สัญญาณธุรกิจไทย สะท้อนปัญหาโครงสร้าง
สัญญาณที่น่าวิตกหลายประการ โดยเฉพาะในภาคธุรกิจที่เริ่มแสดงให้เห็นถึงความเปราะบางเชิงโครงสร้างอย่างชัดเจน การปิดตัวของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมจำนวนมาก

รวมถึงการลดขนาดองค์กรของบริษัทใหญ่หลายแห่ง ไม่ใช่เพียงผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 เท่านั้น แต่สะท้อนถึงปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานว่าการลงทุนภาคเอกชนไตรมาส 4 ปี 2567 ลดลงต่อเนื่อง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการลดลงของอุตสาหกรรมยานยนต์และการลงทุนก่อสร้าง
ปัญหาแรกที่เห็นได้ชัดคือการขาดความสามารถในการแข่งขันเชิงนวัตกรรม ธุรกิจไทยส่วนใหญ่ยังคงพึ่งพาการแข่งขันด้านราคาและแรงงานราคาถูก ในขณะที่หลายประเทศในอาเซียนกำลังก้าวกระโดดด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยการลงทุนในการวิจัยและพัฒนาของภาคเอกชนไทยยังอยู่ในระดับต่ำ รวมถึงยังไม่สามารถสร้างอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ได้เต็มที่ จึงทำให้ไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อีกปัญหาสำคัญ คือ ธุรกิจขนาดใหญ่มีอำนาจต่อรองสูงและสามารถมีอำนาจเหนือตลาดในหลายอุตสาหกรรม ทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยไม่สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน รวมถึงระบบนิเวศทางธุรกิจยังไม่เอื้อต่อการสร้างนวัตกรรมและการเติบโตของสตาร์ตอัป ทั้งในด้านแหล่งเงินทุน กฎระเบียบ และการสนับสนุนจากภาครัฐ รวมถึงการมีมุมมองทางธุรกิจจำกัดเฉพาะในประเทศ ซึ่งจะเห็นได้ว่าสตาร์ตอัปของไทยไปได้ไม่ไกลเมื่อเปรียบเทียบกับหลายประเทศในอาเซียน เช่น สิงคโปร์ อินโดนีเซีย
การแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างเหล่านี้จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ภาครัฐต้องปฏิรูปกฎระเบียบที่ล้าสมัยและเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาธุรกิจ สนับสนุนการลงทุนในการวิจัยและพัฒนา และสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ภาคเอกชนเองก็ต้องปรับตัวและลงทุนในการพัฒนาเทคโนโลยีและทรัพยากรมนุษย์อย่างจริงจัง โดยเฉพาะความเข้มข้นในการสร้างโมเดลธุรกิจของกลุ่มคนรุ่นใหม่เพื่อสร้างสังคมผู้ประกอบการ
การเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากโมเดลธุรกิจในอดีต อาจจะทำให้ธุรกิจไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกอย่างถาวร ดังนั้นภาครัฐและภาคเอกชนจะต้องเห็นสัญญาของความถดถอยในภาคธุรกิจของไทยที่ไม่ได้ถูกแข่งขันจากธุรกิจในประเทศเท่านั้น แต่ถูกต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจแข่งขันในประเทศ ดังนั้นการปรับสู่อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่เป็นเรื่องจำเป็น ซึ่งรัฐบาลจะส่งเสริมแบบทำๆ หยุดๆ จะไม่เกิดผล ที่ผ่านมามีแผนส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่เพื่อสร้าง new s curve ต้องทำให้ต่อเนื่อง
ที่มา https://www.bangkokbiznews.com/blogs/business/economic/1168038