จับตาทิศทางการ Go Global ของ Vincent Clinic ภายใต้การขับเคลื่อนของ แบงค์-อธิชนัน พูลเกษ CEO คนล่าสุด [ADVERTORIAL]
HIGHLIGHTS
- การก้าวข้ามมายังอุตสาหกรรมความงามในฐานะ CEO คนใหม่ของ Vincent Clinic สำหรับ แบงค์-อธิชนัน พูลเกษ หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Bitkub แพลตฟอร์มซื้อขายคริปโตชั้นนำของประเทศไทย ความท้าทายที่สุดของเขาคืออะไร?
- อ่านทิศทางการเติบโตแบบ Go Global ของ Vincent Clinic เมื่อได้วิธีคิดแบบ Think Global โดยนำเฟรมเวิร์กที่เคยปั้น Bitkub ให้ประสบความสำเร็จมาปรับใช้
ในแวดวงการเงิน แบงค์-อธิชนัน พูลเกษ เป็นที่รู้จักในฐานะคนหนุ่มไฟแรงที่เคยร่วมทีม Investment Bank ดูแลด้าน Proprietary Trading และ M&A ที่ Goldman Sachs บริษัทการเงินระดับโลก และเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง Bitkub แพลตฟอร์มซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซีชั้นนำของประเทศไทย
การพูดคุยกับเขาในครั้งนี้ไม่ใช่ในฐานะ CFO ของ Bitkub หรือซักถามเรื่องทิศทางการลงทุนในตลาดคริปโต แต่อธิชนันนั่งคุยกับ THE STANDARD ในฐานะ CEO คนใหม่ของ Vincent Clinic คลินิกความงามที่โดดเด่นเรื่องการทำศัลยกรรมจมูกด้วยเทคนิคพิเศษ SSTP และมีการเติบโตอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลา 5 ปี
ถ้าคุณสงสัย? เราก็อยากรู้เช่นกันว่าคนหนุ่มไฟแรงที่กำลังรุ่งในอุตสาหกรรมการเงิน เหตุใดถึงตัดสินใจกระโดดข้ามฟากมาอุตสาหกรรมสุขภาพและความงาม
“แพสชันด้านสุขภาพก็มีส่วนครับ” อธิชนันตอบ เมื่อเราถามถึงจุดเริ่มต้นของการเข้ารับตำแหน่ง CEO ของ Vincent Clinic “ต้องเล่าก่อนว่าตอนทำงานอยู่ที่ Goldman Sachs ผมนอนวันละ 2 ชั่วโมง ยอมรับว่าช่วงนั้นค่อนข้างมีแพสชันในการทำงานสูงมาก เป็นช่วงที่ได้ประสบการณ์เยอะ แต่ก็ต้องเอาสุขภาพเข้าแลก จนกระทั่งกลับมาเมืองไทย ได้มีโอกาสไปทำงานที่ PwC ประเทศไทย ดูแลด้าน M&A เหมือนเดิม จากนั้นก็ย้ายมารับตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาองค์กรของ dtac ดูแลด้านการลงทุนทั้งหมด จนกระทั่ง ท๊อป จิรายุส ชวนเปิดบริษัท เขาต้องการ CFO ผมเองก็สนใจเรื่องคริปโตอยู่แล้ว เลยตัดสินใจลาออกไปเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Bitkub ดูแลหน่วยงานที่ปรึกษาด้านการเงิน การพัฒนาธุรกิจ ภาพรวมของธุรกิจจนถึงปัจจุบัน
“ผมเรียกว่าเป็นจังหวะที่ลงตัวดีกว่า มันเป็นช่วงที่ผมเริ่มมองเห็นว่าเทรนด์สุขภาพและความงามเป็นเมกะเทรนด์ที่มองข้ามไม่ได้ โดยเฉพาะในประเทศไทยที่มูลค่าตลาดอุตสาหกรรมความงามพุ่งสูงถึง 6 หมื่นล้านบาท และคาดการณ์ว่าจะสูงขึ้นอีกหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย เพราะคนใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ทั้งจากภายในและภายนอก จนกระทั่งได้มาคุยกับหมอพีท (นพ.พงษ์ธีระ เศรษฐ์ธนาวรากุล ผู้ก่อตั้ง Vincent Clinic) ถึงได้รู้ว่าเขาเองก็มีแผนที่จะนำเรื่องนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาใช้อยู่แล้ว ผมเองก็อยากมองว่าธุรกิจความงามมีช่องทางที่จะนำนวัตกรรมด้านการเงินก็ดี หรือเรื่องเทคโนโลยีต่างๆ เช่นการทำโทเคนที่ผมถนัดเข้ามาใช้ได้ ก็เลยตัดสินใจเข้ามาร่วมงานกับทาง Vincent Clinic เพราะคิดว่าน่าจะมีอะไรท้าทายให้ทำอีกเยอะ”
ปัจจุบันอธิชนันจึงควบตำแหน่ง CEO คนใหม่ของ Vincent Clinic และยังนั่งเก้าอี้ประธานของ Bitkub เช่นกัน
อธิชนันเล่าต่อว่า หลังจากที่เข้ามาคลุกคลีพบว่าความท้าทายของธุรกิจความงามในเมืองไทยคือเรื่องการแข่งขัน ธุรกิจความงามอยู่ใน Red Ocean บีบกันเรื่องของราคา ทำให้หลายคลินิกต้องลดต้นทุนและลดคุณภาพไปด้วย อาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของผู้ใช้บริการ
“มันมีงานวิจัยพบว่า คนที่ดูดีจะมีโอกาสทางสังคมมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ คำว่า Beauty Privilege ในเมืองไทยเองหรือที่เกาหลีมีอยู่จริง รูปลักษณ์ภายนอกกลายเป็นสิ่งสำคัญ ส่งผลให้ดีมานด์ในตลาดความงามเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คนมองการทำศัลยกรรมเป็นเรื่องปกติ ประกอบกับเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย ยิ่งทำให้ศัลยกรรมเป็นเรื่องเข้าถึงง่าย จุดนี้ถือเป็นความท้าทายของ Vincent มากๆ เพราะเราต้องรักษามาตรฐานเรื่องคุณภาพเป็นหลัก
“แต่ถ้าถามถึงความท้าทายในตัวผมเองคงเป็นเรื่องขององค์ความรู้ต่างๆ ในอุตสาหกรรมความงาม สำหรับผมมันค่อนข้างใหม่มากๆ แต่ก็สนุกกับการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่แล้ว เพราะประสบการณ์จากสายการเงินสามารถนำมาปรับใช้ได้ หรือแม้แต่เรื่องของการสเกลอัปธุรกิจให้เติบโต ซึ่งเป็นอีกประเด็นที่หมอพีทอยากให้มาช่วย เพราะเห็นว่าผมเคยสร้าง Start-up ตั้งแต่ศูนย์มาก่อน”
ทำไมต้อง ‘Vincent Clinic’
“ส่วนสำคัญคือหมอพีทและหมอแพร ทั้งคู่มีความน่าเชื่อถือและความซื่อสัตย์ต่อลูกค้าสูงมาก เพราะก่อนที่จะเข้ามารับตำแหน่ง CEO น้องสาวของผมก็เป็นลูกค้าที่นี่ ก็เลยรู้ว่าเขาให้ความสำคัญกับความต้องการของลูกค้าเป็นหลักจริงๆ และใช้ของเกรดพรีเมียมในราคาที่จับต้องได้ ซึ่งตรงกับแนวคิดของผมด้วยว่า ธุรกิจต้องขับเคลื่อนจากความซื่อสัตย์ของเจ้าของธุรกิจต่อลูกค้าก่อน
“อีกประเด็นที่ผมสนใจคือ Vincent Clinic ลงทุนใน CAPEX (Capital Expenditures) ไปเยอะมากในเรื่องของนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการแพทย์ เพราะต้องการสร้างความปลอดภัยและความสะดวกสบายให้กับลูกค้า ทุกอย่างที่ใช้ต้องได้มาตรฐาน รวมไปถึงการให้ความสำคัญกับการเทรนนิ่งทีมหมอ ซึ่งทุกคนล้วนแล้วแต่มีชั่วโมงบินและประสบการณ์สูงมากๆ”
สิ่งที่อธิชนันสัมผัสได้และมองว่ามีส่วนสำคัญต่อการเติบโตขององค์กรอีกอย่าง คือการดูแลพนักงานเหมือนคนในครอบครัว มีสวัสดิการที่ดี และในอนาคตวางแผนที่จะให้หุ้น ESOP กับพนักงาน ซึ่งตรงกับวิสัยทัศน์ของเขาที่เคยวางแผนนี้ให้กับ Bitkub เช่นกัน
“สุดท้ายคงจะเป็นเรื่องของวิสัยทัศน์ที่ตรงกัน ผมเองก็มองว่าเรื่องสุขภาพและความงามมันเป็นเมกะเทรนด์แน่นอน ดังนั้นเป้าหมายของ Vincent Clinic คือการเป็น Medical Hub ของเอเชีย และเป็นโรงพยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านศัลยกรรม และผมเชื่อว่าประสบการณ์ของผมจะช่วยผลักดันให้เป้าหมายนี้เกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน”
นอกจากนี้ อธิชนันยังเชื่อว่าประเทศไทยยังมีปัจจัยส่งเสริมให้เหมาะจะเป็น Medical Tourism Destination อีกมาก ทั้งมาตรฐานการแพทย์ที่เชื่อถือได้ ค่ารักษาที่ถูกกว่าหากเทียบกับการทำศัลยกรรมที่ยุโรปหรืออเมริกา
“ต้องมองย้อนกลับมาที่ผู้บริโภค เวลาที่เขาเลือกจะใช้บริการอะไรสักอย่าง หลักๆ จะดูที่คุณภาพ ราคา ความรวดเร็ว และความสะดวกสบาย ประเทศไทยมีทั้งหมดที่กล่าวมา เรามีบุคลากรทางการแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมความงาม เรื่องราคาบ้านเราก็ถือว่าอยู่ในระดับที่คนส่วนใหญ่เข้าถึงได้ ส่วนเรื่องบริการต่างๆ คนไทยมี Service Mind ที่ดีอยู่แล้ว และอีกเรื่องที่ตอนนี้ประเทศไทยทำได้ดีคือเทคโนโลยี โดยเฉพาะเรื่องของ Internet Banking ของไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีระบบที่ดีกว่าในยุโรปและในหลายๆ ประเทศ”
อธิชนันบอกว่า สิ่งที่ธุรกิจสุขภาพและความงามยังขาดอาจเป็นเรื่องของแพลตฟอร์มที่จะมาช่วยวางแผนกลยุทธ์ ดึงคนให้เข้ามาซื้อสินค้าและใช้บริการต่างๆ การสร้างสิทธิประโยชน์หรือดีลพิเศษ เพื่อให้คนเข้ามาให้เรตติ้งคุณหมอ การให้บริการ และสถานประกอบการ “การให้เรตติ้งจะทำให้เกิดความโปร่งใสและความเชื่อมั่น ธุรกิจเองก็จะได้รับฟีดแบ็กที่เชื่อถือได้จากลูกค้ามากขึ้นด้วย”
ในอนาคตเขามองไปถึงการทำ Crowdfunding ให้นักลงทุนที่สนใจมาร่วมระดมทุน “เนื่องจากธุรกิจด้านสุขภาพเป็นธุรกิจที่ต้องการความเข้าใจในเชิงลึกเพื่อสื่อสารข้อมูลให้กับนักลงทุน ดังนั้น การทำ Crowdfunding จะทำให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมมากขึ้น มีการผูกขาดน้อยลง เนื่องจากธุรกิจประเภทนี้จะใช้เงินลงทุนทั้ง CAPEX และ OPEX ค่อนข้างสูง”
จุดต่างระหว่างธุรกิจความงามที่ประสบความสำเร็จและไม่ประสบความสำเร็จ
“สำหรับผมความซื่อสัตย์และจริงใจกับลูกค้าสำคัญที่สุด ไม่ว่าเราทำธุรกิจอะไร ต้องเริ่มจากให้สร้างคุณค่ากับทุกคนก่อน ไม่ว่าจะเป็นลูกค้า หุ้นส่วน หรือน้องๆ ในทีม แล้วทุกอย่างจะตามมาเอง หรือกับธุรกิจและหน่วยงานที่เราติดต่อ แม้แต่พาร์ตเนอร์ก็ต้องทำธุรกิจแบบ Win-Win ถึงจะประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน และยืนระยะได้นาน
“ขาดไม่ได้เลยคือเจ้าของธุรกิจที่มีแพสชันกับสิ่งที่ทำจริงๆ สิ่งต่างๆ ก็จะตามมา เมื่อมีแพสชันจะนำไปสู่ทิศทางและเป้าหมายที่ชัดเจน และต้องทำสิ่งเหล่านั้น สื่อสารไปถึงพนักงานทุกคนให้เข้าใจอย่างลึกซึ้ง สื่อสารระหว่างทีมให้เข้าใจตรงกัน เช่น เวลาคิดแคมเปญขึ้นมา เมสเสจนี้จะต้องไปถึงทีมงานหน้าบ้านที่สามารถสื่อสารให้ลูกค้าเข้าใจได้ ยิ่งกับธุรกิจที่มีหลายสาขาอย่าง Vincent Clinic จุดนี้ยิ่งต้องแข็งแกร่ง เพื่อที่มันจะได้เติบโตไปพร้อมกัน”
ความเชื่อมโยงระหว่างการเงิน การลงทุน และเทคโนโลยีในอนาคต ที่จะมาเสริมธุรกิจของ Vincent Clinic ให้เติบโตอย่างยั่งยืน
อธิชนันแชร์ข้อมูลที่น่าสนใจว่า มีการคาดการณ์ว่าจะเกิดการใช้จ่ายด้าน Healthcare ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สูงถึง 740 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เทคโนโลยีหรือ Health Tech จะทำให้ทุกอย่างเชื่อมถึงกัน มีนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความสะดวกสบายและความรวดเร็ว เช่น Metaverse ทำให้คนได้รับการรักษาแบบเฉพาะเจาะจงและสะดวกสบายมากขึ้นผ่านช่องทาง Telemedicine Tools และ Augmented Reality
“เทคโนโลยียังช่วยให้คุณหมอสามารถทำเทรนนิ่งการผ่าตัดได้ หรือการทำ Pre Operation Planning เช่น จะผ่าตัดจมูกก็ทำเป็น 3D ออกมาก่อน อย่างบริษัท Immersive Touch ก็นำอุปกรณ์ VR Health มาใช้วางแผนก่อนการผ่าตัด เมื่อนวัตกรรมเข้ามาทำให้การให้บริการสะดวก รวดเร็ว ก็จะทำให้มูลค่าของธุรกิจเพิ่มสูงขึ้น และกลายเป็นธุรกิจที่น่าจับตาสำหรับ Private Equity หรือกลุ่ม Venture Capital ก่อนที่เทรนด์เหล่านั้นจะเกิด Mass Adoption ขึ้นอีกด้วย”
ปัจจุบัน Vincent Clinic เสริมแกร่งให้กับองค์กรด้วยการเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมการทำศัลยกรรมความงามเพื่อตอบโจทย์เทรนด์ใหม่ๆ ด้วยการนำเครื่อง 3D Scanner แบบ 360 องศา เข้ามาร่วมประเมินก่อนการเข้ารับบริการเป็นคลินิกแรกในเมืองไทย
สิ้นปีนี้ Vincent Clinic จะเปิดตัว Vincent Token, Vincent NFT และ Referral Program เรียกได้ว่าเป็นคลินิกความงามแห่งแรกของประเทศไทยที่ทำเรื่องนี้ จะเป็นการยกระดับและเปิดโอกาสให้ธุรกิจความงามได้เห็นว่า นอกจากเรื่องเครื่องมือและนวัตกรรมทางการแพทย์ เทคโนโลยีสามารถเบลนด์เข้าไปในทุกธุรกิจ
“Vincent Token และ Vincent NFT จะลิงก์ไปกับ Referral Program ด้วย คือให้มองตัว Referral Program เหมือนบัตรสมาชิกที่เราคุ้นเคย Vincent Token ก็เหมือนการสะสมคะแนน เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบเป็นโทเคนหรือสกุลเงินดิจิทัลนั่นเอง
“อยากให้มองว่าโทเคนจะเป็นจุดเล็กๆ ของเป้าหมายในการ Go Global เพราะถ้าในอนาคตเราต้องการทำให้ Vincent Clinic เป็น Medical Hub แปลว่าทุกอย่างจะต้องปรับเข้าสู่ดิจิทัล ซึ่งเราเองก็มีแผนที่จะใช้เทคโนโลยีต่างๆ เช่น AI, Image Processing รวมถึงเทคโนโลยี Blockchain และ Data Analytics ช่วยวิเคราะห์การรักษา การเก็บฐานข้อมูลลูกค้าให้เชื่อมโยงกันทุกสาขา หรืออย่าง AI นำมาช่วยวิเคราะห์ได้ว่าสินค้าหรือบริการไหนเป็นที่นิยมในตลาด วิเคราะห์จมูกคนไข้ว่ามีปัญหาจุดไหน ไปจนถึงวิเคราะห์แผนการลงทุนได้เลยว่า ถ้าจะเพิ่มโปรดักต์ใหม่ๆ จะเพิ่มเพราะอะไร หรือเพิ่มด้านไหนบ้าง ทั้งหมดนี้จะเดินหน้าภายใต้แนวคิด Customer Centric”
ทิศทางการเติบโตแบบ Go Global ภายในหลักคิดแบบ Think Global
นอกจากนี้ ด้วยวิสัยทัศน์และการบริหารงานแบบ Think Global ของเขา ทำให้หลายบริษัทที่มีส่วนร่วมสามารถ Go Global ได้ ในฐานะ CEO คนใหม่ได้เตรียมแผนผลักดัน Vincent Clinic โดยเริ่มจากโฟกัสตลาดเมืองไทย สร้างธุรกิจให้แข็งแกร่ง เพื่อเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญในการเพิ่ม GDP ให้กับประเทศไทย
“ไม่ว่าจะทำธุรกิจด้านบริการหรือการทำเทรดดิ้ง สิ่งที่ต้องมองเหมือนกันคือ มองเทรนด์ใหญ่และเลือกมองให้ตรงกับความต้องการของตลาด รวมถึงสภาวะช่วงนั้น มันถึงจะได้มูลค่าตลาดที่เหมาะสม ตอนนี้เรากำลังคิดสองส่วนคือจะโตแบบออร์แกนิก คือโตไปด้วยกำไรจากฐานลูกค้าของเราเอง หรือว่าจะมีการทำควบรวมกิจการในอนาคต ถ้าเกิดจะทำเป็นโรงพยาบาลอาจจะต้องระดมทุนระดับ Seed Round และ Series A ก่อน”
สำหรับแผนการขยายสาขาในเมืองไทยหรือออกไปต่างแดน เขาบอกว่าคงโฟกัสที่เมืองไทยเป็นหลัก แต่อาจจะเน้นการ Think Global เรื่องของคุณภาพ มาตรฐาน และความทันสมัย อีกกลยุทธ์คงเป็นเรื่องของการมองหาพาร์ตเนอร์ ตอนนี้ก็เริ่มคุยกับพาร์ตเนอร์ที่เป็นโรงพยาบาลที่อเมริกา เชื่อว่าการมีพาร์ตเนอร์ที่แข็งแกร่งจะทำให้เราสามารถเร่งการเติบโต ควบคู่ไปกับการเรียนรู้นวัตกรรมใหม่ๆ จากพาร์ตเนอร์ด้วย แทนที่เราจะไปลองผิดลองถูกเอง การจับมือกับผู้เชี่ยวชาญเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้เราแข่งขันในตลาดได้
“ผมตั้งเป้าอีก 5-10 ปี ประเทศต่างๆ จะต้องนำเราเป็นแบบอย่างในเรื่องของ Total Solution Wellness Care ให้ได้” อธิชนันกล่าวทิ้งท้าย