เศรษฐกิจไทย ภายใต้แรงกดดันภาษีนำเข้าสหรัฐ
By ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์
- บทความที่ส่งสัญญาณเตือนว่า เศรษฐกิจไทยกำลังเข้าสู่ช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุดครั้งหนึ่ง
- ไทยมีความเสี่ยงที่จะถูกเก็บภาษี "สวมสิทธิ" (Transshipment) จากการเป็นทางผ่านของสินค้าจีนไปยังสหรัฐฯ
- นักลงทุนต่างชาติอาจย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่น เช่น เวียดนาม ที่มีข้อตกลงทางการค้าที่ดีกว่า
เศรษฐกิจไทยเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่ที่อาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ การที่สหรัฐประกาศคงอัตราภาษีตอบโต้ (Reciprocal tariff) สินค้าจากไทยไว้ที่ระดับ 36%
ในจดหมายลงวันที่ 7 ก.ค. นั้น ไม่เพียงแต่ตอกย้ำถึงสงครามการค้าที่ยืดเยื้อ แต่ยังเป็นสัญญาณเตือนว่าเศรษฐกิจไทยกำลังเข้าสู่ช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุดครั้งหนึ่ง
ข้อตกลงการค้าสหรัฐฯ-เวียดนามเมื่อวันที่ 2 ก.ค. อาจเป็นฐานสำหรับการเจรจาการค้าของไทย โดย (1) ไทยอาจต้องลดภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ เป็น 0% เช่นเดียวกับเวียดนาม และ (2) ไทยจะต้องนำเข้าสินค้าจากสหรัฐมากขึ้นอีกมาก
จากการวิเคราะห์ผลของสงครามการค้าต่อเศรษฐกิจไทยนั้น พบว่าหากภาษีนำเข้าอยู่ในระดับ 15-20% เศรษฐกิจไทยจะหดตัวลง 1.1-1.4% ในปี 2568 แต่หากภาษีนำเข้าอยู่ในระดับ 21-36% เศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวชะลอลง หรือแม้แต่อาจหดตัวได้ ซึ่งหมายความว่า เรามีโอกาสค่อนข้างสูงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค
เมื่อภาษี Reciprocal tariff บังคับใช้ จะส่งผลกระทบแบบลูกโซ่ไปยังทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจ เริ่มจากการปิดกิจการของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ที่พึ่งพาการส่งออกไปสหรัฐฯ เป็นหลัก
กิจการเหล่านี้จะเผชิญกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างกะทันหัน ทำให้สูญเสียความสามารถในการแข่งขันและอาจต้องปิดกิจการในที่สุด
อุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบหนักที่สุดคือ กลุ่มอาหารแปรรูป (จ้างงาน 2.7 แสนคน) เครื่องหนัง สิ่งทอ และชิ้นส่วนยานยนต์ (จ้างงาน 4 แสนคน) ซึ่งล้วนเป็นอุตสาหกรรมที่มีการจ้างงานจำนวนมาก
การที่กิจการเหล่านี้ต้องลดการผลิตหรือปิดกิจการ จะส่งผลให้เกิดการตกงานในวงกว้าง คนงานที่สูญเสียงานจะลดการใช้จ่าย ทำให้กำลังซื้อในประเทศหดหายตามไปด้วย
นอกจากนั้น อาจได้รับผลกระทบจากกลุ่ม import flooding หรือที่โดนทุ่มตลาดจากจีน เช่น เครื่องนุ่งห่ม เฟอร์นิเจอร์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งตามข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ภาคเหล่านี้จ้างงานรวมกว่า 7.4 แสนคน โดยเป็นผู้ประกอบการ SMEs กว่า 1.22 แสนราย
ผลกระทบนี้จะขยายตัวไปสู่ภาคบริการ ร้านค้าปลีก ภาคการขนส่ง และบริการต่างๆ ที่พึ่งพากำลังซื้อของประชาชน กระทบต่อการบริโภคเอกชนและการลงทุนซึ่งเป็นเครื่องยนต์สำคัญของเศรษฐกิจไทยจะชะลอตัวลง ทำให้เกิดวงจรเศรษฐกิจที่หดตัวซึ่งยากที่จะหยุดยั้ง
สิ่งที่น่าเป็นห่วงไม่แพ้กันคือ การไหลออกของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ข้อมูลจาก UNCTAD แสดงให้เห็นว่าไทยมี FDI สุทธิในปี 2024 ประมาณ 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับเวียดนามที่มี 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
หากอัตราภาษีของไทยมากกว่าเวียดนาม จะทำให้นักลงทุนต่างชาติโดยเฉพาะที่พึ่งพิงการส่งออกไปยังสหรัฐพิจารณาย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเวียดนามหรือประเทศอื่นได้
ท่ามกลางความท้าทายที่หนักหน่วง เครื่องยนต์บางส่วนของเศรษฐกิจไทยชะลอลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยในครึ่งแรกของปี นักท่องเที่ยวจีนลดลงถึง 1/3 ในครึ่งแรกของปี 2568 ทำให้นักท่องเที่ยวโดยรวมหดตัวกว่า 4.2% ผลจากปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในเมียนมาที่ทำให้นักท่องเที่ยวจีนหวาดกลัว
ธปท. ระบุว่า นักท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวได้ดีได้แก่นักท่องเที่ยวจากตะวันตก เช่น ยุโรป สหรัฐ รัสเซีย และตะวันออกกลาง ที่มีการใช้จ่ายต่อหัวสูงกว่า
อย่างไรก็ตาม การที่ค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้นิยมคือ โรงแรมและที่พัก ซึ่งมักเป็นโรงแรมในเครือระดับโลก ขณะที่การใช้จ่ายด้านการรับประทานอาหาร การจับจ่าย และการเดินทางในประเทศน้อยลง (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการขนาดเล็กชาวไทย) ทำให้การกระจายตัวของรายได้ท่องเที่ยวลดลง
ด้านการใช้จ่ายภาครัฐก็เป็นความเสี่ยงเช่นกัน โดยการเบิกจ่ายงบประมาณในส่วนของงบลงทุนปีงบประมาณ 2568 ปัจจุบันอยู่ที่ 35.1% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ 41.7% ของงบประมาณ
ทั้งนี้ หากรัฐบาลมีความเสี่ยงจากวิกฤติการเมืองที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้น ก็จะยิ่งทำให้สามารถเร่งการเบิกจ่ายและโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ล่าช้ายิ่งกว่ากำหนดมากขึ้น
ในส่วนของการส่งออกซึ่งในระยะต่อไปซึ่งมีความเสี่ยงมากขึ้น ทั้งจากการโดนภาษี Reciprocal tariff ของสหรัฐโดยตรง และจากความเสี่ยงภาษี "สวมสิทธิ" หรือ Transshipment
โดยในปัจจุบัน ทรัมป์กำลังดำเนินสงครามการค้ากับจีนในรูปแบบใหม่ที่อันตรายกว่าเดิม
โดยใช้กลยุทธ์บีบประเทศที่สามให้เลือกข้างระหว่างการเข้าถึงตลาดสหรัฐฯ หรือรักษาความสัมพันธ์กับจีน ผ่านการประกาศภาษีแบบเลือกปฏิบัติ (ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ 25%, ไทย-กัมพูชา 36%, เมียนมา-ลาว 40%) และเน้นโจมตี "Transshipment" หรือการส่งสินค้าจีนผ่านประเทศที่สาม
หลักฐานชี้ว่าหลังจากการส่งออกจีนไปสหรัฐฯ ลดลง 16% ในเดือน มิ.ย. เวียดนามมีการส่งออกพิเศษไปสหรัฐฯ เกือบ 2 พันล้านดอลลาร์ รองลงมาคือไทย 1.8 พันล้านดอลลาร์ โดยเฉพาะไทยส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์เพิ่ม 42 ล้านดอลลาร์ ขณะนำเข้าจากจีนเพิ่ม 114 ล้านดอลลาร์ ทำให้เสี่ยงต่อการถูกเก็บภาษี Transshipment 40% ในลักษณะเดียวกันเวียดนาม
ในอีกด้านหนึ่ง จีนก็ขู่ใช้ "มาตรการตอบโต้เด็ดขาด" ต่อประเทศที่ทำข้อตกลงเสียหายต่อผลประโยชน์จีน ทำให้ไทยติดกับดักต้องเลือกข้าง จึงจำเป็นต้องเร่งเจรจาข้อตกลงที่ชัดเจนกับสหรัฐฯ
ปรับโครงสร้างห่วงโซ่อุปทานลดการพึ่งพาจีน และหาตลาดใหม่โดยเฉพาะสหภาพยุโรปเพื่อกระจายความเสี่ยงจากการถูกบีบให้เลือกข้างในสงครามการค้าระหว่างมหาอำนาจ
ด้วยความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยที่มีมากขึ้น ทั้งจากการส่งออกในครึ่งปีแรกที่เร่งตัวก่อนที่จะหดตัวรุนแรงในครึ่งหลัง (Frontload) การเบิกจ่ายงบลงทุนที่ล่าช้าอยู่แล้วและมีความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนทางการเมืองที่มากขึ้น
ขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศกำลังชะลอจากสัญญาณ 3 ประการคือ ผู้บริโภคลดใช้จ่าย ธุรกิจลดลงทุน และสถาบันการเงินระมัดระวังปล่อยสินเชื่อ ทำให้เป็นไปได้มากขึ้นที่ไทยจะเข้าสู่ภาวะเงินฝืด
โดยเงินเฟ้อล่าสุดติดลบ -0.25% เป็นเดือนที่สาม ขณะที่ ธปท. คาดการณ์เงินเฟ้อปี 2568-2569 อยู่ที่ 0.5%-0.8% ต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย 1-3% อย่างชัดเจน พร้อมสัญญาณจากพันธบัตร 3 เดือน-15 ปีที่ต่ำกว่าดอกเบี้ยนโยบายและเกิด Inverted Yield Curve
บ่งชี้ว่าตลาดมองนโยบายการเงินตึงเกินไป ธปท. จึงน่าจะลดดอกเบี้ยอย่างรวดเร็ว รุนแรง และเร่งด่วนเพื่อป้องกันเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย
ท่ามกลางความเสี่ยงที่มากขึ้น มาตรการเร่งด่วนที่จะทำให้ไทยรอดพ้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยคือลดดอกเบี้ยนโยบาย เร่งเบิกจ่ายงบประมาณ และออกมาตรการช่วยเหลือ SMEs อย่างเร่งด่วน ขณะที่ในระยะยาวต้องเปลี่ยนเป้าหมายส่งออกไปสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และอาเซียน
มิฉะนั้น โอกาสที่จะเห็นเศรษฐกิจถดถอยก็จะอยู่ไม่ไกล
* บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่
ที่มา.. https://www.bangkokbiznews.com/blogs/business/economic/1189599