ห้องเม่าปีกเหล็ก

แบงก์ชาติทั่วโลก เล็งเพิ่ม 'ทองคำ'ในทุนสำรองมากกว่า ‘ดอลลาร์’

โดย สตางค์
เผยแพร่ :
28 views

แบงก์ชาติทั่วโลก เล็งเพิ่ม 'ทองคำ'ในทุนสำรองมากกว่า ‘ดอลลาร์’

แบงก์ชาติทั่วโลกเทใจให้ 'ทองคำ' แนวโน้มใหม่ในฐานะทุนสำรองโลก เล็งเพิ่มสัดส่วนในอีก 5 ปีข้างหน้า สวนทาง ‘ดอลลาร์’ ที่คาดว่าจะลดลง

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงาน การสำรวจของ สภาทองคำโลกหรือ WGC ระบุว่าบรรดาธนาคารกลางทั่วโลกคาดว่าสัดส่วนการถือครอง “ทองคำ” ในฐานะทุนสำรองของประเทศจะเพิ่มขึ้นในอีก 5 ปีข้างหน้า ขณะเดียวกันคาดว่าสัดส่วนของ “ดอลลาร์” จะลดลง

ความต้องการทองคำจากแบงก์ชาติทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากช่วง 3 ปีที่ผ่านมา  ถึงแม้ว่าราคาทองคำจะทำสถิติสูงสุดใหม่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งนิวไฮล่าสุดอยู่ที่  3,500.05  ดอลลาร์ต่อออนซ์ ในช่วงเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 95% นับตั้งแต่ปี 2565 ที่เกิดสงครามความตึงเครียดระหว่างยูเครน และรัสเซีย

เก็บ 'ทองคำ' เข้าคลังเพิ่ม ทั้งระยะกลาง-ระยะยาว

ผลการสำรวจดังกล่าวได้ทำการสำรวจจากแบงก์ชาติทั้ง 27 แห่งทั่วโลกในระหว่างวันที่ 24 ก.พ. - 20 พ.ค.68 ซึ่งพบว่า 76% ของแบงก์ชาติเหล่านี้ คาดว่าปริมาณทองคำสำรองจะเพิ่มขึ้นภายใน 5 ปีข้างหน้า ซึ่งสูงกว่าผลสำรวจเมื่อปีที่แล้วที่ 69% และ 95% คิดว่าปริมาณทองคำสำรองจะเพิ่มขึ้นในอีก 12 เดือนข้างหน้า ซึ่งเป็นสถิติสูงสุด และเพิ่มขึ้นจาก 81% เมื่อปีที่แล้ว  

ผลสำรวจยังชี้ให้เห็นว่าแบงก์ชาติอังกฤษยังคงเป็นสถานที่ยอดนิยมที่สุดสำหรับการเก็บสำรองทองคำ 

ขณะเดียวกัน แบงก์ชาติเกือบ 3 ใน 4 คาดว่าเงินสำรองที่เป็นสกุลเงิน “ดอลลาร์” ของตนจะลดลงในอีก 5 ปีข้างหน้า ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นจาก 62% ในปีที่แล้ว

WGC ระบุว่า "ผลการดำเนินงานของทองคำในช่วงวิกฤติ การกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุน และการป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ เป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันแผนการสะสมทองคำเพิ่มขึ้นในปีหน้า"

ธนาคารกลางได้สะสมทองคำเพิ่มขึ้นมากกว่า 1,000 ตันในแต่ละปีตลอดสามปีที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากค่าเฉลี่ย 400-500 ตันในทศวรรษก่อนหน้า โดยการสะสมทองคำเร่งตัวขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ และเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ 59% ของแบงก์ชาติ ที่ตอบแบบสำรวจระบุว่าความขัดแย้งทางการค้า และภาษีที่อาจเกิดขึ้น มีความเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการเงินสำรองของประเทศ โดยประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ และประเทศกำลังพัฒนามีเปอร์เซ็นต์ที่สูงกว่าประเทศเศรษฐกิจที่เจริญแล้วอยู่ที่  69% และ 40% ตามลำดับ

 

อ้างอิง Reuters

 

ที่มา..  https://www.bangkokbiznews.com/world/1185251

 


สตางค์