SCGP คาด Q2/68 รายได้โต
รับดีมานด์ไทย-เวียดนามฟื้น
มั่นใจ EBITDA ไม่ต่ำกว่าไตรมาสก่อน
จับตา 2 ดีล M&P ลุ้นชัดเจน Q3/68

.
SCGP ประเมินไตรมาส 2/68 รายได้โตต่อเนื่อง รับดีมานด์ไทย-เวียดนามฟื้น ส่วน EBITDA มั่นใจไม่ต่ำกว่าไตรมาส 1/68 ที่ 4,232 ล้านบาท เผยอยู่ระหว่างเจรจา 2 ดีล M&P คาดชัดเจนช่วงไตรมาส 3/68 พร้อมศึกษาขยายฐานการผลิตในสหรัฐฯ
.
นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP เปิดเผยถึงแนวโน้มการดำเนินงานไตรมาส 2/68 บริษัทคาดรายได้ยังเติบโตต่อเนื่อง จากปริมาณการขายที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/68 จากแรงผลักดันของกำลังซื้อภายในประเทศไทยและการฟื้นตัวของตลาดในประเทศเวียดนาม รวมถึงการส่งออกที่ยังขยายตัวได้ หลังสหรัฐฯ เลื่อนการเก็บภาษีนำเข้า 90 วัน ทั้งนี้ บริษัทประเมินราคาขายมีความผันผวน โดยประเทศอินโดนีเซียอาจปรับตัวสูงขึ้น ในขณะที่ไทยภาวะเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนจึงคาดราคาขายจะอยู่ในระดับทรงตัว
.
ในส่วนของ EBITDA บริษัทประเมินว่าในไตรมาส 2/68 จะอยู่ในระดับไม่ต่ำกว่าไตรมาส 1/68 ที่ 4,232 ล้านบาท แต่ภาพรวมทั้งปีจะสามารถทำได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ที่ 18,000 ล้านบาท หรือไม่นั้น ต้องรอติดตามแนวโน้มในช่วงที่เหลือของปี 2568 ก่อน เนื่องจากยังมีความไม่แน่นอนสูง
.
สำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ไตรมาส 2/68 บริษัทคาดว่าอาเซียนมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ความต้องการในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคยังคงเติบโตจากนโยบายกระตุ้นภายในประเทศ โดยคาดว่า GDP จะเติบโตเฉลี่ย 2-7% ซึ่งมีความแตกต่างกันในแต่ละประเทศ แต่ยังคงสูงกว่าภูมิภาคอื่น และความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์กลุ่มสินค้าส่งออกที่เพิ่มขึ้นในช่วงก่อนการบังคับใช้มาตรการภาษีนำเข้า
.
ส่วนต้นทุนวัตถุดิบกระดาษรีไซเคิลและค่าขนส่งมีแนวโน้มปรับขึ้นเล็กน้อยจากความต้องการในภูมิภาค ขณะที่ต้นทุนพลังงานมีแนวโน้มทรงตัว และมีความท้าทายจากภาคการส่งออกที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
.
“SCGP ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว ธุรกิจในกลุ่มประเทศอาเซียนยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยบริษัทจะเน้นขยายธุรกิจบรรจุภัณฑ์ในกลุ่มอาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน ซึ่งยังมีโอกาสขยายตัวอีกมาก” นายวิชาญ กล่าว
.
ด้านความคืบหน้าการลงทุน Merger & Partnership (M&P) ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการเจรจา 2 ราย คาดว่าจะเห็นความชัดเจนในไตรมาส 3/68 โดยธุรกิจที่ให้ความสนใจ คือ บรรจุภัณฑ์ กล่อง และบรรจุภัณฑ์โพลิเมอร์ ในประเทศเวียดนามและอินโดนีเซีย ทั้งนี้ ในปี 2568 บริษัทวางงบลงทุนไว้ราว 13,000 ล้านบาท ซึ่งในไตรมาส 1/68 ใช้ไปแล้วประมาณ 1,143 ล้านบาท
.
ขณะเดียวกันบริษัทยังเดินหน้ากลยุทธ์สร้างการเติบโตด้วยการมุ่งเน้นขยายตลาดในอาเซียน รวมถึงการเพิ่มโอกาสใหม่ในกลุ่มสินค้าบรรจุภัณฑ์สำหรับผู้บริโภค เพื่อนำเสนอโซลูชันบรรจุภัณฑ์ครบวงจร โดยได้ร่วมลงทุนในบริษัทโฮวะ แพ็คเกจจิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ในสัดส่วน 25% กับ Howa Sangyo Company Limited เพื่อผลิตบรรจุภัณฑ์แบบอ่อนตัวสำหรับอาหารสัตว์เลี้ยงชนิดเปียก ด้วยกำลังการผลิต 6,000 ตันต่อปี ซึ่งคาดว่าจะเริ่มการผลิตในเดือนมิถุนายนปีนี้
.
รวมถึงเดินหน้ากลยุทธ์การเติบโตในตลาด Healthcare Supplies ด้วยการผสานความร่วมมือกับ Once Medical Company Limited (Once) นำความเชี่ยวชาญมาผลิตหลอดฉีดยาและเข็มฉีดยาที่บริษัทวีอีเอ็ม (ไทยแลนด์) จำกัด (VEM-TH) ในประเทศไทย ด้วยงบลงทุนประมาณ 142.3 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มการผลิตเชิงพาณิชย์ในเดือนมกราคม ปี 2569 ซึ่งจะช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้ากระบอกฉีดยาและเข็มฉีดยาของประเทศไทย และช่วยเพิ่มโอกาสการขายผ่านช่องทางของ Deltalab, S.L. ในประเทศสเปนด้วย
.
ขณะที่การรับมือกับมาตรการภาษี (Reciprocal Tariff) บริษัทได้เตรียมแผนเชิงรุก มุ่งปรับตัวรวดเร็ว สร้างความสามารถและความได้เปรียบในการแข่งขันผ่านคุณภาพสินค้า ความร่วมมือ สร้างความเป็นเลิศด้านการตลาด (Marketing Excellence) เพื่อส่งมอบสินค้า บริการและโซลูชันที่ตอบโจทย์ลูกค้า
.
นอกจากนี้ ยังได้เตรียมแผนการใช้ประโยชน์จากฐานการผลิตที่ตั้งอยู่ในหลายประเทศและความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ ทำให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงแผนการส่งออกสินค้าไปยังตลาดใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพสูง อีกทั้งยังมีการบูรณาการห่วงโซ่อุปทาน เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้า และการจ้างผลิตเพื่อให้ได้ต้นทุนที่แข่งขันได้ เช่น การผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารในยุโรปตะวันออก
.
อย่างไรก็ตาม บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาการจัดตั้งฐานผลิตบรรจุภัณฑ์ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งอาจเป็นการร่วมทุนกับลูกค้าหรือพันธมิตรที่มีการขายสินค้าในสหรัฐฯ อยู่แล้ว
ที่มา Facebook Wealthy Thai