วอลุ่ม CPALL ทั้งวันกว่า 1.5 พันล้าน (พุธ 23 ส.ค.) ตีคู่มากับ SCB โดยราคาหุ้น CPALL สามารถกลับมายืนทรงตัวได้เมื่อปิดตลาด หลังจากมีแรงขายออกมาในช่วงเช้า ตอบรับข่าวที่ผู้บริหารในกลุ่มปตท.ระบุว่าอยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะต่อสัญญากับร้านสะดวกซื้อ "เซเว่น-อีเลฟเว่น" ที่มีเกือบ 1,400 สาขาในสถานีบริการน้ำมันของ ปตท. ที่จะหมดสัญญาใน 6 ปีข้างหน้า โดยจะนำร้านสะดวกซื้อ "Jiffy" ซึ่งเป็นแบรนด์ของตนเข้ามาแทน
หลังตลาดเปิดซื้อขายได้ไม่นาน ทาง CPALL ก็ได้ออกเอกสารเผยแพร่ยืนยันร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ยังเดินหน้าจับมือ PTT ขยายกิจการอย่างต่อเนื่องและยังคงรักษาความเป็นพันธมิตรที่ดี โดยร่วมมือทางธุรกิจกับ ปตท.มาอย่างเหนียวแน่นตั้งแต่ปี 2545 รวมแล้วกว่า 15 ปี
จากข้อมูลผู้ถือหุ้น CPALL ณ เดือนพ.ค. ที่ผ่านมา ปรากฏชื่อของ "เพาพิลาส เหมวชิรวรากร" (ภรรยาของ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ซึ่งเป็นต้นแบบ Value Investor เมืองไทย) ถือครองหุ้น CPALL ในอันดับที่ 28 จำนวน 45 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 0.50%
Money Channel ต่อสายตรงถึง ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ได้ให้มุมมองว่า การนำร้านสะดวกซื้อ "Jiffy" ซึ่งเป็นแบรนด์ของ ปตท. เข้ามาแทนที่ "เซเว่น-อีเลฟเว่น" เป็นประเด็นที่พูดถึงกันมานานแล้ว แต่เพิ่งจะมาเป็นกระแสหลังจากฝ่ายบริหารของ PTTRM ออกมาชี้แจงความเห็นผ่านสื่อมวลชน โดยประเด็นนี้ตนมองว่ายังไม่เห็นถึงความชัดเจน และยังไม่มีการตัดสินใจของบอร์ดบริหารทั้ง 2 บริษัทฯ แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่ทาง ปตท. จะนำ "Jiffy" เข้ามาแทนที่ เพราะถ้ามองระยะยาว ธุรกิจขายน้ำมันผ่านสถานีบริการนั้นมีความสามารถในการทำกำไรต่ำ ดังนั้น แนวทางการขยายธุรกิจรีเทลจึงเป็นสิ่งที่ ปตท. หันมาให้ความสำคัญมากขึ้นในอนาคตเพื่อต่อยอดธุรกิจสร้างความแข็งแกร่งของผลกำไรในระยะยาว
ดร.นิเวศน์ มองว่า ที่ผ่านมา ปตท.เคยดำเนินธุรกิจร้านสะดวกซื้อของตนเอง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ต่อมาจึงร่วมเป็นพันธมิตรกับ CPALL ขยายสาขาร้าน "เซเว่น-อีเลฟเว่น" ในสถานีบริการ ซึ่ง ก็พบว่าเห็นการเติบโตร่วมกันทั้ง 2 ฝ่ายได้รับประโยชน์ แต่หากประเมินถึงกรณีที่ ปตท.จะนำ "Jiffy" มาเปิดให้บริการแทนในเร็ววันนี้ เชื่อว่าคงจะแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดได้ยาก เพราะปัจจุบันแบรนด์ "Jiffy" ยังเป็นที่รู้จักน้อย จึงมองเป็นเรื่องยากหาก "Jiffy" จะดำเนินการให้ประสบความสำเร็จในระยะเวลาอันสั้น นอกจากนั้น ยังต้องอาศัยประสบการณ์ด้านการบริหาร เพราะการทำกำไรจากร้านสะดวกซื้อในช่วงต้นๆ ต้องยอมรับผลขาดทุนที่จะเกิดขึ้นด้วย
"ผมมองว่าถ้า ปตท.ต้องการทำสถานีบริการน้ำมันให้เป็นคอมเพล็กซ์แบบกลายๆ จำเป็นต้องมีพันธมิตรเข้ามาบริหารเรื่องธุรกิจรีเทล ส่วนตัวผมเองไม่ได้ให้น้ำหนักกับประเด็นนี้และก็รู้สึกเฉยๆ เพราะไม่ได้เป็นปัจจัยลบที่จะมีผลกับ CPALL มากมายอะไร นักลงทุนที่ติดตาม CPALL มาโดยตลอดก็คงไม่ได้ให้น้ำหนัก แต่ก็เป็นสิ่งที่ต้องติดตามกันต่อไปว่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างไรในระยะยาวเพราะกว่าจะหมดสัญญากันอีกตั้ง 6 ปี สาขาของ "เซเว่น-อีเลฟเว่น" เปิดปีละ 700 สาขา ถ้ามาเทียบกับ 1 พันกว่าสาขาใน ปตท. ก็เป็นสัดส่วนที่น้อยมาก และผมคิดว่าธุรกิจของ "เซเว่น-อีเลฟเว่น" ยังไม่ถึงจุดอิ่มตัว ในวันนี้ทุกคนคงตื่นตนกกับข่าวที่ออกมาทำให้ราคาร่วง แต่พอคนหายตกใจความคลายกังวลก็จะกลับมาสะท้อนในราคาหุ้นอีกครั้ง"
ฝั่งมุมมองโบรกเกอร์ค่ายบัวหลวง ระบุว่าแนวความคิดที่จะนำร้าน "Jiffy" เปิดแทนร้าน "เซเว่น-อีเลฟเว่น" นั้นเริ่มขึ้นมาตั้งแต่เมื่อครั้ง ปตท.ซื้อแบรนด์ "Jiffy"จาก ConocoPhillips ในปี 2552 โดยปัจจุบันมีร้าน "Jiffy" อยู่ 149 แห่งในปั๊มน้ำมันปตท. ซึ่งถูกเปลี่ยนมาจากปั๊ม Jet หลังจากซื้อมาจาก ConocoPhillips ในปี 2550 อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ PTT และ CPALL ตกลงเซ็นต่อสัญญา 10 ปี ในปี 2554 (มีผลต้นปี 2556) แบรนด์ "Jiffy" ยังไม่พร้อม เนื่องจากปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจร้านสะดวกซื้อประสบความสำเร็จไม่ใช่เงินทุน แต่เป็นสินค้า ทรัพยากรมนุษย์ และระบบการกระจายสินค้า
ข้อมูลจากโบรกเกอร์รายนี้ระบุว่าสัญญา 10 ปีระหว่าง PTT และ CPALL ถูกเซ็นครั้งแรกในปี 2545 (มีผลต้นปี 2546) และต่อสัญญาสำหรับอีก 10 ปีต่อมา (2556-2566) ในปี 2554 โดยในสัญญาระบุว่า "เซเว่น-อีเลฟเว่น" แต่ละสาขามีสิทธิที่จะให้เปิดให้บริการเป็นเวลา 10 ปีหลังเปิดสาขาหรือต่อสัญญาใหม่ ตัวอย่างเช่นสาขาที่เปิดหรือต่อสัญญาในปี 2559 จะสามารถเปิดดำเนินงานภายใต้แบรนด์ "เซเว่น-อีเลฟเว่น" ได้จนถึงปี 2569 ดังนั้น หาก ปตท.ไม่ต่อสัญญาครั้งนี้ สาขาสุดท้ายของ"เซเว่น-อีเลฟเว่น" ในปตท.จะปิดตัวลงต้นปี 2576
ค่ายบัวหลวงประเมินภายใต้กรณีเลวร้ายที่สุด คือ ปตท.ไม่ต่อสัญญาเปิดร้าน "เซเว่น-อีเลฟเว่น" และเปิดร้าน "Jiffy" แทน "เซเว่น-อีเลฟเว่น" จะถูกปิดลงประมาณ 100-200 สาขาต่อปีในระหว่างปี 2566-2576 อย่างไรก็ตาม ผลกระทบต่อผล
ประกอบการในแต่ละปีจะไม่มากนัก เนื่องจาก :
1) จำนวนสาขาต่อปีที่จะถูกปิดลงคิดเป็นเพียง 0.5-1.3% ของจำนวนสาขารวม และคาดจะกระทบยอดขายรวมไม่เกิน 2% ต่อปี
2) คาด CPALL จะเร่งเปิดสาขาในพื้นที่อื่นเพื่อลดผลกระทบจากการปิดสาขาในปั๊มปตท.
3) ในอนาคตปั๊มน้ำมันอาจไม่ใช่สถานที่เพียงแห่งเดียวที่รถยนต์แวะเข้าไปใช้บริการ เนื่องจากรถไฟฟ้าอาจจะเป็นที่นิยมมากขึ้น
"ข่าวในหนังสือพิมพ์แห่งหนึ่งระบุว่า PTT อาจจะไม่ต่อสัญญากับ CPALL ในการเปิดร้าน 7-Eleven ในสถานีบริการน้ำมันปตท. เมื่อสิ้นสุดสัญญาในช่วงต้นปี 2566 เนื่องจาก PTT มีแผนที่จะนำร้าน Jiffy ซึ่งเป็นแบรนด์ของตนเองเข้ามาแทนที่ อย่างไรก็ตาม หากราคาหุ้น CPALL ปรับลดลงมาจากข่าวนี้ เราเชื่อว่าเป็นโอกาสดีในการซื้อ CPALL เป้าหมายพื้นฐาน 75 บาท"
*********************************
ทีม Business&Finance, Money Channel