Cr. ชาย กิตติคุณาภรณ์
http://www.fpmadvisor.com/single-post/2017/02/14/ข้อคิดสำหรับคนติดหุ้น
---
การไม่เล่นหุ้น แต่ทำการเล่นหุ้นให้เป็นการลงทุน คุณทำได้หรือไม่ เล่นหุ้นเป็นเรื่องของความโลภ ความอยากได้แบบขาดสติ แต่การลงทุนเป็นเรื่องของการอยากได้แบบมีสติ
การอยากได้แบบมีสติ ทำให้คนลงทุนกลายเป็นผู้ใหญ่ รู้ผิดชอบชั่วดี รู้ว่าอะไรควร อะไรไม่ควร ทำให้เกิดการยับยั้งชั่งใจว่าจะซื้อหุ้นแต่ละตัวต้องคิดแล้วคิดอีก คิดวนเป็น 10 รอบ เป็นร้อยรอบ ว่าภาพที่เราเห็นในอนาคตโดยเฉพาะกำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) ที่โตขึ้นมันจะเกิดขึ้นได้จริงๆ หรือเปล่า
การคิดทบทวนเป็น 10 เป็นร้อยรอบ ทำให้กระบวนการตกผลึกทางความคิดดำเนินการไปเรื่อยๆ แบบช้าๆ และได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นผลึกที่บริสุทธิ์ เป็นผลึกที่ทรงพลังอำนาจ สามารถรู้ว่าอนาคตจะเกิดเหตุการณ์อะไรกับกิจการ และราคาหุ้นจะขึ้นไปถึงไหน
การคิดทบทวนซ้ำๆ ตามที่ว่า ก็คือวิธีการที่วอร์เรน บัฟเฟตต์ บอกว่า ก่อนที่เขาจะซื้อหุ้นสักตัว เขาอ่าน อ่าน อ่าน แล้วก็อ่าน อ่านเอกสารเพื่อให้เข้าใจหุ้นเป็นเดือน กว่าจะซื้อหุ้นได้ ผมไม่รู้ว่านักเรียนที่กำลังอ่านข้อเขียนนี้อยู่ใครมีพฤติกรรมแบบวอร์เรน บัฟเฟตต์บ้าง
คำตอบส่วนใหญ่คงออกมาว่า ไม่มี
เมื่อไม่มี การเจ๊งหุ้น แล้วใจเสีย จึงเป็นเรื่องธรรมดา
การเจ๊งหุ้นแล้วใจเสีย ยังไม่พอ ยังจ้องจะขายแม้จะขาดทุนก็ตาม เพราะไม่รู้ว่าอนาคตของกิจการจะดีแบบที่เห็นในตอนแรกที่ตัดสินใจซื้อหรือเปล่า แต่สำหรับวอร์เรน บัฟเฟตต์ พอหุ้นที่ตัวเขาซื้อตกลง 30 – 40% เขากลับต้องทำการบ้านหนักว่า พื้นฐานของกิจการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมหรือเปล่า
ถ้าไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และอนาคตยังคงเหมือนเดิม เขาจะซื้อเพิ่ม ทำให้ต้นทุนหุ้นถูกถัวเฉลี่ย พาให้ต้นทุนถูกลง แล้วถือแบบลืมว่ามีหุ้นตัวนี้อยู่
นี่เองที่วอร์เรน บัฟเฟตต์ บอกว่า ถ้าคนลงทุนไม่สามารถถือหุ้นได้ 10 ปี ก็ไม่สมควรที่จะเข้ามาลงทุนในหุ้น
การถือหุ้นยาวกับหุ้นที่มี EPS โตขึ้นทุกปี คือเคล็ดลับที่ทำให้วอร์เรน บัฟเฟตต์กลายเป็นอัครมหาเศรษฐีโลก
กลับมาสู่เรื่องหุ้นตกที่แทนที่จะกลัว วอร์เรน บัฟเฟตต์กลับเอาช่วงเวลาที่คนทุกคนกลัวมาทบทวนบทวิเคราะห์ และผลการวิเคราะห์ว่า พื้นฐานของกิจการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมหรือเปล่า ถ้าไม่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่แย่ลง เขาก็จะถือหุ้นต่อไป
ประเด็นตรงนี้ นักเรียนสามารถเอาพฤติกรรมของวอร์เรน บัฟเฟตต์มาเลียนแบบได้ โดยหยิบหุ้นทุกตัวที่อยู่ในพอร์ทหุ้นมาทำการวิเคราะห์ว่า หุ้นตัวใดบ้างที่ยังดี และมีอนาคต ก็ให้ถือต่อไป หุ้นที่ไม่ดี เป็นหุ้นปั่น และไร้อนาคตต้องตัดใจขายทิ้งไป แม้จะขาดทุนเยอะก็ตาม
การขาดทุนเยอะเป็นเรื่องที่ยากจะทำใจ แต่หากจะรอให้หุ้นเน่า หุ้นไม่ดี ที่เป็นหุ้นปั่นกลับไปที่ราคาเดิม แล้วหลอกตัวเองไปตลอดว่า เงินลงทุนของเรายังอยู่ครบ ในอนาคตเงินลงทุนของเราอาจไม่เหลือสักบาทเลยก็ได้ เพราะหุ้นเน่า หุ้นไม่ดีในพอร์ทของเราถูกไล่ออกจากตลาดหุ้นไปแล้ว ไม่เหลือมูลค่าอะไรให้กับเราเลย
การตัดใจขายขาดทุน เพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ จึงเป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจพิจารณา ว่าเอาเงินลงทุนกลับคืนมา แม้จะได้คืนไม่ครบ แต่เงินลงทุนก้อนนี้ หากนำกลับไปลงทุนในหุ้นที่ดีและมีอนาคต อีกทั้งถือหุ้นที่มีอนาคตให้นานพอ มันก็เหมือนการไม่ขายหุ้นไม่ขาดทุน เพียงแค่หุ้นถูกเปลี่ยนตัว แล้วเมื่อเปลี่ยนตัวสำเร็จแล้ว เราก็ไม่ขายมัน รอคอยให้มันขึ้นไปเรื่อยๆ จะกี่ปีก็จะรอ สุดท้ายเงินที่ขาดทุนไปก็จะได้กลับคืนมา
หลักคิดง่ายๆ นี้ ที่แค่เปลี่ยนหุ้นตัวใหม่มาถือให้นาน และหุ้นตัวใหม่เป็นหุ้นที่ดี ในอนาคตก็จะได้เงินลงทุนที่เจ๊งไปกลับคืน
ท้ายนี้ก่อนจาก ก็คงขอฝากให้นักเรียนคิดว่าบทเรียนรอบนี้ดีเหลือเกิน ที่บอกและสอนนักเรียนว่า ลงทุนในหุ้นหรือลงทุนในอะไรก็แล้วแต่ ต้องเหลือเงินเย็นเอาไว้สัก 50% จะได้ไม่ทุกข์ใจ ไม่เดือดร้อนตอนที่หุ้นตก แต่หากลงทุนหมดหน้าตัก 100% จะเกิดการเจ๊งยับ เพราะรายจ่ายที่ต้องจ่ายจากเงินค่าหุ้น จะเป็นรายจ่ายที่แพงเพิ่มขึ้นตามการเจ๊งหุ้นที่เกิดขึ้น
นึกแล้วก็สยอง เป็นหนังที่ไม่ใช่หนังผี แต่น่ากลัวมากกว่าหนังผีเป็นร้อยเป็นพันเท่า