ขณะที่จ้าวอวกาศรายอื่นได้แก่ สหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น และอินเดีย กำลังเตรียมส่งภารกิจอวกาศ ภารกิจยานสำรวจดวงจันทร์ฉังเอ๋อของจีน ก็ได้รุดหน้าไปหลายขุม โดยส่งดาวเทียมสองดวง และยานโรเวอร์ หรือรถสำรวจที่ไร้คนบังคับลงจอดดวงจันทร์แล้ว
ทำไมจีนเลือกชื่อ “ฉังเอ๋อ” สำหรับโครงการสำรวจดวงจันทร์
ฉังเอ๋อ (嫦娥) เป็นชื่อเทพธิดาแห่งจันทราจากตำนานปรัมปราจีน ซึ่งมีหลายเวอร์ชั่น ฉังเอ๋อได้ประทับที่ดวงจันทร์กับกระต่าย อี้ว์ทู่ (玉兔)หรือกระต่ายหยก
ฉังเอ๋อเป็นเทพธิดาประจำเทศกาลไหว้พระจันทร์ ที่จีนเรียก “เทศกาลกลางฤดูใบไม้ร่วง” ตามตำนานเล่าขานว่า กลางฤดูใบไม้ร่วงนี้ โฮ่วอี้สามีของฉังเอ๋อ นำขนมและผลไม้มาสักการะรำลึกถึงนาง
ตำนานที่ถูกเล่าขานมากที่สุด คือเรื่องฉังเอ๋อดื่มน้ำอมฤตและลอยไปสถิตบนดวงจันทร์ ในกาลครั้งนั้น เมื่อหลายพันปีที่แล้ว มีดวงอาทิตย์ 10 ดวง โฮ่วอี้ นักแม่นธนู ที่ทรงพละกำลังมหาศาล ได้ยิงธนูสอยดวงอาทิตย์ร่วงไปเก้าดวงจนเหลือเพียงหนึ่งดวง เพื่อช่วยประชาชนพ้นจากภัยร้อนแผดเผาของดวงตะวันทั้งสิบ เหล่าทวยเทพประทานน้ำอมฤตเป็นรางวัลแก่โฮ่วอี้ และเขาก็มอบต่อให้ฉังเอ๋อ วันหนึ่งปิศาจเฝิงเมิงได้บุกมาที่บ้านของฉังเอ๋อในตอนที่โฮ่วอี้ไม่อยู่เพื่อชิงน้ำอมฤต
ฉังเอ๋อจึงต้องดื่มน้ำอมฤตนั้นเสียเองเพื่อมิให้เฝิงเมิงชิงเอาไป พลันนางก็ลอยสู่ท้องฟ้า พร้อมกับอุ้มกระต่ายสัตว์เลี้ยงของนางไปด้วย และได้มาสถิต ณ ดวงจันทร์
ระหว่างภารกิจ อะพอลโล 11 ปี ค.ศ.1969 เจ้าหน้าที่จากสำนักงานใหญ่นาซาของสหรัฐฯได้เล่าตำนานฉังเอ๋อให้แก่นักบินอวกาศที่โคจรรอบดวงจันทร์ และบอกให้พวกเขามองหา “เทพธิดาและกระต่ายตัวโต”
“สะพานนกกางเขน” อยู่ที่ไหน
เชวี่ยเฉียว(鹊桥)แปลว่า สะพานนกกางเขน เป็นชื่อดาวเทียมส่งข้อมูลสื่อสาร ในเรื่องปรัมปราจีน สะพานนกกางเขนนี้เป็นที่พบปะของคู่รักหนุ่มเลี้ยงวัว (หนิวหลัง)และเทพธิดาทอผ้า (จือหนี่ว์)ที่พรากจากกัน เหตุเพราะเจ้าแม่หวังซีหมู่ผู้เป็นมารดาของสาวทอผ้าโกรธที่ธิดาของตนไปแต่งงานกับมนุษย์ จึงสาปให้ทั้งสองพรากจากกันไปอยู่คนละฟากของทางช้างเผือกตลอดไป ต่อมาพวกเขาได้รับอนุญาตให้มาพบกันได้ปีละครั้งในวันที่เจ็ดเดือนเจ็ดที่สะพานนกกางเขน ซึ่งเกิดจากนกกางเขนนับพันๆตัวมารวมตัวกันเพื่อต่อตัวเป็นสะพานสำหรับให้คู่รักมาพบกันที่กึ่งกลางของสะพาน
ในตำราดาราศาสตร์จีน มีดาวสองดวงที่สว่างสุกใสที่สุด ถูกตั้งชื่อตามชื่อคู่รักนี้ ดาวอัลแทร์(Altair)ในกลุ่มดาวตานกอินทรี คือหนุ่มเลี้ยงวัว และดาววีกา (Vega) ในกลุ่มดาวพิณ (Lyra) ถูกตั้งชื่อตามชื่อสาวทอผ้า
การตั้งชื่อดาวเทียมสื่อสารนี้ เป็นการเน้นย้ำถึงอุปสรรคใหญ่ของยานโรเวอร์จในการจอดลงที่ด้านไกลของดวงจันทร์ เนื่องจากยานไม่สามารถสื่อสารโดยตรงกับโลก จนกระทั่งดาวเทียมเชวี่ยเฉียวถูกส่งขึ้นไปในเดือนพ.ค.ที่ผ่านมาจึงแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้
ดาวเทียมเชวี่ยเฉียวปฏิบัติการ ณ บริเวณที่ห่างจากโลกประมาณ 400,000 กิโลเมตร ทำหน้าที่ส่งสัญญาณจากพื้นโลกไปยังยานลงจอดและยานโรเวอร์บนดวงจันทร์ และรับสัญญาณจากยานฯบนดวงจันทร์ไปยังพื้นโลก
การสำรวจดวงจันทร์เริ่มมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1959 โดยมีสองมหาอำนาจอดีตสหภาพโซเวียตและสหรัฐฯเป็นผู้บุกเบิกประชันกันประกาศศักดาจ้าวอวกาศ และค่อยๆซาลงในทศวรรษที่ 1990 เมื่อยานสำรวจดวงจันทร์ลำแรกของญี่ปุ่น Hagoromo ไม่สามารถติดต่อกับศูนย์ควบคุมได้
จนกระทั่งในปี 2004 จีนได้ตัดสินใจเริ่มโครงการสำรวจดวงจันทร์
“ในตอนนั้นมีการถกเถียงกันหลายต่อหลายครั้งว่าจีนควรที่จะทุ่มเทเวลาและเงินทองไปกับการสำรวจดวงจันทร์หรือไม่ ในที่สุดคณะมุขมนตรีก็รับรองแผนสำรวจดวงจันทร์ในปี 2004 หลังจากที่พวกเราได้ศึกษาเรื่องนี้นานถึง 10 ปี” โอวหยัง จื้อหยวน หัวหน้าทีมนักวิทยาศาสตร์ในโครงการสำรวจอวกาศและดวงจันทร์แห่งจีน (China’s Lunar and Deep Space Exploration) ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว ซีซีทีวี
จีนได้ส่งฉังเอ๋อ 1 ขึ้นสู่อวกาศในปี 2007 แผนสำรวจดวงจันทร์แบ่งเป็น 3 เฟส ได้แก่ การโคจรรอบดวงจันทร์, การลงจอดและการสำรวจดวงจันทร์, และการลงจอดและการกลับสู่โลกพร้อมด้วยตัวอย่างจากดวงจันทร์
ฉังเอ๋อ 4 ไปทำอะไรบนดวงจันทร์?
คณะบริหารอวกาศแห่งจีน(China National Space Administration ชื่อย่อCNSA) ระบุว่าภารกิจฉังเอ๋อ 4 จะเผยความลี้ลับบริเวณด้านไกลของดวงจันทร์ ซึ่งมิอาจมองเห็นจากโลก พร้อมกับเปิดบทตอนใหม่ของการสำรวจดวงจันทร์
อู๋ เหว่ยเหริน หัวหน้าทีมนักวิทยาศาสตร์ของโครงการฉังเอ๋อ 4 กล่าวระหว่างให้สัมภาษณ์กับซีซีทีวี แม้จีนได้ทุ่มเทอย่างมหาศาลในการก้าวขึ้นมาเป็นจ้าวอวกาศ และภารกิจฉังเอ๋อ 4 ถือเป็นความสำเร็จครั้งหลักหมาย แต่การลงจอดดวงจันทร์เป็นเพียงจุดเริ่มต้น ก้าวต่อไปคือ การปล่อยโรเวอร์ (รถสำรวจ) ออกสำรวจพื้นที่รอบๆ ยิงสัญญาณเรดาร์สแกนดิน (ground penetration radar) เพื่อทำแผนที่โครงสร้างชั้นในของดวงจันทร์ ทำการวิเคราะห์ตัวอย่างหินและดินเพื่อค้นหาแร่ธาตุและสารเคมีที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ ใช้กล้องโทรทรรศน์วิทยุค้นหาสัญญาณจากห้วงจักรวาลที่ห่างไกลออกไป
การสำรวจครั้งนี้ยังได้นำกระป๋องบรรจุอากาศ ดิน น้ำ และแบคทีเรีย ไข่ตัวไหม เมล็ดต้นดอกไม้เล็กๆ และเมล็ดมันฝรั่ง โดยนักวิทยาศาสตร์หวังว่าระบบนิเวศเล็กๆนี้จะสามารถสร้างชีวิตบนดวงจันทร์ในช่วงสามเดือนหรือไม่
ก้าวต่อไป?
ขณะนี้ ปฏิบัติการสำรวจดวงจันทร์เฟสที่สองของจีนใกล้เสร็จสิ้นแล้ว ได้แก่ การลงจอดและการสำรวจ ภารกิจอันดับต่อไปคือ ฉังเอ๋อ 5 ซึ่งมีเป้าหมายส่งยานอวกาศที่สามารถลงจอดดวงจันทร์ เก็บตัวอย่าง และกลับมายังโลกภายในปี 2020