ห้องเม่าปีกเหล็ก

เช็คลิสต์หุ้นอสังหาฯ

โดย dave
เผยแพร่ :
48 views

เช็คลิสต์หุ้นอสังหาฯ Q2 ราคาหุ้นพุ่งแรง รับยอดขายโตเด่น

ในช่วงไตรมาส 2/63 ถือเป็นช่วงที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ ไวรัส COVID-19 อย่างมาก ทั้งจากมาตรการ lockdown เพื่อสกัดกั้นการระบาดของไวรัสดังกล่าว แต่ในภาคธุรกิจย่อมส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจซบเซา ซึ่งเป็นแรงกดดันที่ทำให้หลายๆฝ่ายต่างคาดการณ์เป็นเสียงเดียวกันว่า ในช่วงนี้ผลงานของบริษัทจดทะเบียนจะอยู่ในระดับที่ไม่ดีเอาเสียเลย


หนึ่งในหุ้นที่อิงกับภาคเศรษฐกิจค่อนข้างมากก็คงหนีไม่พ้น ภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่เชื่อกันว่าหนึ่งในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 แต่ดูเหมือนว่าหลายต่อหลายบริษัทได้รายงานยอดขายช่วงไตรมาส 2/63 ออกมาค่อนข้างดี จะมีอะไรบ้าง Wealthy Thai ได้รวบรวมมาเล่าในฟังแล้ว


“ไตรมาส 2/63  ไม่มีโครงการคอนโดมิเนียมเปิดใหม่เลย เนื่องจากผู้ประกอบการยังคงมุ่งเน้นการระบายสต็อกเก่าออกไปก่อนเพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้งบดุล ในขณะเดียวกันมูลค่าโครงการแนวราบเปิดใหม่ในไตรมาส 2/63 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 3% จากไตรมาส 1/63 เป็น 1.71 หมื่นล้านบาท มาจากโครงการของ AP และ LH” สะท้อนจากมุมมองของนักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)


พร้อมทั้งยังระบุอีกว่า จากผลการสำรวจข้อมูลเบื้องต้นพบว่าในไตรมาส 2/63 ผู้ประกอบการห้ารายเปิดโครงการใหม่มูลค่ารวม 1.72 หมื่นล้านบาท (-21% จากไตรมาสก่อน, -55% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน) โดยรวมแล้วผู้ประกอบการค่อนข้างระมัดระวังกับการเปิดโครงการใหม่ เนื่องจาก มีการใช้มาตรการ lockdown ในไตรมาส 2/63 และ ยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาจำนวนมาก


นักลงทุนประหลาดใจกับการฟื้นตัวในระยะสั้นที่เร็วกว่าคาด สะท้อนจากมุมมองของนักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ได้จัดงาน BLS Property Day โดยได้รับเกียรติจากผู้บริหาร Developer 9 บริษัทที่ cover อยู่ นักลงทุนประหลาดใจกับการฟื้นตัวในระยะสั้นที่เร็วกว่าคาด โดยที่ยอดจองซื้อรวมคาดอยู่ที่ 9.7 หมื่นล้านบาท (คิดเป็น 48% ของเป้าหมายปี 63)


อย่างไรก็ดีมองว่ายังคงมี downside risk ในด้านของรายได้ราว 15% และคาดมาร์จิ้นยังคงถูกกดดัน แม้นักลงทุนจะประทับใจในภาพระยะสั้น แต่ก็ยังแสดงความกังวลต่อภาพระยะยาวอยู่ จึงแนะนำ Let profit run สำหรับ AP และ LH ที่ได้แนะไปก่อนหน้า และล๊อคกำไรตัว SPALI ส่วน SIRI คาดจะรีบาวน์หลังจากประกาศแผนธุรกิจ

 

 

SIRI ยอดขายไตรมาส 2/63 เพิ่มขึ้น 189.7%

นักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ระบุว่า SIRI รายงานยอดขายไตรมาส 2/63 ที่ 1.29 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 189.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเติบโต 94.1% จากไตรมาส 1/63 ซึ่งถือว่าเป็นยอดขายที่ยอดเยี่ยมและสูงที่สุดในบรรดาผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่รายงานยอดขายออกมาในไตรมาส 2/63


โดยแคมเปญการตลาดเชิงรุกที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องจากไตรมาส 1/63 อย่าง “แสนสิริผ่อนให้ 24 เดือน” และแบรนด์ที่แข็งแกร่งภายใต้แนวคิด "Made for Life ... Made for Everyone" ต่างเป็นปัจจัยที่ทำให้มียอดขายที่แข็งแกร่ง แม้ยอดขายกลุ่มคอนโดมิเนียมในไตรมาส 2/63 จะยังแข็งแกร่งเป็นอย่างมาก


แต่อุปสงค์ส่วนเพิ่มในกลุ่มแนวราบช่วงไตรมาสดังกล่าว ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์ COVID-19 ถือเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักต่อยอดขายที่น่าประทับใจข้างต้น ทำให้สามารถรายงานยอดขายกลุ่มแนวราบที่แตะจุดสูงเป็นประวัติการณ์ระดับ 8.2 พันล้านบาท ได้ในไตรมาส 2/63 โดยหลักๆมาจากโครงการบ้านแสนสิริ พัฒนาการและโครงการแนวราบใหม่ๆ อีกจำนวนมากที่เปิดตัวไประหว่างปี 61-62


ทั้งนี้คาดว่า SIRI จะสามารถกระตุ้นให้กำไรไตรมาส 2/63 เติบโตได้ทั้งช่วงเดียวกันของปีก่อน และจากไตรมาสก่อน ด้วยแรงหนุนจากยอดขายที่ขยายตัวอย่างมากในไตรมาส 2/63 ที่คาดว่ายอดจองส่วนใหญ่จะโอนกรรมสิทธิ์ได้ในช่วงไตรมาส ยิ่งกว่านั้น คาดว่าอัตรากำไรขั้นต้น ของธุรกิจที่อยู่อาศัยของ SIRI จะฟื้นตัวจากระดับที่ต่ำกว่าปกติในไตรมาส 1/63 ขึ้นมาได้ ด้วยสัดส่วนที่สูงขึ้นของรายได้กลุ่มแนวราบที่มีอัตรากำไรสูง นอกจากนี้ คาดว่าบริษัท จะรับรู้กำไรพิเศษ 280 ล้านบาท ในช่วงไตรมาส จากการขายโครงการสิริพัฒน์ โฟร์ ที่ครอบครองพื้นที่เช่าในโครงการ T77 คงคำแนะนำ "ถือ" SIRI ด้วยราคาเป้าหมายเดิมสำหรับกลางปี 2564 ที่ 0.80 บาท

 

 

LH ไตรมาส 2/63 ยอดขายเติบโต 3.3%

ขณะที่ LH รายงานยอดขายไตรมาส 2/63 ที่ 8.0 พันล้านบาท เติบโต 3.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเติบโต 43.5% จากไตรมาสก่อน นับเป็นจุดสูงสุดตั้งแต่ไตรมาส 3/61 โดยแม้ว่าจะมีการล็อกดาวน์ประเทศเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 แต่ LH ก็สามารถกระตุ้นยอดขายรายไตรมาสในกลุ่มแนวราบจนแตะจุดสูงใหม่ได้ในไตรมาส 2/63ที่ 7.5 พันล้านบาท


อีกปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นยอดขายขึ้นคือการที่โครงการใหม่ๆ ในครึ่งแรกของปี 63 นั้นอยู่ในทำเลยอดนิยมของผลิตภัณฑ์แนวราบ ส่วนทางฝั่งของกลุ่มคอนโดมิเนียม ด้วยการที่ขาดโปรโมชั่นขนาดใหญ่อย่างที่เคยเห็นในไตรมาส 2/62 จึงทำให้ยอดขายกลุ่มนี้ในไตรมาส 2/63 ปรับลดลงไป 58% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ก็ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาส 1/63 ด้วยการเติบโต 18.5%


ดังนั้นคาดกำไรไตรมาส 2/63 ลดลง จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และจากไตรมาส 1/63 แม้รายได้การขายในไตรมาส 2/63 คาดจะเติบโตทั้งจากช่วงเดียวกันของปีก่อน และ จากไตรมาส 1/63 จากยอดขายที่แข็งแกร่ง และคาดว่าอัตรากำไรขั้นต้น จะฟื้นตัวขึ้นจากระดับที่ต่ำกว่าปกติในไตรมาส 1/63


ด้วยแรงหนุนจากความประหยัดต่อขนาด จากรายได้การขายที่สูงขึ้น แต่ผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 ที่มีต่อธุรกิจรายได้ประจำของ LH อย่างเช่น โรงแรม ค้าปลีก และกิจการของ HMPRO จะเป็นปัจจัยที่ฉุดกำไรไตรมาส 2/63 ลงทั้งในเชิง ทั้งจากช่วงเดียวกันของปีก่อน และ จากไตรมาส 1/63


แต่ปัจจัยไม่ปกติดังกล่าวเริ่มผ่อนคลายลงแล้ว ทำให้คาดว่ากำไรของบริษัทจะฟื้นตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งตั้งแต่ไตรมาส 3/63 และคาดว่าจะเติบโตอย่างมีนัยสำคัญในไตรมาส 4/63 จึงคงคำแนะนำ "ซื้อ" LH ด้วยราคาเป้าหมายกลางปี 2564 ที่ 9.60 บาท


โดยมองว่าภาพรวมกำไรในครึ่งหลังของปี 63 และในปี 64 จะมุ่งหน้าสู่ทิศทางขาขึ้นเมื่อพิจารณาร่วมกับสถานะการเงินอันแข็งแกร่ง ก็จะทำให้มั่นใจได้ว่า LH ยังคงเป็นหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ที่สามารถให้ผลตอบแทนเงินปันผล กับนักลงทุนได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ กำไรพิเศษขนาดใหญ่จากการขายสินทรัพย์ในไตรมาส 4/63 ก็จะทำให้ประมาณการกำไรและเงินปันผลต่อหุ้น (DPS) สำหรับปี 63 มี upside risk อีกด้วย

 

 

ANAN ทำได้ดีกว่าเป้าหมาย

ANAN รายงานยอดขายไตรมาส 2/63 ออกมาดีกว่าเป้าหมายอีกครั้งที่ 4.9 พันล้านบาท ลดลง 19.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่น แต่เติบโต 12.5% จากไตรมาส 1/63 ถือว่าสูงกว่าเป้าหมายยอดขายในไตรมาส 2/63 ของบริษัทที่ 3.8 พันล้านบาท เป็นอย่างมาก


นอกจากนี้ ด้วยคาดการณ์ว่า ANAN จะสามารถรักษาทิศทางยอดขายดังกล่าวได้อย่างต่อเนื่องในครึ่งหลังของปี 63 เพราะบริษัท พบว่ามีผู้มาเข้าชมโครงการมากขึ้น หลังจากสถานการณ์ COVID-19 เริ่มผ่อนคลายลงจึงเล็งเห็นถึง upside risk ที่อาจเกิดขึ้นกับเป้าหมายยอดขายทั้งปีของบริษัท


แต่อย่างไรก็ตาม คาดว่ายอดขายของบริษัท จะมีระดับไม่เกินเป้าหมายเดิมของทั้งปี 63 ที่ 2.0 หมื่นล้านบาท เนื่องจาก ANAN ไม่มีแผนการเปิดตัวโครงการใหม่เพิ่มเติมในปี 63 แม้มองว่าตัวเลขยอดขายที่รายงานออกมาในครึ่งแรกของปี 63 เป็นผลการดำเนินงานที่ดี แต่ ANAN ยังคงท่าทีที่รัดกุมด้วยการรอดูสถานการณ์ต่อไป โดยบริษัทยังคงมีเป้าหมายหลักคือการระบายสินค้าคงคลังออก จึงไม่มีแผนการเปิดตัวโครงการใหม่ในปี 63 โดยยังคงมุมมองเดิมว่ากำไรไตรมาส 2/63 จะเป็นจุดต่ำที่สุดของปี 63 ก่อนที่จะฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งในครึ่งหลังของปี 63 คงคำแนะนำ "ขาย" ANAN ด้วยราคาเป้าหมายกลางปี 2564 ที่ 1.60 บาท

 

 

SC ยอดขายทำนิวไฮ

ด้าน SC รายงานยอดขายรายไตรมาสที่สูงเป็นประวัติการณ์ในไตรมาส 2/63 ที่ 6.2 พันล้านบาท เติบโต 47.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเติบโต 213.8% จากไตรมาส 1/63 แต่ด้วยการที่ SC ไม่ได้เปิดตัวโครงการคอนโดมิเนียมใหม่ในครึ่งแรกของปี 63 ทำให้ยอดขายคอนโดฯ ในไตรมาส 2/63 ลดลง 64.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ก็พลิกมาสู่แดนบวกที่ 568 ล้านบาท จากที่ติดลบ 85 ล้านบาท ในไตรมาส 1/63 ด้วยแรงหนุนจากยอดการยกเลิกจองที่ลดลงอย่างมากในโครงการที่แล้วเสร็จ


ขณะเดียวกันผลงานที่แข็งแกร่งของกลุ่มแนวราบทั้งในส่วนของโครงการใหม่ และเก่าจากอุปสงค์ที่พุ่งสูงขึ้น และแบรนด์ที่แข็งแกร่งของ SC คือ ปัจจัยขับเคลื่อนยอดขายกลุ่มแนวราบในไตรมาส 2/63 จนสามารถแตะจุดสูงใหม่ได้ที่ 5.6 พันล้านบาท


ยอดขายครึ่งปีแรกเติบโต 16.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จึงปรับเพิ่มยอดขายทั้งปี 63 เป็น 1.5 หมื่นล้านบาท และจากการที่ SC ยังคงแผนการเปิดตัวโครงการแนวราบมากขึ้นในครึ่งหลังของปี 2563 โดยเฉพาะในไตรมาส 3/63 ที่จะมีการเปิดตัว 6 โครงการใหม่ มูลค่ารวมที่ 5.7 พันล้านบาท ในทำเลที่ดีอย่างวิภาวดี พระราม 9 และรังสิต ทาง SC จึงปรับเพิ่มทั้งเป้าหมายยอดขายและรายได้ปี 63 เป็น 1.5 หมื่นล้านบาท จาก 1.4 หมื่นล้านบาท คงคำแนะนำ "ซื้อ" SC ด้วยราคาเป้าหมายเดิมสำหรับกลางปี 2564 ที่ 2.60 บาท


นอกเหนือจากยอดขายที่ยอดเยี่ยมในไตรมาส 2/63 มองว่ากำไรไตรมาส 2/63 จะเติบโตทั้งช่วงเดียวกันของปีก่อน และจากไตรมาสก่อนเช่นกัน ซึ่งจะกลายเป็นอีกปัจจัยบวกต่อราคาหุ้น โดยคาดการณ์อัตราผลตอบแทนเงินปันผล (DY) ของที่ 6.7% เป็นระดับที่น่าดึงดูด

 

 

QH ยอดขายโตเด่น 102.7%

QH รายงานยอดขายไตรมาส 2/2563 ที่ 2.75 พันล้านบาท เติบโต 102.7% ช่วงเดียวกันของปีก่อน และเติบโต 70.4% จากไตรมาส 1/63 โดยทั้งกลุ่มแนวราบและคอนโดมิเนียมต่างมีพัฒนาการเชิงบวก ทั้งช่วงเดียวกันของปีก่อน และจากไตรมาสก่อน ซึ่ง QH ระบุว่ามีแรงหนุนมาจากอุปสงค์ที่สะสมจากช่วงไตรมาส 1/63 และอุปสงค์ที่เติบโตอย่างรวดเร็วในกลุ่มแนวราบในช่วงไตรมาส โดยเฉพาะกลุ่มระดับกลางถึงบน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์ COVID -19 นอกจากนี้ ความสำเร็จในการจัดโปรโมชั่นการขายในโครงการคอนโดฯ ก็เป็นปัจจัยสนับสนุนผลการดำเนินงานให้ดีขึ้น


คงคำแนะนำ "ถือ" QH ด้วยราคาเป้าหมายเดิมสำหรับกลางปี 2564 ที่ 2.40 บาท แม้ยอดขายที่แข็งแกร่งในไตรมาส 2/63 จะแสดงถึงการขยายตัวของรายได้การขายที่ดีในไตรมาส 2/63 ทั้งในช่วงเดียวกันของปีก่อน และจากไตรมาสก่อน แต่มองว่ากำไรในไตรมาส 2/63 จะเผชิญกับแรงกดดันจากการชะลอตัวลงอย่างมากของธุรกิจรายได้ประจำ ซึ่งเป็นผลมาาก COVID -19 โดยคาดว่าธุรกิจโรงแรมจะมีผลขาดทุน และคาดว่าส่วนแบ่งกำไรจะปรับลดลงทั้ง ทั้งในช่วงเดียวกันของปีก่อน และจากไตรมาสก่อน ซึ่งหลักๆ เป็นผลจากการปิดให้บริการศูนย์การคราว 80% ของ HMPRO

 

 

LPN ยอดขาย เติบโต 71.4%

LPN รายงานยอดขายไตรมาส 2/63 ที่ 3.16 พันล้านบาท เติบโต 71.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเติบโต 20.6% จากไตรมาสก่อน นับว่าเป็นยอดขายรายไตรมาสที่สูงที่สุดตั้งแต่ไตรมาส 3/61 ยอดขายที่ดีดังกล่าวเกิดขึ้นได้โดยปราศจากการเปิดตัวโครงการใหม่ในช่วงไตรมาส ซึ่งมีแรงหนุนมาจากการจัดโปรโมชั่นภายในโครงการคอนโดมิเนียมส่วนใหญ่ของบริษัท และการตอบรับที่ดีในโครงการแนวราบใหม่ 3 แห่งที่เปิดตัวไปในไตรมาส 1/63


ด้วยกลยุทธ์การขายค้นราคาที่จูงใจของ LPN จึงคาดว่าอัตรากำไรขั้นต้น (GPM) ของบริษัทจะหดตัวลงต่ำกว่า 30.0% ในไตรมาส 2/63 หรือแตะจุดต่ำสุดตั้งแต่ไตรมาส 3/60 ซึ่งหากรวมกับอัตราการปฏิเสธสินเชื่อและการยกเลิกจองที่คาดจะสูงถึง 40-50% จึงคาดว่ารายได้การขายในไตรมาส 2/63 จะปรับตัวลงต่ำกว่าที่เคยทำได้ในไตรมาส 1/63 แม้จะมียอดขายที่สูงขึ้นก็ตาม


พัฒนาการดังกล่าวชี้เป็นนัยว่ายอดขายที่สูงอาจไม่ได้หมายถึงการเติบโตของกำไรที่แข็งแกร่ง โดยคาดว่ากำไรไตรมาส 2/63 ของ LPN จะปรับลดลงทั้งในช่วงเดียวกันของปีก่อน และจากไตรมาสก่อน แม้จะเล็งเห็นทิศทางการฟื้นตัวของกำไรในไตรมาส 3/63 แต่ก็จะไม่ได้ปรับดีขึ้นมาก เนื่องจากรายได้ส่วนใหญ่ในไตรมาส 3/63 จะมาจากการระบายสินค้าคงคลัง ซึ่งเป็นส่วนที่มีอัตรากำไรต่ำ โดยคาดว่ายอดขายและกำไรที่สูงที่สุดของปี 63 จะเกิดขึ้นในไตรมาส 4/63 ซึ่งเป็นช่วงที่ LPN ตัดสินใจเปิดตัวโครงการใหม่จำนวนมาก และจะสามารถเริ่มโอนกรรมสิทธิ์ในบางโครงการได้ตามกำหนดการ


อย่างไรก็ตามยังคงคำแนะนำ "ขาย" LPN ด้วยราคาเป้าหมายเดิมสำหรับกลางปี 2564 ที่ 4.00 บาท แม้ว่าทิศทางยอดขายที่ดีในไตรมาส 2/63 จะเป็นปัจจัยบวกที่สำคัญในระยะสั้นกับราคาหุ้น แต่ด้วยอัตราการปฏิเสธสินเชื่อที่คาดว่าจะอยู่ในระดับสูง จึงไม่คิดว่ารายได้การขายและกำไรจะออกมาดีตามยอดขายที่ดีดังกล่าว


นอกจากนี้ การขายสินทรัพย์ล็อตใหญ่อย่างอาคารสำนักงาน 2 แห่งมูลค่ารวม 2.8 พันล้านบาท บนถนนวิภาวดีก็ไม่สามารถแล้วเสร็จได้ในเดือน มิ.ย. 63 ตามแผนงาน หมายความว่า บริษัท จะไม่มีกำไรพิเศษขนาดใหญ่ในไตรมาส 2/63 ทั้งนี้ LPN อาจจำเป็นต้องปรับให้อาคารทั้ง 2 แห่งกลายเป็นสินทรัพย์ที่สร้างรายได้ประจำในระยะยาว ด้วยเหตุนี้งบดุลของบริษัท จึงอาจขาดปัจจัยบวกที่ก่อนหน้านี้คาดว่าจะเกิดขึ้นจากรายการขายสินทรัพย์ข้างต้น


จากการเติบโตของยอดขายในงวดไตรมาส 2/63 ดังกล่าว ของทั้ง SIRI, ANAN, LH, SC, QH, LPN ถือเป็นสัญญานการฟื้นตัวที่ดี เพราะช่วงดังกล่าวถือเป็นช่วงที่ COVID – 19 ระบาดอย่างมาก โดย Wealthy Thai สำรวจความเคลื่อนไหวราคาหุ้นช่วงไตรมาส 2/63 พบว่า ANAN ทำราคาหุ้นเพิ่มขึ้นมากสุด ตามมาด้วย LPN เมื่อเทียบกับราคาปิดสิ้นไตรมาส 1/63 โดยมีรายละเอียดในตารางดังนี้

 

ขอบคุณที่มาเนื้อหาข้อมูลจาก


dave