เราต้องยอมรับว่ายุคนี้เป็นยุคเงินเฟ้อสูง ข้าวของแพงขึ้น ทำให้เรามักจะได้ยินบ่อยๆว่า "อะไรประหยัดได้ ก็ต้องประหยัด"
แต่ประโยคนี้คงใช้ไม่ได้กับ "กาแฟ" เพราะเจ้าแห่งกาแฟรายใหญ่ระดับโลกอย่าง Starbucks ออกมาเปิดเผยว่า ผู้บริโภคยังยอมจ่ายเงินค่ากาแฟถึงแม้จะอยู่ในสภาวะเงินเฟ้อสูง และมีแนวโน้มว่าผู้บริโภคจะยอมจ่ายค่ากาแฟแพงมากขึ้นเรื่อยๆเพื่อให้ได้รสชาติที่ต้องการ
เมื่อไม่นานมานี้ Starbucks ออกมาประกาศผลประกอบการออกมา "ดีกว่าที่ตลาดคาด" ทำให้ราคาหุ้นบวกไปแล้วกว่า 5% ในช่วง 2 วันที่ผ่านมา โดย
... รายได้ไตรมาส 3 เติบโต 9% yoy แตะระดับ 82 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งออกมาดีกว่าที่วอลสตรีทคาด
... กำไรต่อหุ้นลดลง 16% yoy มาอยู่ที่ 0.84 เหรียญต่อหุ้น ซึ่งดีกว่าที่ตลาดคาดอีกเหมือนกัน เพราะตลาดคาดว่า Starbucks น่าจะทำได้อยู่ราวๆ 0.75 เหรียญต่อหุ้น โดยทางผู้บริหารบอกว่าจากเรื่องของปัญหาเงินเฟ้อโดยเฉพาะเมล็ดกาแฟโลกที่ราคาพุ่งสูงขึ้นอย่างมากและค่าแรงที่สูงขึ้น ทำให้ผลประกอบการลดลง
... ยอดขายต่อสาขาทั่วโลก (SSSG) เพิ่มขึ้น 3% หลักมาจากสหรัฐอเมริกาที่ดีขึ้นมากยอดขายต่อสาขาเพิ่มขึ้น 9% แต่กลับถูกกดันจากตลาดต่างประเทศ ยอดขายต่อสาขาร่วงลงราวๆ 18% นำโดยประเทศจีนที่มียอดขายต่อสาขาลดลงถึง 44% จากการปิดเมือง
ผู้บริหาร Howard Schultz แสดงความคิดเห็นที่น่าสนใจอยู่ 2 อย่าง คือ
1. ผู้บริโภคหันมาดื่มเครื่องดื่มเย็นกันมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเอสเปรสโซเย็น (Iced shaken Espresso) ที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด
รวมถึงคนรุ่น Gen Z หันมาสร้างสรรเมนูแปลกใหม่กันมากขึ้นในกลุ่มเครื่องดื่มเย็น เช่น ใส่น้ำเชื่อมรสชาติต่างๆหรือมีการเปลี่ยนนมที่ใช้ใส่ลงไปในเครื่องดื่มเย็น ซึ่งแน่นอนว่าราคาจะสูงขึ้น แต่ผู้บริโภคก็ยอมจ่าย เพื่อให้ได้ภาพถ่ายและวีดีโอเพื่ออัพโหลดลงในโซเชียล
2. บริษัทแสดงความมั่นใจว่าผู้บริโภคจะไม่ลดการซื้อกาแฟลง ถึงแม้จะเจอกับภาวะเงินเฟ้อสูงมากก็ตาม ....
ผู้บริหารของ Starbucks ไม่ได้เปิดเผยสาเหตุว่าเพราะเหตุใด คนถึงไม่ลดการดื่มกาแฟลง ถึงแม้จะเจอกับเงินเฟ้อ
แต่เชื่อว่าน่าจะเป็นเรื่องของวัฒนธรรมการดื่มกาแฟในตอนเช้า เป็นการส่งสัญญาณบอกร่างกายเพื่อให้พร้อมกับการทำงานวันใหม่ หรือการดื่มกาแฟระหว่างวันเพื่อลดความเหนื่อยล้าและความเครียดจากการทำงาน
ก็ถือเป็นเรื่องที่แปลกดี เพราะในยุคเงินเฟ้อสูง ข้าวของแพงขึ้น คนที่ไม่ได้มีเงินเดือนเพิ่มขึ้น สิ่งที่พอจะทำได้ คือ การลดการบริโภคลง
แต่กลับกลายเป็นว่า ผู้บริโภคดื่มกาแฟกันมากขึ้น เรียกได้ว่าเป็นสินค้าที่ "ประหยัดไม่ได้"
กาแฟกำลังจะเป็นสินค้าที่คนยอมจ่ายแพง
ถึงแม้จะอยู่ในสภาวะเงินเฟ้อสูงก็ตาม ....