โรบอตเทรด พ่นพิษปิดทางรายย่อย ‘เมย์แบงก์’ จี้ตลท.คุม
โรบอตเทรดป่วน ปิดทางการทำกำไรของรายย่อย ฉุดโวลุ่มลดลงต่อเนื่อง รายได้ค่าคอมมิสชันQ1 หดกว่า40% “มนตรี ศรไพศาล” จี้ FITCO-ตลท. ศึกษาผลกระทบ-หามาตรการกำกับดูแล
จากการที่โปรแกรมเทรดอัตโนมัติ หรือ ระบบโรบอต เข้ามามีบทบาทต่อตลาดหุ้นไทย โดยเฉพาะนักลงทุนสถาบันต่างประเทศ ซึ่งมีเม็ดเงินปริมาณค่อนข้างสูง จนส่งผลต่อโวลุ่มการซื้อขายของรายย่อยในช่วงที่ผ่านมานั้น
นายมนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์กิมเอ็ง (ประเทศไทย)จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า 5 ปีที่ผ่านมาสัดส่วนนักลงทุนรายย่อยได้ลดลงมาตลอด จากสัดส่วนกว่า 60% ปัจจุบันเหลือเพียง 35% และในบางวันโวลุ่มตลาด 6 หมื่นล้านบาท มูลค่าการซื้อขายของกลุ่มรายย่อยจะเหลือแค่กว่า 1 หมื่นล้านบาท ส่วนหนึ่งเกิดจากข้อจำกัดในการลงทุน หลังจากที่ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในการพัฒนาใช้โปรแกรมเทรดอัตโนมัติ ทำให้รวดเร็วขึ้นเพียง3 นาทีสามารถซื้อขายได้ 16 รอบ ด้วยกำลังซื้อเพียง 1 ล้านบาท จนทำให้เกิดการตัดหน้าในการทำกำไรของนักลงทุนรายย่อย ฉะนั้นทุกวันนี้นักลงทุนรายย่อยจึงเริ่มหายไปจากระบบ
“อย่างใน 2-3 ปีนี้มีหุ้นที่ดีเป็นหุ้นบลูชิพ แต่ราคาตก เช่น KTC, TRUE และ SAWAD ราคาตกแรง เพราะนักเก็งกำไรหายหมด ไม่มีสภาพคล่องรองรับ ถามว่าระบบหุ่นยนต์ที่ซื้อขายกัน 16รอบใน 3 นาที จะเป็นสภาพคล่องที่แท้จริงหรือ? ประเด็นตรงนี้เป็นสิ่งที่ต้องคิดทบทวน ผมอยากให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ไปทำการศึกษา ดูจากข้อมูลเก่าว่า สัดส่วนนักลงทุนรายย่อยลดลงมาตลอด และโอกาสในการทำกำไรของรายย่อยในช่วง 5 ปีเป็นอย่างไร”
นายมนตรี กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าในเดือนมิถุนายนนี้ ตนจะเสนอเรื่องดังกล่าวหารือในสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) และในเดือนหน้าจะเสนอไปยังคณะทำงานของตลาดหลักทรัพย์ฯ(ตลท.) เบื้องต้นอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และตลท.ได้ศึกษาเสียก่อนว่า ระบบโรบอตเทรดเป็นผลเสียต่อการเก็งกำไรของนักลงทุนบุคคลจริงหรือไม่ หากเป็นจริงตามที่ตนสันนิษฐาน ทางตลท.ก็ควรมีมาตรการกำกับควบคุมเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม
“บรรยากาศที่ซื้อขายกัน 16 รอบภายใน 3 นาที การเล่นเกมเช่นนี้จะเป็นธรรมได้อย่างไร ผมจึงอยากให้ FETCO และตลท. ได้เข้าไปศึกษา พิจารณาถึงพฤติ กรรมการปิดกั้นลัดคิวของระบบโรบอต ถามว่าจำเป็นที่จะต้องเปิดให้ทำมากขนาดนั้นหรือไม่ หากข้อสรุปเป็นไปตามที่ผมสันนิษฐานก็คิดว่าตลท.จะมีมาตรการกำกับออกมาดูแล”
นายช่วงชัย นะวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ผลกระทบจากระบบโรบอตเทรด เริ่มเห็นผลชัดเจนตั้งแต่ปี 2560-2561 คือสภาพคล่องและโวลุ่มการซื้อขายหายไป และที่ผ่านมาสัดส่วนของกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศจะอยู่ที่ 20 และไม่เกิน 30% ของโวลุ่มซื้อขาย แต่ปัจจุบันสัดส่วนนักลงทุนต่างประเทศขึ้นมากกว่า40%
“สัดส่วนที่เกินมา คือมาจากโรบอตเทรด นี่เป็นความเห็นส่วนตัว ส่งผลกระทบสำหรับผู้ที่ให้บริการลูกค้ารายย่อย ซึ่งการจะนำระบบโรบอตมาใช้เราไม่ได้ว่า แต่ความเร็วที่นักลงทุนต่างประเทศเหนือลูกค้าทั่วๆ ไปนั่นคือประเด็น”
นายช่วงชัย ยกตัวอย่าง ตลาดหุ้นสิงคโปร์ที่ได้รับผลกระทบไม่ต่างกัน จากเมื่อ 5 ปีก่อน มีปริมาณการซื้อขายมากกว่าไทย แต่ช่วงหลังน้อยกว่าตลาดหุ้นไทยมาก เนื่องจากรายย่อยหายไปโวลุ่มทั้งตลาดสิงคโปร์เหลือเพียงกว่า 1 หมื่นล้านบาท เพราะถูกระบบโรบอตฆ่าหมด เพราะไม่ต่างกับการเอาปลาใหญ่ไปอยู่ในบ่อเดียวกับปลาเล็ก
“โวลุ่มการซื้อขายในปัจจุบันที่ลดลง ส่งผลกระทบต่อรายได้ค่าคอมมิสชัน จะเห็นว่าภาพรวมโบรกเกอร์ไตรมาส 1/2562 ทั้งระบบติดลบเฉลี่ย 40% ส่วน ที่มองกันว่า โวลุ่มการซื้อขายลดลงเป็นผลจากภาวะตลาดซบเซา ปัจจัยจากสงครามการค้า และการเมือง เหตุการณ์เหล่านี้เป็นวัฏจักร เราผ่านมาไม่รู้กี่รอบ แต่ผลกระทบจากโรบอตหนักกว่ามาก ซึ่งเป็นเรื่องที่ตลท.ต้องเข้ามาดู”
ทั้งนี้จากการสำรวจข้อมูลสัดส่วนการซื้อขายแยกตามกลุ่มนักลงทุนพบว่า กลุ่มนักลงทุนต่างชาติเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย 4 เดือนแรกของปีนี้ (2562) อยู่ที่ 40% จากสิ้นปี 2561 อยู่ที่ 36%ส่วนปี 2560, 2559, 2558 และปี 2557 อยู่ที่ 30%, 26%, 22% และ 20% ตามลำดับ
สวนทางกับสัดส่วนการซื้อขายของนักลงทุนบุคคลในประเทศ 4 เดือนแรกของปี 2562 อยู่ที่36% จากสิ้นปี 2561 อยู่ที่ 41% ส่วนปี 2560, 2559, 2558 และปี 2557 อยู่ที่ 48%, 54%, 59% และ 62% ตามลำดับ
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข้อมูลจาก