ห้องเม่าปีกเหล็ก

หุ้นกลุ่มแบงก์ ภาพรวมฟื้น แต่เจอแรงขายฉุดตลอดทาง

โดย 98 Degree
เผยแพร่ :
53 views

หุ้นกลุ่มแบงก์ ภาพรวมฟื้น แต่เจอแรงขายฉุดตลอดทาง

 

 

 

รายย่อยหลายคนคงอึดอัดกับภาวะตลาดสัปดาห์ที่ผ่านมา (19-23 ก.ย.) จากการทยอยซื้อตามในช่วงตลาดเริ่มฟื้น แต่ก็เผชิญแรงขายสวนออกมาตลอด วนอยู่เป็นเช่นนี้สลับกันตลอดทั้งสัปดาห์ กับแนวต้านหลักของดัชนี SET ขึ้นไปอยู่ที่ราว 1,505-1506 จุด ที่ยังไม่สามารถทะลุผ่านไปได้

 

หุ้นกลุ่มแบงก์ถือว่า “ปราบเซียน” พอสมควร เพราะแม้จะเป็นหนึ่งในหุ้นกลุ่มเป้าหมายของแรงซื้อต่างชาติ (ทั้งสัปดาห์ยังเป็น Net Buy ในตลาดหุ้นไทยเล็กน้อยที่ 43 ล้านบาท ) แต่กลุ่มแบงก์ก็ยังไม่สามารถรอดพ้นจากแรงขายที่สลับออกมาตลอด และเป็นอีกสาเหตุที่ SET เคลื่อนไหวผันผวนทั้งสัปดาห์

 

มีอย่างน้อย 3 โบรกเกอร์ที่ออกบทวิเคราะห์หุ้นกลุ่มแบงก์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว กับโทนหลักที่ดูบวกมากขึ้น แต่การเลือกหุ้นยังค่อนข้าง “Selective” หรือระมัดระวังในการเลือกหุ้นแนะนำลงทุน

 

โบรกเกอร์ “กรุงศรี” ดูจะมองบวกมากที่สุดต่อหุ้นกลุ่มแบงก์ในบรรดาบทวิเคราะห์ที่ออกมารอบล่าสุด ด้วยคำแนะนำ “Overweight” กลุ่มธนาคารฯ พร้อมเลือกหุ้นเด่นเป็น BBL, KTB และแบงก์ขนาดเล็ก กับเหตุผลหลักที่ให้น้ำหนักในเรื่อง Valuation และ Dividend yield ที่โดดเด่น

 

นักวิเคราะห์โบรกเกอร์รายนี้มอง หุ้นทั้งกลุ่มธนาคารฯ เทรดอยู่ที่ P/E ราว 10.2 เท่า (ข้อมูลจากบทวิเคราะห์ ศุกร์ 23 ก.ย.) ขณะ Price-to-Book Value อยู่ที่ 1.2 เท่า  ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอยู่ 1 Standard Deviation ส่วน Dividend Yield อยู่ที่ 4%  พร้อมคาดการณ์ว่ากำไรสุทธิของกลุ่มฯ จะเติบโต 2% ในปีนี้ ก่อนฟื้นขึ้นเป็น 11% ในปีหน้า ด้วยปัจจัยหนุนคือ ค่าใช้จ่ายตั้งสำรองฯ ลดลง และ ความต้องการสินเชื่อที่ฟื้นตัว

 

ส่วนหุ้นแบงก์ขนาดเล็ก ทาง “กรุงศรี” มอง 3 ปัจจัยสนับสนุน คือ ทิศทางคุณภาพสินเชื่อ Hire purchase ที่ดีขึ้น ความสามารถในการจ่ายปันผลที่สูงขึ้น และความสามารถที่ดูดีขึ้นในการรองรับค่าธรรมเนียมที่ถูกกดดันจากระบบใหม่ e-payment

 

ด้านโบรกเกอร์ใหญ่ “เมย์แบงก์ กิมเอ็งฯ” นักวิเคราะห์แนะนำให้สะสมหุ้นในกลุ่มธนาคารในช่วงระหว่างที่ตลาดผันผวน โดยหุ้นแนะนำของกลุ่มฯ คือ KTB และ TCAP เพราะคาดจะได้รับประโยชน์จากการเติบโตของสินเชื่อ

 

โบรกเกอร์รายนี้มองว่านโยบายที่รัดกุมฉุดการเติบโตของสินเชื่อ แม้จริงๆ แล้วความต้องการสินเชื่อยังคงสูง แต่เศรษฐกิจที่เติบโตช้าลง ทำให้ธนาคารไม่กล้ารับความเสี่ยง รวมทั้งไม่สามารถเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเพื่อทดแทนความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น

 

อย่างไรก็ดี การที่เศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างมีนัยยะ นักวิเคราะห์จึงคาดว่าธนาคารน่าจะสามารถปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อที่มีความเสี่ยงสูงกว่าได้ในไตรมาส 3 รวมทั้ง มีสัญญาณบวกที่มาจากสินเชื่อเพื่อสนับสนุนการควบรวมกิจการ จากตัวอย่าง SCB ปล่อยสินเชื่อให้ JAS ในการซื้อหุ้น

 

“เมย์แบงก์ฯ” มองว่า NPL เริ่มปรับตัวดีขึ้น และ Coverage ratio ของธนาคารส่วนใหญ่ปรับตัวเข้าสู่ระดับปกติ จึงคาดว่าสินเชื่อเพื่อภาคธุรกิจจะเติบโตในอัตราเร่งในระยะถัดไป สนับสนุนกิจกรรมการปล่อยสินเชื่อโดยรวม

 

นักวิเคราะห์ระบุ “เมื่อความกังวลเรื่อง NPL ลดลง การกันสำรองฯ ก็คาดว่าจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงครึ่งปีหลัง ทำให้ตลาดน่าจะหันกลับมามองการเติบโตของกำไรอีกครั้ง ภายใต้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่แข็งแกร่ง โดยสินเชื่อที่เติบโตดีขึ้นจะช่วยผลักดันการเติบโตของกำไรสุทธิ”

 

ส่งท้ายด้วยมุมมองจาก “เอเซียพลัส” ซึ่งมองปัจจัยแวดล้อมกลุ่มธนาคารฯ ในทิศทางบวกมากขึ้น และให้น้ำหนักไปที่แนวโน้มความชัดเจนของการลงทุนในประเทศที่จะทยอยเกิดขึ้น และภาพรวมคุณภาพสินทรัพย์ที่เข้าใกล้จุดต่ำสุดแล้ว

 

มีการให้ข้อมูลถึงแรงขับเคลื่อนที่มาจากการลงทุนภาครัฐที่ทยอยเปิดประมูลมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง กว่า 3 แสนล้านบาท ทั้งในส่วนของรถไฟฟ้า 3 เส้นทาง มอเตอร์เวย์ และรถไฟทางคู่ ขณะในปี 2560 มีโครงการก่อสร้างสุวรรณภูมิเฟส 2 อีกราว 1 แสนล้านบาท รวมทั้งโครงการอื่นๆ ตามแผนลงทุนเร่งด่วน 20 โครงการของกระทรวงคมนาคม ที่จะทยอยเกิดขึ้นในช่วงที่เหลือของปี ต่อเนื่องไปถึงปี 2560

 

นักวิเคราะห์ระบุ จะเริ่มเห็นเม็ดเงินการลงทุนของโครงการต่างๆ เข้ามาในปี 2560 ราว 1.5 แสนล้านบาท สำหรับระยะเวลาการลงทุนที่ประเมินไว้รวม 3 ปี

 

โบรกเกอร์รายนี้ เลือก KBANK, BBL และ TCAP ที่คาดว่าราคาหุ้นจะ “Outperform” กลุ่มฯ ได้ดีต่อจากนี้

 

KBANK: นักวิเคราะห์มองความพร้อมในการฟื้นตัวของธุรกิจได้อย่างรวดเร็วกว่ากลุ่มฯ เมื่อเศรษฐกิจกลับมาฟื้น ทั้งประสิทธิภาพการหารายได้ดอกเบี้ยและรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย การควบคุมต้นทุนดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ

 

BBL: นักวิเคราะห์เล็งโครงสร้างสินเชื่อที่เน้นกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ในสัดส่วนสูง ทำให้ได้อานิสงส์ในช่วงการลงทุนขนาดใหญ่

 

และ TCAP ที่ถูกคาดว่าจะได้รับผลบวกจากแนวโน้มการฟื้นตัวของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ในปี 2560

 

 

********************************

ทีม Business&Finance, Money Channel


98 Degree