ไดโนเสาร์ ปราสาท และหนี้สิน : บทเรียนราคาแพงของ ‘นิโคลัส เคจ’
จากดาราพันล้านสู่หนี้ท่วมหัว และการสู้ยิบตาแก้หนี้กว่า 200 ล้านบาท
.

“งานคือผู้พิทักษ์ของผมเสมอ แม้ว่าบางงานมันจะห่วย แต่มันก็ทำเงิน”
นิโคลัส เคจ (Nicolas Cage) กล่าวในการให้สัมภาษณ์หลังผ่านเหตุการณ์วิกฤต
.
นักแสดงเจ้าของรางวัลออสการ์ (Oscar) เล่าเกี่ยวกับความพยายามดิ้นรนจากปัญหาการเงินที่รุมเร้า จากที่เคยมีทรัพย์สินกว่า 150 ล้านดอลลาร์ (5,000 ล้านบาท) แล้วกลับมาเป็นหนี้ราว 6 ล้านดอลลาร์ (200 ล้านบาท) แต่ก็ผ่านมาได้โดยไม่ถูกฟ้องล้มละลาย
.
วันนี้ #aomMONEY จะพาไปดูเรื่องราวการพุ่งขึ้น วูบดับแต่ก็กลับมาได้อีกครั้งของดาราเจ้าบทบาทรายนี้กัน
.
[[ #40_ปี_ในฮอลลีวูด ]]
.
‘นิโคลัส เคจ’ มีชื่อจริงว่า ‘นิโคลัส คิม โคปโปลา’ (Nicolas Kim Coppola) เขาเป็นหลานของ ‘ฟรานซิส ฟอร์ด โคปโปลา’ (Francis Ford Coppola) ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง ‘The Godfather’ ที่โด่งดัง
.
แต่เรื่องนี้ทำให้เขามักจะถูกล้อเลียนในกองถ่ายอยู่เสมอ และด้วยความตั้งใจที่จะเดินบนเส้นทางสายการแสดงด้วยตัวเขาเอง จึงเปลี่ยนชื่อเป็น ‘นิโคลัส เคจ’ ซึ่งมาจาก ‘ลุค เคจ’ (Luke Cage) หนึ่งในซูเปอร์ฮีโร่ของ ‘Marvel comics’ เพื่อแยกตัวตนของเขาออกจากลุงนั่นเอง
.
นิโคลัส เริ่มต้นการแสดงในภาพยนตร์เรื่อง ‘Fast Times at Ridgemont High’ (1982) จากนั้นก็มีการแสดงเรื่อยมา
.
จนกระทั่งมาประสบความสำเร็จด้วยการคว้ารางวัลออสการ์จากภาพยนตร์ที่ได้ค่าตัวเพียง 240,000 ดอลลาร์ (8 ล้านบาท) อย่าง เรื่อง ‘Leaving Las Vegas’ (1995)
.
สิ่งนี้กลายเป็นแรงผลักให้เขาขึ้นมาเป็นนักแสดงเบอร์ต้นๆ ของฮอลลีวูด และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ก็มีงานเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย โดยภาพยนตร์เรื่องเด่นๆ ของนิโคลัส เคจ หลังจากที่คว้าออสการ์ได้ เช่น
.
The Rock (ยึดนรกป้อมมหากาฬ -1996)
Face Off (สลับหน้าล่าล้างนรก-1997)
Con Air (ปฏิบัติการแหกนรกยึดฟ้า-1997)
Gone in Sixty Seconds (60วิ รหัสโจรกรรมอันตราย-2000)
National Treasure (ปฏิบัติการเดือด ล่าขุมทรัพย์สุดขอบโลก-2004)
World Trade Center (2006)
Ghost Rider (มัจจุราชแห่งรัตติกาล-2007)
.
ช่วงที่พีคที่สุดของเคจ สามารถทำเงินได้ถึง 20 ล้านดอลลาร์ หรือราว 66 ล้านบาทต่อเรื่อง ทำให้มีรายได้รวมมากกว่า 150 ล้านดอลลาร์จากอาชีพการแสดงของเขา โดยตลอด 40 ปีที่โลดแล่นในวงการ นิโคลัสแสดงภาพยนตร์ไปมากกว่า 100 เรื่อง เป็นที่ชื่นชอบของผู้คนทั่วโลก
.
[[ #การล้มครืนของพระเอกพันล้าน ]]
.เมื่อเงินมา งานเดิน ก็ใช้เพลินไปหน่อย
.ตัว นิโคลัส เคจ เองนั้น ก็เป็นอีกหนึ่งพระเอกที่ได้รับการกล่าวถึงว่า ใช้เงินได้ฟุ่มเฟือยที่สุดคนหนึ่ง โดยนอกจากการซื้อรถสปอร์ต รถซูเปอร์คาร์ เกาะร้างที่บาฮามาส และงานศิลปะหายากแล้ว นิโคลัส เคจ ยังซื้อของที่ไม่น่าเชื่อเช่น
.โครงกระดูกไดโนเสาร์ ‘Tarbosaurus’ อายุ 67 ล้านปี ที่ประมูลมาในราคา 300,000 ดอลลาร์ (10 ล้านบาท) และมีรายงานว่า เขามีโครงกระดูกแบบนี้หลายชิ้น
.นอกจากนี้ยังมี หลุมฝังศพทรงพีระมิด, ศีรษะมนุษย์ย่อส่วน รวมถึงหนังสือการ์ตูน ‘Action Comics’ (1938) ซึ่งเป็นเล่มที่ #Superman เผยโฉมออกมาเป็นครั้งแรก (นิโคลัสเป็นแฟนตัวยงของ Superman และเกือบมีโอกาสรับบทนี้ด้วย) เป็นต้น
.นิโคลัสยังหลงใหลในบ้านหรู ลงทุนใช้เงินไปกับการซื้ออสังหาริมทรัพย์จำนวนมาก ทั้งคฤหาสน์หลายหลังในแคลิฟอร์เนีย (California) และลาสเวกัส (Las Vegas) รวมถึงปราสาทในยุโรป อย่างปราสาท ‘Midford’ ในอังกฤษ และปราสาท ‘Neidstein’ ในเยอรมนี
.แต่เมื่อถึงช่วงวิกฤตเศรษฐกิจโลกในปี 2008 อสังหาริมทรัพย์ที่เคจซื้อไว้ไม่สามารถขายได้ อีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาที่สูงลิ่ว ประกอบรายได้จากการแสดงที่ลดลง ทั้งหมดจึงส่งผลกระทบโดยตรงต่อสภาพคล่องทางการเงิน จนทำให้เขากลายเป็นหนี้และมีการฟ้องร้องเกิดขึ้น
.ปี 2009 นิโคลัสถูกกรมสรรพากรของสหรัฐ (IRS) ยื่นฟ้องข้อหาเลี่ยงภาษี รวมแล้วเป็นหนี้กว่า 6 ล้านดอลลาร์ ทำให้ชื่อเสียงที่มีได้รับผลกระทบ งานที่สร้างรายได้ก็ยิ่งลดลงไปอีก
.
[[ #สู้ยิบตาเผชิญหน้ากับความจริง ]]
.แม้จะเผชิญกับวิกฤติทางการเงิน แต่เคจไม่ยอมแพ้
.เขาเริ่มรับงานแสดงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยไม่ปฏิเสธบทใดเลย ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่
.ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์อย่าง The Sorcerer’s Apprentice (2010), Drive Angry (2011) หรือภาพยนตร์อินดี้ นอกกระแส อย่าง Joe (2013), Mandy (2018), Pig (2021-ได้รับคำชมว่าดีที่สุดเรื่องหนึ่งที่เขาเล่น)
.โดยเฉพาะปี 2018 ที่รับงานภาพยนตร์ถึง 7 เรื่อง และให้เสียงในแอนิเมชัน "Spider-Man: Into the Spider-Verse" เพื่อหารายได้ไปใช้หนี้ แม้บทภาพยนตร์บางเรื่อง ‘ห่วย’ แค่ไหนก็ตาม เขาก็รับเล่น
.คงเหมือนคำที่บอกว่า ‘ไม่เลือกงาน ไม่ยากจน’ นั่นแหละครับ
.นอกจากการทำงานอย่างไม่หยุดหย่อนแล้ว เคจยังขายทรัพย์สินหลายอย่างทั้งคฤหาสน์และบ้านพักหลายหลัง รวมถึงของสะสมที่มีมูลค่าสูง เช่น โครงกระดูกไดโนเสาร์และของเก่าที่เคยซื้อมาก่อนหน้านี้
.นิโคลัส อธิบายว่า “ผมต้องปรับตัวเพื่อเอาชนะความยากลำบากและทำงานหนักที่สุดเท่าที่จะทำได้ ผมต้องการสร้างชีวิตใหม่ที่ปราศจากภาระหนี้สิน” นอกจากนี้ เขายังย้ายไปอยู่ลาสเวกัสรัฐเนวาดา (Nevada) เพื่อประหยัดภาษีที่ต้องจ่ายในแต่ละปีด้วย
.ปัจจุบันเขากลับมามีทรัพย์สินรวมกว่า 25 ล้านดอลลาร์ (830 ล้านบาท) ใช้ชีวิตอย่างที่ควรจะเป็น แม้จะยังซื้อ #Ferrari มีสัตว์แปลกๆ อยู่ในบ้าน และเพิ่งซื้อที่พักตากอากาศที่ ‘มาลิบู’ (Malibu) ในราคา 10.5 ล้านดอลลาร์ (350 ล้านบาท) เพื่อฉลองการขึ้นเป็นภาพยนตร์อินดี้ที่ทำรายได้อันดับ 1 ในปี 2024 อย่าง ‘Longlegs’ แต่ด้วยบทเรียนที่ผ่านมา ทำให้นิโคลัส มีภูมิคุ้มกันและระมัดระวังในการใช้เงินเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว
.เรื่องราวของนิโคลัส เคจเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการเรียนรู้จากความผิดพลาดในการบริหารเงิน ความกล้าที่จะเผชิญหน้ากับวิกฤติ โดยเคจยืนยันว่าการรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเองเป็นสิ่งสำคัญที่สุด โดยเขากล่าว่า
."การเรียนรู้จากความผิดพลาดเป็นสิ่งสำคัญ ผมต้องเผชิญหน้ากับความจริงและหาวิธีแก้ไขที่ดีที่สุดกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่"
.
[[ #ทำไมคนมีชื่อเสียงจึงมีโอกาสล้มเหลวทางการเงิน? ]]
.
เชื่อว่าเพื่อนๆ คงเคยได้ยินเรื่องราวของคนมีชื่อเสียงที่ล้มเหลวทางการเงิน ทั้งคนที่กลับมาได้อย่าง ‘ไมค์ ไทสัน’ (Mike Tyson) ส่วนอีกหลายคนก็ไม่สามารถพลิกฟื้นกลับมาได้ โดยเรื่องนี้มีการวิเคราะห์ที่น่าสนใจจากหลายสื่อ เช่น BBC ที่อธิบายถึงปัจจัยอะไรที่ทำให้ ดารา คนดัง หรือนักกีฬามักจะล้มเหลวทางการเงินไว้ ว่ามีสาเหตุจาก
.#การใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือย ดาราหลายคนมักใช้เงินไปกับสิ่งของหรูหรา เช่น บ้านหลังใหญ่ รถยนต์หรูหรา และสิ่งของที่มีมูลค่าสูง โดยมองว่าเป็นวิธีหนึ่งในการแสดงสถานะทางสังคม และมีแรงกดดันที่ต้องรักษาภาพลักษณ์การใช้ชีวิตที่เลิศหรูอยู่ตลอดเวลา
.#ความเสี่ยงต่อความไม่แน่นอนในอาชีพสูง ปัจจัยที่ทำให้คนดังมีโอกาสล้มเหลวทางการเงินคือ อาชีพนักแสดง นักกีฬา มีความไม่แน่นอนสูง มีเส้นทางในการทำเงินไม่กี่ปี หลายครั้งพบว่าดาราจะโด่งดังเพียงไม่นานแล้วหายไป ทำให้ไม่สามารถหารายได้ในระยะยาว รวมถึงการไม่มีอาชีพสำรองด้วย
.#ขาดการวางแผนทางการเงิน คนดังหลายคนไม่ได้วางแผนทางการเงินระยะยาว ทำให้เมื่อรายได้ลดลง พวกเขาต้องเผชิญกับปัญหาทางการเงินอย่างหนัก เพราะขาดการวางแผนล่วงหน้า ทั้งเรื่องการจัดการการเงินในระยะยาวและการลงทุน
.#การลงทุนที่ไม่รอบคอบหรือถูกหลอกลวง การลงทุนในโครงการที่มีความเสี่ยงสูง ขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุนและการเงิน ลงทุนกับธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนไม่คุ้มค่าเช่น การซื้ออสังหาริมทรัพย์
.#ปัญหาด้านสุขภาพจิตและพฤติกรรมเสี่ยง ดาราบางคนมีปัญหาด้านสุขภาพจิต เช่น ความเครียดและภาวะซึมเศร้า ซึ่งอาจนำไปสู่การใช้จ่ายฟุ่มเฟือยเพื่อจัดการกับความเครียด
.#พฤติกรรมเสี่ยงอื่นๆ ที่ส่งผลต่อการเงินเช่น การใช้สารเสพติด, การพนันรวมถึงการหย่าร้าง ก็เป็นปัจจัยที่สามารถทำให้เกิดปัญหาทางการเงินได้
.และจากปัจจัยทั้งหมดที่กล่าวมา เชื่อว่าไม่ได้ทำให้เหล่าเซเลบฯ เท่านั้นที่ถังแตก หากคนปกติทั่วปฏิบัติตาม ก็คงหมดตัวไม่ต่างกัน เพียงแต่ว่า เรื่องราวของคนดังขายได้ จึงเป็นข่าวมากกว่า เท่านั้นเอง
.‘ดร.พีรภัทร ฝอยทอง’ ทนายความและนักวางแผนการเงินส่วนบุคคล อธิบายเรื่องนี้กับคุณอิก ‘บรรพต ธนาเพิ่มสุข’ ในรายการ ‘Right Now’ อย่างน่าสนใจว่า ดารา นักร้อง นักกีฬา ที่มีรายได้เข้ามาอย่างรวดเร็วก็ไม่ต่างอะไรจากสามล้อถูกหวย ที่มักจะคิดว่า เงินที่ได้มา จะไม่มีวันหมด จนละเลยเรื่องการหาความรู้ในการบริหารและขาดการวางแผนการเงินที่ดีนั่นเอง
.
เรียบเรียงโดย อติพงษ์ ศรนารา
เนื้อหาข้อมูจาก.. เพจ aomMONEY