'การบินไทย' เปิดแผน 5 ปี ลงทุน 1.7 แสนล้าน เคาะจัดหาโบอิ้ง 80 ลำ
"การบินไทย" เปิดแผน 5 ปี ลงทุน 1.7 แสนล้านบาท จัดหาเครื่องบินรวม 80 ลำ พร้อมลุย MRO อู่ตะเภา ประกาศกลับเทรดใน ตลท. 4 ส.ค.นี้ โชว์ธุรกิจแข็งแกร่ง แคชโฟว์ระดับแสนล้าน พร้อมรองรับจ่ายปันผลผู้ถือหุ้น
นายลวรณ แสงสนิท ประธานกรรมการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ภายหลังการบินไทยได้ออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ โดยศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.ที่ผ่านมา ขณะนี้มีความพร้อมในการนำหุ้น “THAI” กลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) อีกครั้งในวันที่ 4 ส.ค.นี้ ซึ่งในนามของคณะกรรมการบริษัทชุดใหม่ มีเป้าหมายสนับสนุนให้การบินไทยก้าวสู่ยุคใหม่แห่งการเป็นสายการบินที่เปี่ยมด้วยประสิทธิภาพ และธรรมาภิบาลในการบริหารงานแบบองค์กรเอกชน ยืนยันว่าจะไม่มีการนำองค์กรกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจ
“ตอนนี้แน่นอนว่าธุรกิจการบินต้องคล่องตัว อิสระ และแข่งขันได้ ซึ่งที่ผ่านมาก็เห็นแล้วว่าการบินไทยดำเนินงานอย่างคล่องตัว โดยภาครัฐก็พร้อมช่วยสนับสนุนความเข้มแข็งของการบินไทย สนับสนุนเงินทุน ซึ่งทำให้ตอนนี้ภาครัฐถือหุ้น 38% นับว่าช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้การบินไทย และถ้าต้องการส่วนทุน รัฐบาลก็พร้อมจะช่วย ดังนั้นก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องนำองค์กรกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจ”
อย่างไรก็ดี การที่ภาครัฐเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของการบินไทย หลังจากพิจารณาแผนดำเนินธุรกิจแล้วเชื่อว่าจะสามารถเดินหน้าได้อย่างเข้มแข็ง และจากนี้ยังไม่เห็นสัญญาณลบอะไรที่น่ากังวล เรื่องเศรษฐกิจและราคาน้ำมันเป็นเพียงความเสี่ยงระยะสั้น ซึ่งการบินไทยได้วางแผนรับมือในการหารายได้ส่วนอื่นไว้แล้ว
ขณะที่การพิจารณาแผนฝูงบินของการบินไทย ภายหลังก่อนหน้านี้ได้จัดหาเครื่องบินและเครื่องยนต์ ทำข้อตกลงกับ บริษัท โบอิ้ง และ บริษัท จีอี แอโรสเปซ ในการจัดหาเครื่องบิน Boeing 787 จำนวน 45 ลำแล้ว ทราบว่าปัจจุบันยังทำข้อตกลงมีสิทธิในการจัดหาเพิ่มเติม (Option Order) อีก 35 ลำ ซึ่งปัจจุบันจะมีการพิจารณาแผนจัดหาเครื่องบินส่วนนี้ และเป็นส่วนหนึ่งของทีมไทยแลนด์ที่นำไปเจรจาภาษีกับสหรัฐฯ
นางเฉิดโฉม เทอดสถีรศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่สายการเงินและการบัญชี การบินไทย กล่าวว่า สถานะทางการเงินของการบินไทยในวันนี้มีความแข็งแกร่งและมั่นคงกว่าเดิมมาก ซึ่งสะท้อนจากความสามารถในการทำกำไรจากการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง โดยภาพรวมปัจจุบันการบินไทยมีกระแสเงินสด (แคชโฟว์) มากถึง 1.2 แสนล้านบาท ซึ่งจะนำมารองรับการชำระหนี้ที่เหลืออยู่ราว 9.5 หมื่นล้านบาท และรองรับลงทุนในช่วง 2 ปีนี้

โดยการบินไทยวางแผนลงทุนระยะ 5 ปี วงเงินประมาณ 1.7 แสนล้านบาท แบ่งเป็น การลงทุนจัดหาเครื่องบินใหม่ วงเงินราว 1.2 แสนล้านบาท โดยเป็นเครื่องบินที่ได้ทำสัญญาจัดหากับโบอิ้งแล้วจำนวน 45 ลำ ซึ่งจะทยอยชำระตามกำหนดเริ่มรับมอบในปี 2570 นอกจากนี้การบินไทยจะลงทุนปรับปรุงบริการและที่นั่งบนเครื่องบิน วงเงินราว 2 หมื่นล้านบาท การลงทุนเพื่อรองรับซ่อมเครื่องยนต์ และการลงทุนศูนย์ซ่อมอากาศยาน แบ่งเป็น ศูนย์ซ่อมดอนเมือง และสุวรรณภูมิที่ให้บริการในปัจจุบัน และลงทุนศูนย์ซ่อมอู่ตะเภา วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท
“การบินไทยมีแคชโฟว์เพียงพอที่จะลงทุนในโครงการต่างๆ ซึ่งจะเพียงพอในการดำเนินงานจนถึงปี 2570 และยังไม่มีแผนกู้เงิน แต่ในช่วงปี 2570 ซึ่งจะเริ่มทยอยรับมอบเครื่องบิน และต้องเริ่มจ่ายเงินส่วนนี้ ก็จะมีการบริหารต้นทุนที่เหมาะสม โดยจะพิจารณาหาเงินกู้ระยะยาว เพื่อรองรับการจัดการฝูงบินใหม่เหล่านี้”
นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร การบินไทย กล่าวว่า ตั้งเป้าหมายว่าจะมีเครื่องบินจำนวน 150 ลำในปี 2576 ซึ่งลดจำนวนแบบเครื่องบินจาก 8 แบบก่อนเข้าแผนฟื้นฟูกิจการเหลือเพียง 4 แบบ และลดจำนวนเครื่องยนต์จาก 9 แบบเหลือ 5 แบบส่งผลให้สามารถควบคุมต้นทุนในการดำเนินงานและซ่อมบำรุงได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมทั้งตั้งเป้าหมายเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดจากปัจจุบันที่ 26% เป็น 35% ภายในปี 2572 เหมือนที่เคยทำได้ในอดีตที่ผ่านมา
ทั้งนี้ การบินไทยมีความพร้อมที่จะนำหุ้น THAI กลับเข้าเทรดใน ตลท. โดยจะไม่มีการกำหนดราคาให้เป็นไปตามกลไกตลาด (bid-offer) ณ วันที่เปิดการซื้อขาย สำหรับนักลงทุนที่สนใจการลงทุน สามารถพิจารณาจากปัจจัยพื้นฐานของบริษัท ที่ยืนยันแล้วว่าการบินไทยมีความแข็งแกร่งทางการเงิน อีกทั้งยอดจองการเดนิทางล่วงหน้า (บุ๊กกิ้ง) ในขณะนี้ยังสูงกว่าปีก่อน และขณะนี้ส่วนของผู้ถือหุ้นก็กลับมาเป็นบวก ทำให้สามารถจ่ายปันผลนักลงทุนได้
ที่มา.. https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1191086