ห้องเม่าปีกเหล็ก

เศรษฐกิจไทยกับปัญหาเชิงโครงสร้าง ความเสี่ยงที่มาพร้อมโอกาส

โดย dave
เผยแพร่ :
107 views

เศรษฐกิจไทยกับปัญหาเชิงโครงสร้าง ความเสี่ยงที่มาพร้อมโอกาส

ดร. วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในช่วง Conversation with BoT Governor “2020 Economic Outlook: Opportunities & Challenges” การสนทนาแลกเปลี่ยนมุมมองทางเศรษฐกิจทั้งในด้านโอกาสและความเสี่ยง กับ ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยในงาน The Year Ahead 2020 ประจำปี โดยบริษัทหลักทรัพย์ภัทร บริษัทในกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ว่า เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นสงครามทางการค้า การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ภัยแล้ง ตลอดจนความล่าช้าของงบประมาณภาครัฐ อย่างไรก็ตามปัญหาเหล่านั้นล้วนเป็นปัจจัยที่เข้ามามีผลกระทบในระยะสั้น แต่ประเทศไทยยังมีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างระยะยาวที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและภาคธุรกิจ ซึ่งต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังจากทุกภาคส่วน ได้แก่
               การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร โดยไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และในอีกประมาณ 15 ปี ไทยจะเข้าสู่การเป็น Hyper-Aged Society คือมีประชากรเกิน 20% ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี โดยสถานการณ์นี้จะมีผลกระทบค่อนข้างมากต่อกำลังแรงงานในระบบเศรษฐกิจ รวมถึงส่งผลต่อระบบโครงสร้างการจับจ่ายใช้สอย
               ขณะที่ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาประชากรวัยทำงานของไทยลดลงอย่างต่อเนื่องและยังคงมีแนวโน้มที่จะลดลงต่อ นอกจากนี้สมาชิกในครอบครัวมีภาระในการดูแลผู้สูงอายุมากขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากคนไทยจำนวนมากไม่มีเงินออมมากพอในการเข้าสู่วัยเกษียณจึงต้องพึ่งพาลูกหลานหรือรัฐบาล
               อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเป็นทั้งความเสี่ยงและโอกาส เนื่องจากในอนาคตตลาดผู้สูงอายุจะเป็นตลาดที่ใหญ่ โดยจะเห็นได้จากปัจจุบันเริ่มมีการโฆษณาผลิตภัณฑ์และบริการสำหรับผู้สูงอายุ นอกจากนี้การที่ไทยเริ่มเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุประเทศแรกๆ ในภูมิภาคจะทำให้มีโอกาสในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆก่อนประเทศอื่นเช่นและพัฒนาให้เป็นผู้นำตลาดได้
สภาวะแวดล้อมทางภูมิอากาศ ปัญหาโลกร้อน โดยจะเห็นได้ว่าปัจจุบันเริ่มมีผลกระทบที่รุนแรงมากขึ้น เช่น ปีที่ผ่านมา ไทยประสบปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมในพื้นที่เดียวกัน และสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปจะส่งผลให้มีความเสี่ยงใหม่เกิดขึ้น โดยเฉพาะไทยซึ่งเป็นประเทศที่ทำเกษตรกรรมจะได้รับผลกกระทบรุนแรง ซึ่งขณะนี้เกษตรกรไทยมีกันชนค่อนข้างน้อย เช่น มีหนี้มาก มีเงินออมน้อย และมีผลผลิตต่อไร่ค่อนข้างต่ำในทุกพืชหลักทางการเกษตร
               “ปัจจุบันปัญหาทางภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปส่งผลกระทบต่อหลายธุรกิจ โดยเฉพาะภาคการเกษตร ซึ่งสิ่งสำคัญคือต้องช่วยกันคิดว่าจะมีวิธีการใดบ้างที่จะทำให้เกษตรกรไทยเท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงจากความเสี่ยงของสภาวะภูมิอากาศได้”
อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศไม่ได้ส่งผลกระทบเฉพาะภาคเกษตรเท่านั้น แต่กระทบกับทุกธุรกิจ เนื่องจากน้ำจะหายากมากขึ้น ขณะที่ทุกอุตสาหกรรมต้องใช้น้ำในการดำเนินกิจการ นอกจากนี้สิ่งที่สำคัญมากขึ้นคือความคาดหวังของสังคมที่ต้องการเห็นการทำธุรกิจเพื่อความยั่งยืนจะเป็นกระแสหลักและจะกลายเป็นมาตรฐานของการทำธุรกิจ
               การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทกับชีวิตประจำวันของคนเรามากขึ้น ขณะที่ในอีก 5 ปีข้างหน้าการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีจะเกิดเร็วขึ้นและส่งผลกว้างไกลกว่า 5 ปีที่ผ่านมา มีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ในกระบวนการทำงานมากขึ้น เพื่อช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้จะส่งผลกระทบโดยตรงกับแรงงาน ดังนั้นจึงต้องมองหาวิธีการที่จะเพิ่มศักยภาพของแรงงานให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี               
               อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีแม้จะเป็นความเสี่ยงแต่ก็เป็นโอกาสด้วยเช่นกัน โดยจะเห็นได้จากการที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในปัจจุบันเข้าถึงเทคโนโลยีได้ง่ายขึ้น เช่น สามารถขายของผ่าน E-Commerce ทำให้เป็นการช่วยขยายตลาดได้มากขึ้น
การเปลี่ยนแปลง Value Chain ปัจจุบัน Global Value Chain กำลังเปลี่ยน ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและข้อตกลงทางการค้าของประเทศต่างๆ และการเปลี่ยนแปลงความคาดหวังของลูกค้า
               โดยประเทศที่กำหนด Value Chain ที่สำคัญในภูมิภาคคือจีน และการเปลี่ยนแปลง Value Chain ครั้งใหญ่ของโลกเกิดขึ้นเมื่อจีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) ซึ่งจีนเป็นแหล่งผลิตและประกอบสินค้าที่สำคัญ
อย่างไรก็ตามด้วยเทคโนโลยีที่มีการพัฒนามากขึ้นกิจกรรมใน Value Chain เช่น การประกอบสินค้ามีบทบาทน้อยลงเนื่องจากทดแทนได้ด้วยหุ่นยนต์ ดังนั้น Global Value Chain ในปัจจุบันจะเห็นได้ว่ากิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตจะมีมูลค่าเพิ่มน้อยลง ขณะที่กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบกลับมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น เรื่องลิขสิทธิ์ทางปัญญาจะมีความสำคัญใน Value Chain มากขึ้น
               นอกจากนี้ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงของประเทศจีนที่สามารถผลิตเองได้ ไม่ต้องนำเข้าสินค้าขั้นกลาง จากประเทศอื่นในภูมิภาค รวมถึงสินค้าบางประเภทที่ไทยสามารถส่งไปให้จีนผลิตต่อปัจจุบันจีนสามารถผลิตเองได้ เช่น ยาง เคมีภัณฑ์ ที่จีนนำเข้าจากไทยลดลง ส่งผลให้ผู้ประกอบการที่ผลิตแต่สินค้าต้นน้ำเสียความสามารถในการแข่งขันได้
               “ Value Chain  สมัยใหม่ต้องเน้นกิจกรรมที่อาศัยองค์ความรู้มากกว่าความได้เปรียบเรื่องค่าจ้างแรงงาน ซึ่งต้องมาคิดว่าเราจะปรับตัวอย่างไรให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้าง Value Chain ที่กำลังเกิดขึ้น”
สภาพคล่องส่วนเกินในระบบการเงินโลก ที่ผ่านมามีสภาพคล่องในระบบการเงินโลกค่อนข้างมาก โดยตั้งแต่เกิดวิกฤติการเงินโลกปี 2008-2009 ธนาคารกลางทั่วโลกโดยเฉพาะธนาคารกลางของประเทศอุตสาหกรรมหลักใช้นโยบายการเงินในแบบ Unconventional  หรือนโยบายที่ไม่ได้ใช้ในช่วงเวลาปกติ เช่น มีการอัดฉีดสภาพคล่อง ดำเนินดอกเบี้ยนโยบายแบบติดลบ ตลอดจนการเข้าไปซื้อตราสารโดยตรงจากตลาด ไม่ว่าจะเป็นหุ้น พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้เอกชน
               จากการเปลี่ยนแปลงต่างๆที่เกิดขึ้นและปัจจัยเชิงลบที่เข้ามามีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจทำให้นโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลักยังคงเป็นแบบ Unconventional หรือยังไม่ได้กลับสู่ภาวะปกติ
ทั้งนี้หากมองต่อไปในอีก 5 ปีข้างหน้าสภาพคล่องส่วนเกินในระบบการเงินโลกจะยังคงอยู่ในระดับสูง ขณะที่อัตราดอกเบี้ยจะยังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งสร้างผลข้างเคียงในหลายเรื่อง เช่น กระทบต่อธุรกิจธนาคาร ผู้ออมเงิน
               อย่างไรก็ตามการที่สภาพคล่องส่วนเกินในระบบการเงินโลกสูงก็เป็นโอกาสเช่นเดียวกัน โดยจะเห็นได้จากการที่อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีของไทยอยู่ที่ 1.3% ต่ำสุดเป็นประวัติกาล ซึ่งไทยสามารถกู้เงินได้ถูกกว่าสหรัฐอเมริกาแม้เครดิตจะต่ำกว่า จึงเป็นโอกาสที่ฝั่งผู้กู้จะใช้โอกาสนี้ในการปรับตัว ปรับโครงสร้างทางการเงินให้เหมาะสม
               ทั้งนี้การที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำแม้จะเป็นโอกาสแต่อาจกลายเป็นความเสี่ยงได้หากไม่ระมัดระวังโดยเฉพาะความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงิน โดยจะเห็นได้จากปัจจุบันหนี้ทั่วโลกสูงที่สุดเมื่อเทียบกับ GDP ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยมีภาวะหนี้สูงมากเท่าปัจจุบันมาก่อน เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำไม่เป็นแรงจูงใจในการออมและทำให้คนหาผลตอบแทนสูงขึ้นตลอดจนประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร
               “การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างเป็นทั้งความเสี่ยงและโอกาส ซึ่งหากใครไม่ปรับตัวให้เท่าทัน การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างอาจกลายเป็นความเสี่ยง ขณะที่ใครที่ปรับตัวให้เท่าทัน และรู้จักใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ก็จะกลายเป็นโอกาสที่จะช่วยเพิ่มผลิตภาพให้กับธุรกิจได้”
               ดร. วิรไท กล่าวว่า นอกจาก 5 ปัญหาเชิงโครงสร้างแล้ว ยังมีหลายปัญหาที่สำคัญที่ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างเศรษฐกิจ เช่น  ปัญหาความเหลื่อมล้ำทั้งในด้านรายได้ประชากร และในด้านของขนาดธุรกิจ ซึ่งหากไม่ได้รับการแก้ไขอาจส่งผลกระทบต่อความอยู่รอดของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมซึ่งเป็นแหล่งจ้างงานที่สำคัญและส่งผลให้เกิดปัญหาหนี้ครัวเรือนตามมาได้ ขณะที่ปัญหาที่สำคัญของไทยคือเรื่องผลิตภาพของไทยที่อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ โดยเฉพาะภาคเกษตร สำหรับภาคบริการแม้จะมีสัดส่วนต่อ GDP ที่เพิ่มสูงขึ้นแต่ยังเป็นการบริการในรูปแบบเก่า ซึ่งหากไม่ให้ความสำคัญกับผลิตภาพปัญหาเชิงโครงสร้างทั้ง 5 ปัจจัยจะกลายเป็นความเสี่ยงมากกว่าโอกาส ดังนั้นสิ่งที่มีความจำเป็นและสำคัญมากในปัจจุบันคือการยกระดับผลิตภาพของไทย

 

ขอบคุณที่มาเนื้อหาข้อมูลจาก


dave