ลุ้นตัวเศรษฐกิจทั้งใน-ตปท. หนุนหุ้นไทยกลับมายืนเหนือ1,500 จุด
ตลาดลุ้นตัวเลขเศรษฐกิจทั้งและต่างประเทศ แม้เผชิญแรงขายนักลงทุนต่างชาติ หวังหนุนดัชนีหุ้นไทยสัปดาห์หน้าแนวต้าน1,520จุดและแนวรับ1,470จุด ขณะที่ เงินบาทเคลื่อนไหวกรอบแคบ 29.90-30.30 บาทต่อดอลลาร์ และราคาทองยังมีแรงซื้อเข้าสู่ตลาดเมื่อราคาอ่อนตัวลง
ดัชนีตลาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้(1-5ก.พ.64) หุ้นไทยปรับตัวขึ้นจากสัปดาห์ก่อน โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,496.61 จุดเพิ่มขึ้น 2.02% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 78,305.73 ล้านบาท ลดลง 10.57% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 3.82% มาปิดที่ 369.95 จุด
ภาพรวมหุ้นไทยปรับตัวขึ้นจากสัปดาห์ก่อนและเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นต่างประเทศ แม้จะเผชิญกับแรงเทขายจากกลุ่มนักลงทุนต่างชาติเกือบตลอดสัปดาห์ก็ตาม โดยมีปัจจัยหนุนหลักจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ประกาศในระหว่างสัปดาห์ซึ่งออกมาดีกว่าคาด อาทิ เครื่องชี้ภาคการผลิตและบริการ รวมถึงตัวเลขตลาดแรงงานเดือนม.ค. ตลอดจนความพยายามในการผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ขณะที่หุ้นหลายกลุ่มปรับตัวขึ้นในสัปดาห์นี้ โดยเฉพาะกลุ่มธนาคารและพลังงาน
ด้านนักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 1,671.29 ล้านบาท บัญชีหลักทรัพย์ขายสุทธิ 42.55 ล้านบาท นักลงทุนต่างประเทศซื้อสุทธิ 181.86 ล้านบาท นักลงทุนรายย่อยขายสุทธิ 1,810.60 ล้านบาท มูลค่าการซื้อขายรวม 79,352.02 ล้านบาท
บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)กสิกรไทย คาดในสัปดาห์ถัดไป (8-12 ก.พ.) มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,485 และ 1,470 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,510 และ 1,525 จุด ตามลำดับ
โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์โควิด 19 ผลประกอบการงวดไตรมาส4/63 ของบจ. ไทย ความคืบหน้าเกี่ยวกับการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ-จีน ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนม.ค. และตัวเลขผู้ยื่นขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิตและดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนม.ค. ของจีน ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนม.ค.ของญี่ปุ่น รวมถึงผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนธ.ค. 63 ของยูโรโซน
ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุเงินบาทขยับอ่อนค่าเล็กน้อย โดยเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ ในช่วงต้น-กลางสัปดาห์ ขณะที่มติของกนง. ซึ่งคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 0.50% มีผลต่อเงินบาทในกรอบจำกัด เนื่องจากเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ดีเงินบาททยอยอ่อนค่าในช่วงปลายสัปดาห์สอดคล้องกับสกุลเงินอื่นๆ ในเอเชีย ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ได้รับแรงหนุนต่อเนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ดีกว่าที่คาด และความหวังต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ หลังประธานาธิบดี โจ ไบเดนส่งสัญญาณเร่งผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและเร่งการฉีดวัคซีนให้ประชาชนสหรัฐฯ
ในวันศุกร์ (5 ก.พ.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 30.09 เทียบกับระดับ 29.94 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (29 ม.ค.)
สำหรับสัปดาห์ถัดไป (8-12 ก.พ.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 29.90-30.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ
ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ความคืบหน้าของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ถ้อยแถลงของประธานเฟด และสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนม.ค. ตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.พ. (เบื้องต้น) นอกจากนี้ตลาดอาจรอติดตามข้อมูลเดือนม.ค. ของจีน อาทิ ดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิต ด้วยเช่นกัน
ส่วนความเคลื่อนไหวราคาทองคำวันศุกร์ที่ผ่านมานี้ ปิดที่ 1,808.50 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ขณะที่ราคาทองคำในประเทศอยู่ที่ 25,880 บาทต่อบาททองคำ
ด้านวายแอลจี บูลเลี่ยนอินเตอร์เนชั่นแนล ระบุว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐแถลงว่า สหรัฐจะเสริมสร้าง"ความแข็งแกร่ง" ด้วยการสานสัมพันธ์กับประเทศพันธมิตรเพื่อให้สามารถแข่งขันกับจีนและรัสเซียในเวทีโลกได้รัฐบาลสหรัฐจะมีการประเมินท่าที่ทางการทหารของสหรัฐต่อประเทศทั่วโลกใหม่อีกครั้ง หลายฝ่ายมองว่าการตัดสินใจดังกล่าวเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีนที่ไม่ราบรื่น ขณะที่กองทัพจีนระบุว่า สหรัฐจงใจ"สร้างความตึงครียด" ขัดขวางสันติภาพและเสถียรภาพ หลังเรือรบสหรัฐล่องผ่านช่องแคบไต้หวันที่มีความอ่อนไหวความไม่แน่นอนดังกล่าว ได้สร้างแรงซื้อเข้าสู่ตลาดทองคำเมื่อราคาอ่อนตัวลง
ทั้งนี้ ราคาทองคําพยายามทดสอบแนวต้านโซน 1,811-1,818 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อาจจับตาว่าจะผ่านได้หรือไม่ หากไม่ผ่านอาจได้เห็นการตัวลงทดสอบแนวรับโซน 1,784-1,764 ดอลลาร์ต่อออนซ์
อย่างไรก็ตาม หากราคาสามารถผ่านขึ้นไปได้จะมีแนวต้านถัดไปเหนือโซน 1,844ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทั้งนี้ ยังคงเน้นการเข้าซื้อเมื่อราคาอ่อนตัวลง หากหลุดแนวรับระวังการปรับตัวย่อลง เพื่อทดสอบแนวรับถัดไปโซน 1,764 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อาจจำเป็นต้องขายตัดขาดทุน และแบ่งขายบางส่วนเมื่อราคาปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น แต่หากราคาผ่านแนวต้านได้สามารถถือต่อเพื่อรอขายที่แนวต้านถัดไป
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข้อมูลจาก