใจซื้อหรือขาย ต้องพิจารณาจากการเปลี่ยนแปลงของ Trend ไม่ใช่จากระดับความผันผวนของ Noise
สิ่งที่ก่อนให้เกิดความผันผวนอย่างรุนแรง ณ ปัจจุบัน อย่าคาดเคาเลยครับว่ามันเป็นเพียงข่าวโคมลอย หรือเรื่องจริง แต่เมื่อใดก็ตามที่ขนาดการเคลื่อนที่ลงของราคามันแรงมากพอจนทำให้ทิศทางของ Trend มีการเปลี่ยนแปลง เราค่อยทำการตัดสินใจ ณ จุดนั้น
สรุป
มนุษย์อาจต้องใช้เวลาและประสบการณ์หลายปี ในการฝึกฝนจิตใจให้แข็งแกร่ง เทรดอย่างมีวินัย และไม่เหน็ดเหนื่อย
ข้อดีของการให้โรบอทเทรดให้คือ มันไม่มีอารมณ์ มันไม่หมกมุ่น ไม่สนใจข่าวลือข่าวปล่อย และมันแยก Noise ออกจาก Trend ได้อย่างชัดเจน
โลกของ Artificial Intelligence และโรบอทในตลาดหุ้น เป็นกระแสที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดและยังไปได้อีกไกล
และอย่างที่ แจ๊ด หม่า พูดไว้เมื่อเขามาเมืองไทยเมื่อเร็วๆนี้ว่า “จงอย่ากลัว A.I. แต่จงใช้ประโยชน์จากมัน”
ขอบคุณที่มาเนื้อหาจาก