บิวตี้ รายได้ ตปท.ผงาด
การสร้างการเติบโตด้วยการขยายกิจการ หรือค้าขายไปยังตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มอาเซียนและกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง (CLMV) เข้ามามีบทบาท สร้างรายได้รวมให้กับบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในสัดส่วนที่มากขึ้น เพราะหากให้ธุรกิจมีการเติบโตทุกๆ ปี การพึ่งพิงรายได้จากภายในประเทศอย่างเดียวอาจมีขีดจำกัด
บริษัท บิวตี้ คอมมูนิตี้ (BEAUTY) ของ สุวิน ไกรภูเบศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ก็เช่นกัน ได้วางแผนไว้ชัดเจนว่า ในอีก 3 ปีข้างหน้า หรือในปี 2563 รายได้จากต่างประเทศจะเข้ามามีบทบาทในโครงสร้างรายได้รวมประมาณ 14% โดยขณะนั้นคาดว่ารายได้รวมของบริษัทจะขยับขึ้นไปอยู่ที่ 4,500 ล้านบาท ซึ่งบริษัทคาดหวังว่าในช่วง 3 ปี อัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ยต่อปีจะอยู่ที่ 20% เติบโตขึ้นจากเมื่อสิ้นปี 2559 ที่มี รายได้รวม 2,558.84 ล้านบาท และในปี 2559 สัดส่วนรายได้จากต่างประเทศขยับขึ้นมาอยู่ที่ 7% จาก 2 ปีก่อนหน้ารายได้จากต่างประเทศน้อยกว่า 1%
"ปีนี้และถัดๆ ไปบริษัทจะให้ความสำคัญกับการรุกออกไปทำธุรกิจในต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งจะเพิ่มทั้งในส่วนของบุคลากรและช่องทางการสื่อสารออกไปให้เข้าถึงผู้ใช้สินค้าของบริษัทมากที่สุด โดยก่อนหน้านั้นบริษัทมีพนักงานที่อยู่ในส่วนของต่างประเทศเพียงแค่ 2 คน แต่ถือว่าสามารถสร้างยอดขายและรายได้ให้กับบริษัทได้อย่างมีนัยสำคัญมาก และอนาคตก็หวังว่ารายได้จากกิจการต่างประเทศจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น" สุวิน กล่าว
แนวคิดของตลาดหลักทรัพย์มีแนวคิดที่จะทำดัชนี CLMV ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีที่จะทำให้นักลงทุนสามารถลงทุนได้บนดัชนีที่เกิดขึ้นในบริษัทหรือกิจการที่ออกไปลงทุนในต่างประเทศ
ทั้งนี้ BEAUTY ดำเนินธุรกิจจำหน่าย ปลีกผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและบำรุงผิว ด้วยแนวความคิดที่ต้องการจะนำเสนอผลิตภัณฑ์เพื่อความงามอันหลากหลายที่ผ่านการคัดสรรอย่างดีทั้งในด้านวัตถุดิบและรูปลักษณ์ เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้บริโภค ซึ่งผลิตภัณฑ์จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เพื่อความงาม 9 กลุ่ม ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้า ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดสุขลักษณะส่วนบุคคล ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวกาย ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม น้ำหอม ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม อุปกรณ์เสริม และผลิตภัณฑ์สำหรับผู้ชาย
นอกจากนี้ จัดจำหน่ายภายใต้แนวคิด 6 รูปแบบ ได้แก่ บิวตี้ บุฟเฟ่ต์ บิวตี้ คอทเทจ บิวตี้ มาร์เก็ต เมด อิน เนเจอร์ เกิร์ลลี่ เกิร์ล และบิวตี้ พลาซ่า แต่ละแนวคิดจะมีความแตกต่างกันในด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ ช่องทางการจำหน่าย และตำแหน่งทางการตลาด เพื่อตอบสนองความต้องการต่อกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่แตกต่างกัน และเป็นการสร้างฐานลูกค้าให้ครอบคลุมทุกระดับของการใช้ผลิตภัณฑ์เพื่อความงาม
การวางคอนเซ็ปต์ธุรกิจด้วยการใช้ไอเดียและศิลปะเข้ามาร่วมในการออกแบบผลิตภัณฑ์ การจัดรูปสาขา และลักษณะของการจัดวางสินค้า ทำให้ธุรกิจของบริษัทได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคดีมาก และด้วยเป้าหมายที่ชัดเจนว่า จะจับกลุ่มลูกค้าระดับกลาง ซึ่งเป็นฐานที่ใหญ่สุดของประชากรทำให้กิจการเติบโตและทำสถิติสูงสุดต่อเนื่องในทุกๆ ปี โดยเห็นชัดว่าจากรายได้และกำไรที่เติบโตต่อเนื่อง ไม่ว่าสภาพเศรษฐกิจโดยรวมและกำลังซื้อของผู้บริโภคจะชะลอตัวในช่วงที่เศรษฐกิจวิกฤต แต่ BEAUTY ก็เติบใหญ่อย่างต่อเนื่อง จนวันนี้เปลี่ยนแปลงราคาตามมูลค่าที่ตราไว้ 1 บาท เหลือ 0.10 บาท ทำให้สภาพคล่องเพิ่มสูงขึ้น มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวม (มาร์เก็ตแคป) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3.1 หมื่นล้านบาท จาก 6,000 ล้านบาท เมื่อปีแรกที่เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ และสาขาเพิ่มจากมีเพียง 1 สาขา ที่โบนันซ่ามาบุญครอง สาขาแรก เมื่อปี 2543 ขยับขึ้นมาเป็น 332 สาขา ทั้งในและต่างประเทศ
สุวิน กล่าวว่า หากให้วิเคราะห์เหตุที่ทำให้ธุรกิจของบริษัทเติบโต ไม่ว่าสภาวการณ์โดยรวมของเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร ก็น่าจะมาจากการอยู่ในอุตสาหกรรมความงามที่อุตสาหกรรมนี้เติบโตทุกปีไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร เพราะผู้หญิงทุกคนไม่หยุดที่จะสวยดูดีซึ่งปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมโต 9% มากกว่าจีดีพี ส่วน BEAUTY เราโต 35% นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทมีความยืดหยุ่น เราจ้างผลิตซึ่งสามารถออกสินค้าได้ทันกับพฤติกรรมของผู้บริโภค เช่น ช่วงไหนสินค้าเกาหลีฮิต แต่ราคาแพง BEAUTY เราออกผลิตภัณฑ์ที่จ้างบริษัทเกาหลีผลิต แต่มีราคาที่ดีกว่า ในสินค้าคุณภาพที่เท่าๆ กัน จึงทำให้สินค้าและผลิตภัณฑ์ของบริษัทได้รับความนิยมจากลูกค้า และการมีสาขาเข้าถึงลูกค้า รวมถึง นักท่องเที่ยวโดยเฉพาะคนจีนให้ชอบ สินค้าบริษัท เมื่อการท่องเที่ยวโตยอดขาย ของบริษัทก็เพิ่มด้วย โดยรายได้จาก นักท่องเที่ยว 20-25% ของรายได้รวม
นอกจากนี้ การที่บริษัทมีการพัฒนาทั้งในเรื่องของบุคลากรภายในบริษัทในทุกๆ ส่วน เพราะเรื่องคน การเทรนนิ่งพนักงานขาย ทั้งทุกๆ ด้านเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นมาก เพราะหากให้ธุรกิจโต แต่ระบบหลังบ้านหรือภายในไม่สนองตอบก็เป็นไปไม่ได้ ดังนั้นจะต้องทำในเรื่องของคนด้วย ตอนนี้บริษัทมีพนักงานทั้งหมด 1,150 คน 70% เป็นพนักงานขาย ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจสำคัญ ขณะเดียวกันก็จะให้คนที่อยู่ในแผนกดีไซน์ หรือแผนก อื่นๆ ในออฟฟิศได้ออกไปสัมผัสลูกค้าด้วยการออกไปสาขา ด้วยการทำแบบนี้ ทำให้เกิดการเรียนรู้การเข้าใจธุรกิจ และทำให้พนักงานรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของ ไม่ใช่แค่ลูกจ้างหรือพนักงานบริษัท เพราะเมื่อผลการดำเนินงานดี เราก็ต้องปันออกให้ถึงทุกภาคส่วน ทั้งผู้ถือหุ้นที่จ่ายปันผลคืนในอัตราที่เกินกว่านโยบายโดยจ่าย 99.71% พนักงานนอกจากมีโครงการอีสปก็ให้โบนัสเพิ่ม โดยปีที่ผ่านมาจ่าย 10 เดือน จาก 7 เดือน เมื่อปีก่อน
ในอนาคต สุวินหวังให้องค์กร BEAUTY เติบโตอย่างมั่นคงยั่งยืน ดังนั้นการสร้างคน สร้างระบบ และสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ดี จึงเป็นประเด็นที่ผมจะทำต่อไป
ข้อมูลเพิ่มเติม
...................................................................................
ที่มา หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับ วันที่ 13 มีนาคม 2560