ขายทำกำไรหุ้น BAM ดีไหม? COVID-19 กระทบธุรกิจแถมต้องจ่ายภาษีปีแรก
หุ้นป้ายแดงหมาดๆ อย่าง BAM หรือบริษัท บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เป็นหุ้นฮอตที่ถูกนักลงทุนพูดถึงมาตลอด นับตั้งแต่เข้าเทรดในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในเดือนธ.ค.62 ที่ผ่านมา จากการเป็นบริษัทบริหารหนี้ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ โดยตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน (1 ม.ค.-30 เม.ย. 63) ราคาหุ้น BAM ยังบวกสวนตลาด หรือ +32.60% จากปัจจัยสำคัญคือ BAM เป็นผู้ซื้อหนี้เสีย (NPL) รายใหญ่จากธนาคารพาณิชย์ โดยในปัจจุบัน (ข้อมูลปี 62) บริษัทมีเงินต้นคงค้างรวม 24,424.84 ล้านบาท และทรัพย์สินรอการขาย (NPAs) มูลค่าประเมินรวม 1,057.04 ล้านบาท จากสถาบันการเงิน
หุ้นบริหารสินทรัพย์คว้าโอกาสได้จากทุกสภาวะเศรษฐกิจ
และจุดเด่นสำคัญของหุ้น “บริหารสินทรัพย์” คือมีรูปแบบธุรกิจที่แตกต่างจากเซ็คเตอร์อื่น เนื่องจาก BAM และหุ้นในกลุ่มบริหารสินทรัพย์ มีโอกาสเก็บเกี่ยวทั้งในช่วงเศรษฐกิจขาขึ้นและขาลง โดยในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจขาขึ้น ลูกหนี้มีศักยภาพในการชําระหนี้ และลูกค้ามีกำลังซื้อทรัพย์สินรอการขาย เป็นโอกาสในการสร้างรายได้ให้กับบริษัท ส่วนในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว ถือเป็นโอกาสเลือกซื้อทรัพย์ด้อยคุณภาพ และทรัพย์รอการขายที่สถาบันการเงินนำออกมาจำหน่ายในราคาที่เหมาะสม
อย่างไรก็ตามแม้ว่าหุ้น BAM จะได้อานิสงส์จากการที่เศรษฐกิจกำลังจะติดลบ แต่ประมาณการผลประกอบการในไตรมาส 1/63 กลับน่าเป็นห่วง โดยนักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ประเมินว่า เนื่องจากภาวะตลาดไม่เอื้ออำนวย ในขณะที่ธนาคารและ AMC (ธุรกิจบริหารสินทรัพย์) พากันแห่ขาย NPL ออกมาในตลาดเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับการขาย NPA ซึ่ง BAM มักจะขายออกมาปีละประมาณ 5,000 ล้านบาท
คาดผลประกอบการ 1/63 ติดลบ 78%
ผลประกอบการในไตรมาส 1/63 คาดว่า BAM จะมีกำไรสุทธิ 720 ล้านบาท (-57% QoQ และ -78% YoY) โดยกำไรที่ลดลงอย่างมากทั้ง QoQ และ YoY สะท้อนมูลค่าการตกลงขายทรัพย์ก้อนใหญ่ 4,000 ล้านบาท ใน 1Q62 และ 1,700 ล้านบาท ใน 4Q62 ทั้งนี้นักวิเคราะห์มองว่าความเสี่ยงหลักของประมาณการ 1Q63F จะอยู่ที่การรับรู้ผลขาดทุนจากการด้อยค่าของ NPA จำนวน 1,800 ล้านบาท จากการใช้มาตรฐานบัญชี TFRS9 ซึ่งบริษัทบอกว่ามี 2 ทางเลือกคือ รับรู้ผ่านงบ P/L หรือผ่านส่วนของผู้ถือหุ้น
หั่นเป้า NPA ปี 63 ลงครึ่งหนึ่ง!
บล.เคจีไอ ปรับลดสมมติฐานยอดขาย NPA ปี 2563/64 ลงครึ่งหนึ่งเหลือ 2,500 ล้านบาท และ 4,500 บาทตามลำดับ จากเดิมที่คาดว่าจะมีทรัพย์สินรอการขายปีละ 5,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตามบล.เคจีไอยังคงสมมติฐาน margin เอาไว้ที่ 50% (จากเดิม 58% ในปี 2562) ดังนั้นจึงปรับลดประมาณการกำไรสุทธิปี 2563/64 ลง 21% และ 11% ซึ่งเมื่อใช้ P/BV ที่ 2.0x (เท่ากับ P/E ที่ 20x) เราจะได้ราคาเป้าหมายใหม่ที่ 28 บาท (ลดลงจาก 33 บาท) และลดคำแนะนำเป็น “ถือ” แทนการเข้าซื้อ
งดขายทอดตลาดผ่านกรมบังคับคดี กระทบรายได้ 61%
ด้านบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส จำกัด อัพเดตข้อมูลว่า หลังจากมีการประกาศงดการประมูลขายทรัพย์ผ่านกรมบังคับคดีหลายแห่งตั้งแต่เดือนเม.ย.-พ.ค. 63 เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ฝ่ายวิจัยคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อหุ้นในกลุ่มบริหารหนี้ เนื่องจากปัจจุบันกรมบังคับคดียังไม่มีระบบประมูลขายทรัพย์ออนไลน์
โดยในกลุ่มหุ้น AMC นักวิเคราะห์ประเมินว่า BAM จะได้รับผลกระทบมากที่สุด จากที่คาดว่าบริษัทฯ จะมีรายได้จากการขายหลักประกันผ่านกรมบังคับคดี (61% ของรายได้รวม) ลดลงอย่างมีนัยฯ ในงวด 2Q63 โดยฝ่ายวิจัยคาดว่าแม้กรมบังคับคดีจะสามารถกลับมาเปิดการประมูลขายทรัพย์อย่างเร็วที่สุดในเดือน มิ.ย. 63 แต่จะไม่สามารถเร่งการขายหลักประกันออกไปได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากการประมูลขายหลักประกันจะต้องเป็นไปตามลำดับที่กรมบังคับคดีกำหนด และการเข้าประมูลทรัพย์ที่คาดว่าจะซบเซากว่าเดิมหลังจากการจำกัดการชุมนุมของคนจำนวนมากเพื่อป้องกันการกลับมาแพร่ระบาดอีกครั้งของ COVID-19
ผลกระทบ COVID-19 ส่งผลกระทบต่อมาร์จิ้น BAM
ขณะที่ในฝั่งของผู้ซื้อหลักประกันคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากสภาพคล่องที่ลดลง ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้อาจมีการเลื่อนการเข้าประมูลซื้อหลักประกันออกไป ซึ่งจะเป็นแรงกดดันต่อรายได้จากการขายหลักประกันของ BAM ตลอดทั้งปี ทำให้ฝ่ายวิจัยมีแนวโน้มปรับประมาณการกำไรสุทธิปี 2563-64 และ มูลค่าพื้นฐานของ BAM ลงอย่างมีนัยสำคัญ แม้ BAM จะยังสามารถซื้อหนี้ในราคาที่เหมาะสมได้ในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว แต่ด้วยปัจจัยเชิงลบจากข่าวดังกล่าวที่มีน้ำหนักมากกว่า จึงแนะนำขายทำกำไรหุ้น BAM ออกไปก่อน
สุดท้ายแม้ว่าหุ้นบริหารทรัพย์ อาจจะรอซื้อทรัพย์ด้อยคุณภาพและทรัพย์รอการขายได้ในราคาถูก แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาวะเศรษฐกิจที่กระทบกับ NPL และกำลังซื้อผู้บริโภคโดยตรง ก็เป็นเหตุผลสำคัญที่ฉุดผลประกอบการในปีนี้ เพราะฉะนั้นคงต้องติดตามกันยาว ๆ ว่าจะเป็นอย่างไร
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข้อมูลจาก