"หุ้นปั่น" ทำยังไง ?

.
เชื่อว่านักลงทุนทั้งที่อยู่ในตลาดหุ้นมานานแล้ว หรือ นักลงทุนมือใหม่ ต่างก็คงรู้จัก และคงได้ผ่านประสบการณ์เกี่ยวกับ"หุ้นปั่น" กันมาบ้าง ไม่ว่าจะเป็นทางตรง หรือ ทางอ้อม
.
บางคนรู้ทั้งรู้ ว่านั่นคือ"หุ้นปั่น" แต่ก็ไม่ได้เกรงกลัวอะไร กล้าเสี่ยงเข้าไป เพราะเข้าใจว่าถ้าเข้าไว้ออกไว ก็คงได้กำไร แต่หลายครั้งที่เข้าแล้ว แต่ยากที่จะออก ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม ทำให้หลายคนขาดทุนกันยับเยินมานักต่อนักแล้ว
.
ดังนั้น วันนี้ แอดจึงอยากนำข้อมูลดี ๆ จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มาแบ่งปันทุกคนให้เห็นภาพชัดมากขึ้น ว่าการปั่นหุ้นเขาทำกันอย่างไร แล้วเราควรจะป้องกันตัวเองอย่างไร ?
.
เริ่มจากการการปูพื้นฐานก่อนเลยนะ การปั่นหุ้น หรือ ศัพท์ทางกฏหมายเรียกว่า "การสร้างราคาหลักทรัพย์" เป็นลักษณะของหุ้นที่มีราคาหรือปริมาณเปลี่ยนแปลงไปโดยไม่มีปัจจัยพื้นฐานหรือข้อมูลสารสนเทศรองรับ
.
อีกทั้ง ยังมีสภาพการซื้อขายหุ้น ผิดปกติจากที่เคยเป็นมาในอดีตโดยไม่มีเหตุผลสนับสนุนใด ๆ ทั้งสิ้น และไม่ตรงกับสภาพการซื้อขายของตลาดโดยรวมนั่นเอง
.
ซึ่งความผิดปกติดังกล่าว มักเกิดจากการกระทำโดยเจตนาของบุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่ไม่ประสงค์ดี เอาเปรียบผู้ลงทุนรายอื่น ๆ โดยใช้วิธีหรือมีพฤติกรรมการสั่งซื้อหรือขายหุ้น ไม่ว่าจะปั่นให้ราคาขึ้นหรือลงหรือพยุงราคา
.
เพื่อทำให้คนทั่วไปเข้าใจผิด เกี่ยวกับราคาหรือปริมาณการซื้อขาย หรือส่งคำสั่งซื้อขายในลักษณะต่อเนื่องกันโดยมุ่งให้ราคาหรือปริมาณการซื้อขายผิดไปจากสภาพปกติของตลาด เราจึงควรหลีกเลี่ยงการเข้าลงทุนในหุ้นประเภทนี้
.
- หุ้นแบบไหนที่แก๊งค์ปั่นหุ้นชอบ
.
โดยทั่วไป หุ้นที่มักถูกขบวนการปั่นหุ้นเข้าไปปั่นราคานั้น มักเป็นหุ้นที่มีมูลค่าทางตลาดต่ำ เนื่องจากใช้เงินทุนจำนวนน้อย มีสภาพคล่องในการซื้อขายน้อย มีจำนวนหุ้นหมุนเวียน (free float) น้อย หรือมีปัจจัยพื้นฐานไม่ค่อยดี
.
ขณะที่ พฤติกรรมการปั่นหุ้นก็มีหลากหลายรูปแบบ เช่น กลุ่มปั่นหุ้นเก็บสะสมหุ้นในราคาต่ำ และหาวิธีไล่ราคาหุ้นขึ้นไป เพื่อจูงใจให้ผู้ลงทุนรายใหม่เข้ามาซื้อ จากนั้นหาจังหวะปล่อยหุ้นเมื่อราคาถึงเป้าหมาย
.
ซึ่งถ้าถามว่าปล่อยหุ้นไปตอนไหน คำตอบคือ ทยอยตั้งขายไประหว่างที่เขาทำทีซื้อนั่นเอง ผู้เคราะห์ร้าย คือ ผู้ลงทุนรายย่อยที่เข้าไปซื้อหุ้นตาม แต่ยังไม่ได้ขาย เพราะเห็นว่ายังมีแรงซื้อหนาแน่นอยู่ สุดท้ายต้องติดดอยในที่สุด
.
ทั้งนี้ พฤติกรรมของพวกปั่นหุ้นมักทำเป็นขบวนการ มีการกระจายเปิดพอร์ตการลงทุนไว้กับหลายโบรกเกอร์ในชื่อที่แตกต่างกันเพื่อโยนหุ้นไปมาสร้าง demand/supply เทียม ขึ้นมาล่อหลอก
.
จนทำให้ผู้ลงทุนรายอื่น ๆ เข้าใจผิด และซื้อขายหุ้นดังกล่าวตาม รวมถึงอาจมีการปล่อยข่าวเท็จ เช่น สร้างข่าวว่าหุ้นตัวนั้น ตัวนี้ กำลังจะมีข่าวดีต่าง ๆ ซึ่งยุคโซเชียลมีเดียทำให้การกระจายข่าวง่ายมากขึ้นไปอีก
.
- แล้วจะป้องกันตัวเองได้อย่างไร ?
.
อย่างไรก็ตาม การป้องกันตัวเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของพวกปั่นหุ้น คือ ต้องรู้จักตัวเองให้ดีเสียก่อน พูดง่าย ๆ คือ รู้วัตถุประสงค์ในการลงทุนว่า เป้าหมายการลงทุนของเราเป็นอย่างไร และประเมินว่า ตนเองรับความเสี่ยงได้แค่ไหน
.
เนื่องจากการประเมินตัวเอง และเป้าหมายอยู่ตลอดเวลา จะทำให้เรายึดมั่นอยู่ในแผนการลงทุนของเราอยู่เสมอ และจะไม่ทำให้เรารู้สึกโลภ เมื่อเห็นหุ้นที่กำลังสร้างผลตอบแทนระดับสูง อย่าง"หุ้นปั่น" จนเปลี่ยนแผนกะทันหัน
.
นอกจากนี้ ควรติดตามข่าวสารที่อาจส่งผลกระทบต่อการลงทุน จากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ อาทิ บทวิเคราะห์ของโบรกเกอร์ต่าง ๆ หรือ ข่าวสารการลงทุนจากเพจ"อีไฟแนนซ์ไทย" ก็ได้เหมือนกันนะ
.
สุดท้ายก่อนจะจากกันไป แอดฯอยากให้ทุกคนลงทุนอย่างมีสติกันเนอะ และพึงคิดอยู่เสมอว่า ไม่ว่าเราจะลงทุนในสินทรัพย์ใดก็ตาม เราต้องรู้จักมันดีเสียก่อน และที่สำคัญต้องมีปัจจัยพื้นฐานรองรับด้วย สำหรับวันนี้ไปก่อนแล้ว บ๊าย บาย ..
.
by บ.บูม