ห้องเม่าปีกเหล็ก

'ตัดดอกไม้ รดน้ำวัชพืช' จนกลายเป็น VI จำเป็น

โดย dave
เผยแพร่ :
61 views

'ตัดดอกไม้ รดน้ำวัชพืช' จนกลายเป็น VI จำเป็น : 2 อย่างที่ต้องทำ เพื่อเลิกเป็น VI ที่ Cut Loss ไม่เป็น

.

.เคยไหมครับที่คุณขายหุ้นแล้วพบว่าหุ้นนั้นราคาวิ่งต่อไปเรื่อยๆ จนอดรู้สึกเสียดายไม่ได้ ในทางกลับกัน หุ้นที่ราคาลดลงเรื่อยๆ กลับยังกอดเก็บไว้ในพอร์ตด้วยความหวังลึกๆ ว่า "เดี๋ยวราคาก็คงกลับมาเอง" จนกลายเป็นการถือหุ้นขาดทุนระยะยาวโดยไม่ตั้งใจ

.สุดท้ายก็กลายเป็นนักลงทุน VI (Value Investor) แบบจำเป็นไปโดยปริยาย

.ถ้าเคยเจอสถานการณ์แบบนี้ เชื่อเถอะครับว่าคุณไม่ได้อยู่คนเดียวอย่างแน่นอน

.นักลงทุนจำนวนมากก็เคยเผชิญกับปัญหาเดียวกันนี้ ซึ่งสาเหตุที่แท้จริงมาจากสองสิ่ง นั่นคือการ "ไม่รู้จัก Cut Loss" และ "ไม่มีเกณฑ์ในการขายหุ้นที่ชัดเจน"

.แล้วเราจะทำยังไงดีถ้าอยากเลิกเป็น VI ที่ Cut Loss ไม่เป็น?

 

.

[ 1. เลิกคิดว่า "ไม่ขาย ไม่ขาดทุน" ]

.

สาเหตุที่คนส่วนใหญ่ไม่ยอมขายหุ้นขาดทุนเป็นเพราะเรามักมีความเชื่อผิดๆ ว่า "ตราบใดที่ยังไม่ขาย เราก็ยังไม่ขาดทุน" ซึ่งในความเป็นจริง ความเสียหายนั้นเกิดขึ้นเรียบร้อยไปแล้ว ยิ่งถ้าเราไม่ควบคุมและไม่รู้เหตุผลของการถือหุ้นตัวนั้นอยู่ยิ่งเสียหายหนักลงไปเรื่อยๆ

.

การไม่ขายไม่ได้ช่วยให้ราคาหุ้นดีขึ้นมาอัตโนมัติ แต่กลับทำให้เสียโอกาสในการนำเงินไปลงทุนในหุ้นที่ดีกว่า ซึ่งจะสร้างผลตอบแทนให้เรามากกว่าที่เสียไปหลายเท่าตัว

.

สมมุติเห็นว่าหุ้นราคาถูก มีค่า P/E ต่ำกว่า 5 และ P/B ต่ำกว่า 1 แถมปันผลสูงถึง 8% เลยเข้าไปซื้อ

.

ซื้อไปแล้วหุ้นร่วง 30% ก็มาเจอว่าที่จริงพื้นฐานของบริษัทไม่ได้ดี ปันผลอาจจะไปกู้ยืมมาแจก ฯลฯ แบบนี้ควรตัดขาดทุน เพราะเป็นการ ‘กำจัดความเสี่ยง’ ออกไป ถือเป็นบทเรียนในครั้งต่อไป

.

นักลงทุนระดับตำนานอย่าง Philip Fisher เคยบอกว่า "หากหุ้นที่ซื้อมาไม่ได้ดีอย่างที่เราคิด ให้ขายทิ้งทันที ไม่ว่าจะขาดทุนมากแค่ไหนก็ตาม เพราะการขาดทุน 20-30% นั้น เทียบไม่ได้เลยกับโอกาสที่จะได้หุ้นที่ดีขึ้นมาแทนที่และเพิ่มมูลค่าหลายสิบเท่าในอนาคต"

.

ดังนั้น ขั้นตอนแรกที่คุณต้องทำก็คือเปลี่ยนความคิดตัวเองเสียใหม่ เลิกหลอกตัวเองด้วยคำว่า "ไม่ขายไม่ขาดทุน" แล้วหันมาเผชิญหน้ากับความจริง เพราะยิ่งเราเสียเวลาเก็บหุ้นขาดทุนไว้ โอกาสในการลงทุนที่ดีขึ้นก็ยิ่งห่างไกลออกไปเท่านั้น

.

[ 2. สร้างเกณฑ์การขายหุ้นที่ชัดเจน ]

.

สาเหตุสำคัญอีกข้อที่นักลงทุนมักถือหุ้นขาดทุนยาวนานคือ ไม่มีเกณฑ์ในการขายที่ชัดเจน ส่งผลให้ตัดสินใจด้วยอารมณ์หรือรอ "ราคาเด้งกลับ" ก่อนจึงจะขาย

.

แต่ความจริงแล้วสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการ Cut Loss สำหรับนักลงทุน VI คือ ถ้าวิเคราะห์ผิด หรือ พื้นฐานเปลี่ยน สองข้อนี้คือต้องยึดอย่างเคร่งครัด

.

หากหุ้นที่เราถือมีพื้นฐานดีอยู่แล้ว ก็จะถือต่อไปตราบใดที่พื้นฐานยังไม่เปลี่ยน หรืออาจซื้อเพิ่มเมื่อราคาลดลง โดยไม่สนใจต้นทุนที่เราซื้อมา

.

หรือหากพบหุ้นใหม่ที่มีโอกาสดีกว่า ก็จะเปลี่ยนมาลงทุนในบริษัทใหม่ทันที แต่มีเงื่อนไขเดียวคือ ต้องมั่นใจว่าหุ้นใหม่นั้นมีศักยภาพสูงกว่าหุ้นเดิมที่ถืออยู่เท่านั้นเอง

.

หากคุณได้หุ้นที่ดี ราคาถูกมาไว้ในมือแล้ว อย่าพยายาม "เล่นเกมจับจังหวะตลาด" (เช่นขายก่อนแล้วรอซื้อเมื่อมันย่ออีกครั้ง) เพราะหุ้นที่ดีนั้นไม่ได้หาได้ง่ายๆ เก็บไว้เฉยๆ สักวันหนึ่งศักยภาพของมันก็จะเผยออกมาเอง

.

ในทางกลับกัน หุ้นที่มีพื้นฐานแย่ ไม่ว่าจะราคาต่ำแค่ไหน ก็ไม่ควรถือไว้ให้เสียเวลาหรือโอกาส หากอนาคตของบริษัทดูมืดมน ก็ควรกำจัดออกจากพอร์ตให้เร็วที่สุด เพราะยิ่งรอนาน ความเสียหายก็จะยิ่งหนักขึ้นเท่านั้น

.

[ เพื่อให้คุณหลุดจากวงจรการถือหุ้นขาดทุนแบบ VI จำเป็น]

.

นักลงทุนระดับโลกอย่าง Peter Lynch ก็เคยพูดไว้ว่า คนส่วนใหญ่มักจะ "ตัดดอกไม้ รดน้ำวัชพืช" หรือ "Cutting the flower, but watering the weed" คือขายหุ้นที่ดี แล้วเก็บหุ้นที่ขาดทุนไว้แทนที่จะปล่อยกำไรให้วิ่งต่อไป

.

หากอยากประสบความสำเร็จในการลงทุนระยะยาว คุณต้องเปลี่ยนมาใช้แนวคิดใหม่ว่า "ตัดวัชพืช รดน้ำดอกไม้" หรือ "Cutting the weed, and watering the flower" แทน

.

มีนิทานเรื่องหนึ่งที่เล่าว่าชายคนหนึ่งถามคนสวนของเขา “ทำไมต้นไม้ในสวนนี้ถึงเติบโตสวยงามจังเลย?”

.

ชาวสวนคนนั้นบอกว่า ”ผมไม่ได้บังคับให้มันเติบโต ผมแค่เอาสิ่งที่จะทำให้ต้นไม้หยุดโต...ออกไป“

.

สิ่งสำคัญอาจจะไม่ใช่การเติมหรือใส่อะไรเพิ่ม แต่เป็นการตัดสิ่งที่ไม่สำคัญออก แล้วโฟกัสกับสิ่งที่สำคัญจริงๆ

.

การลงทุนที่ดีไม่ใช่การไม่เคยผิดพลาด แต่คือการยอมรับข้อผิดพลาดและกล้าปรับเปลี่ยนให้ดีขึ้น นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จอย่าง Warren Buffett เองก็เน้นเสมอว่า "อย่าให้อารมณ์อยู่เหนือเหตุผล" และยอมรับว่าการตัดสินใจผิดพลาดเกิดขึ้นได้เสมอในโลกการลงทุน

.

สุดท้ายนี้ ขอให้คุณจำไว้ว่า การขายหุ้นขาดทุนไม่ได้แปลว่าเราล้มเหลว แต่มันคือก้าวสำคัญที่จะพาเราไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงในโลกของการลงทุนครับ

.

 

 

ขอบคุณที่มาเนื้อหาจาก..  aomMONEY


dave