ห้องเม่าปีกเหล็ก

หุ้นนิคม-อสังหาฯ

โดย Durant
เผยแพร่ :
48 views

หุ้นนิคม-อสังหาฯ วิ่งรับข่าวลดภาษีที่ดิน โบรกประสานเสียง นโยบายไม่จูงใจ-ผลบวกน้อย

วันอังคารที่ผ่านมา (2 พ.ค. 2563) คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ลดอัตราการจ่ายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จะจัดเก็บในปี 2563 ลง 90% ซึ่งจะลดลงเฉพาะการจัดเก็บปีนี้ โดยจะออกเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) โดยให้เหตุผลว่าหากจัดเก็บเต็มอัตราจะส่งผลกระทบในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทั้งนี้การลดการจัดเก็บในปีเดียวนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อรายได้จากภาษีนี้ในอนาคต

             

อย่างไรก็ตาม ข่าวดังกล่าวส่งผลให้ราคาหุ้นในกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมและอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวขึ้นทันที เนื่องจากคาดว่าการปรับลดภาษีดังกล่าวจะช่วยลดภาระต้นทุนของผู้ประกอบการได้ เป็นบวกต่อหุ้นนิคมอุตสาหกรรมหรืออสังหาริมทรัพย์บางรายที่มีที่ดินรอการพัฒนาจำนวนมาก นอกจากนี้ยังคาดว่าจะช่วยกระตุ้นให้ประชาชนหันมาซื้อบ้านและคอนโดมากขึ้น เพราะช่วยลดภาระด้านภาษีสำหรับคนซื้อบ้านหลังที่ 2

 

แต่จะเป็นบวกต่อหุ้นกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมและอสังหาริมทรัพย์จริงหรือไม่ Wealthy Thai ได้รวบรวมความคิดเห็นจากนักวิเคราะห์แต่ละค่ายมาฝากกัน

 

โบรกฯ ประสานเสียงผลบวกน้อย

 

บล.เอเชีย เวลท์ จำกัด ระบุว่า มีมุมมองเป็นบวกเล็กน้อยต่อกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะช่วยลดภาระภาษีสำหรับสต๊อกโครงการพร้อมขายที่แล้วเสร็จและการจ่ายภาษีที่ดินสำหรับนิคมฯ ลง รวมถึงช่วยลดภาระสำหรับผู้ซื้อที่อยู่อาศัยที่เป็นหลังที่ 2 ทั้งนี้ราคาหุ้นของกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และนิคมอุตสาหกรรมได้ปรับตัวขึ้นในช่วงที่ผ่านมา หลังสถานการณ์ COVID-19 ที่เริ่มคลี่คลาย จึงคาดว่าผลการดำเนินงานจะฟื้นตัวอย่างโดดเด่นในช่วงครึ่งปีหลัง หุ้น Top Picks ได้แก่ ORI (ซื้อ; TP 6.90 บาท) NOBLE (ซื้อ; TP 17.50 บาท) LH (ซื้อ; TP 8.50 บาท) AMATA (ซื้อ; TP 16.60 บาท) และ WHA (ซื้อ; TP 3.60 บาท)

 

บล.บัวหลวง จำกัด (มหาชน) ระบุว่า มองว่าเป็นความเข้าใจผิดต่อข่าวนี้ว่าเป็นข่าวดี แต่เป็นการยืนยันกว่าพรบ.ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใช้แน่นอนปีนี้ ตารางเดิมคือ ผ่อนปรนให้ชำระเริ่มส.ค.นี้ ดังนั้นผู้จะได้ประโยชน์คือ บริษัทที่มีรายได้ค่าเช่าซึ่งจ่ายภาษีโรงเรือนอยู่แล้ว มาจ่ายระบบภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแทนซึ่งคาดจะจ่ายน้อยลง ได้แก่ LH และ SPALI

 

บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า วิธีคำนวณการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 90% สมมุติที่ดินรกร้างมูลค่า 5 ล้านบาท จัดเก็บภาษี 0.3% = 15,000 บาท ลด 90% จะเสียเพียง 1,500 บาท แต่พิจารณาว่าเป็นประเภทใดเช่น เกษตรกรรม ที่อยู่อาศัยฯ ซึ่งอัตราภาษีต่างกัน แล้วคิด 10% สำหรับที่อยู่อาศัย ปัจจุบันเสีย 0.02%-0.1%

 

ทั้งนี้มองเป็นผลบวก ฝั่งประชาชนมีภาระน้อยลง กำลังซื้อดีขึ้น ผู้ประกอบการประหยัดภาษีได้ ก็จะดีกับหุ้นกลุ่มที่อยู่อาศัย ที่แนะนำซื้อคือ LH, AP, SENA, LALIN, PRIN แต่คนมี land bank มากเป็น PF อาจมีการเก็งกำไร แต่พื้นฐานยังแนะนำ เต็มมูลค่า (FV) อย่างไรก็ตามยังไม่กระตุ้นกำลังซื้อที่อยู่อาศัย เท่ามาตรการอื่นๆ เช่น การผ่อนคลายเกณฑ์ LTV ซึ่งทำให้มีภาระดาวน์สูง นอกจากนี้ยังมีกลุ่มนิคมฯที่ได้ประโยชน์จาก Land Bank ที่มีอยู่จำนวนมาก แนะนำเก็งกำไร AMATA,WHA และ ROJNA

 

ด้านบล.เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ฝ่ายวิเคราะห์ประเมินผลกระทบเป็นบวกน้อย โดยกรณีภาษีที่ดินสำหรับที่อยู่อาศัย ในแง่ผู้ซื้อที่อยู่อาศัย หากเป็นบ้านหรือคอนโดหลังหลักที่ราคาประเมินไม่เกิน 50 ล้านบาท จะได้รับการยกเว้นภาษี หากเป็นบ้านหรือคอนโดหลังอื่น (หลังที่ 2 ขึ้นไป) หากมูลค่า 1 ล้านบาท จะเสียภาษีในอัตราที่อยู่อาศัย  0.02% คิดเป็นค่าภาษี 200 บาท แต่เมื่อลดจำนวนภาษีตามพ.ร.ฎ. ลดภาษีที่ดินฯ จะชำระภาษีเพียง 20 บาท อย่างไรก็ตาม มองว่ายังไม่จูงใจเพียงพอที่จะกระตุ้นการซื้อบ้านหลังใหม่เนื่องจากอัตราการจ่ายภาษีเดิมค่อนข้างน้อยอยู่แล้ว และให้ส่วนลดเฉพาะปีนี้เท่านั้น

 

และในด้านผู้ประกอบการอสังหาฯ ผลกระทบจำกัด เนื่องจากในแง่ของที่ดินระหว่างการพัฒนาจะได้รับส่วนลด 90% ในช่วง 3 ปีแรกอยู่แล้ว ขณะที่หากสร้างเสร็จเป็นห้องชุดหรือบ้านเดิมปีแรกจะได้ส่วนลด 75% ซึ่งหากเพิ่มเป็น 90% ฝ่ายวิเคราะห์คาดว่าผลกระทบจะยังไม่มาก สำหรับกลุ่ม Property ให้น้ำหนักการลงทุนเป็น Neutral หุ้น top pick ได้แก่ ORI (ซื้อ/เป้า 5.50 บาท)

 

สำหรับกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม ประเมินผลบวกน้อยเช่นกัน เนื่องจากบริษัทจะได้รับผลบวกจากที่ดินรอการขายที่เสียภาษีปีนี้ลดลง 90% จากเดิมที่ได้รับการผ่อนปรนปีแรกที่ 75% ในขณะที่ที่ดินรอการพัฒนานั้นบริษัทได้รับการลดหย่อนที่ 90% อยู่แล้วตามพ.ร.ฎ.ลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่ออกมาเดือน ม.ค. ที่ผ่านมาแล้ว ทั้งนี้ฝ่ายวิเคราะห์ประเมินว่าบริษัทที่ได้รับผลบวกประมาณ 0.1-0.3% ของกำไรสุทธิปี 2563 โดยเรียงจากมากไปน้อย ได้แก่ AMATA (ขาย/เป้า 10.00 บาท) และ WHA (ถือ/เป้า 2.80 บาท) อิงพื้นที่ที่ดินรอการขาย และพัฒนาในประเทศที่ 1.16 หมื่นไร่ และ 8.5 พันไร่ ตามลำดับ และราคาขายเฉลี่ย 3.0 ล้านบาท/ไร่ สำหรับกลุ่ม Industrial Estate เราให้น้ำหนักการลงทุนเป็น Underweight ไม่มีหุ้น top pick

 

จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้น นักวิเคราะห์มีความเห็นในทิศทางเดียวกันคือ นโยบายที่ออกมายังไม่จูงใจมากพอ อีกทั้งยังส่งผลบวกต่อหุ้นนิคมอุตสาหกรรมและหุ้นอสังหาริมทรัพย์จำกัด อย่างไรก็ตามราคาหุ้นในกลุ่มดังกล่าวพุ่งขึ้นรับข่าวดีแล้ว ใครที่กำลังรอจังหวะเข้าลงทุน ต้องพิจารณาข้อมูลและดูปัจจัยบวกเฉพาะตัวของหุ้นประกอบด้วย

 

ขอบคุณที่มาเนื้อหาข้อมูลจาก


Durant