รู้จัก 4 'ตลาดหุ้นชายขอบ' ควรมีติดพอร์ต นอกจาก 'เวียดนาม'
By สาธิต สูติปัญญา
- โรมาเนีย: มีศักยภาพสูงจากการบูรณาการเข้ากับซัพพลายเชนของยุโรปและมีภาคไอทีที่แข็งแกร่ง
- คาซัคสถาน: อุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติ มีชนชั้นกลางที่เติบโต และมีความก้าวหน้าทางดิจิทัลสูง
- บังกลาเทศ: เป็นหนึ่งในเศรษฐกิจที่เติบโตเร็วที่สุด มีโอกาสรับส่วนแบ่งการผลิตต้นทุนต่ำจากจีน
- โมร็อกโก: เป็นอีกหนึ่งตลาดที่มีแนวโน้มการเติบโตดี เหมาะสำหรับการกระจายความเสี่ยงในกลุ่มตลาดชายขอบ
“ตลาดหุ้นมักนำหน้าข่าวเสมอ” คือคำกล่าวที่นักลงทุนจำนวนมากทราบดี คำพูดนี้เป็นเหมือนการบอกเป็นนัยว่าหากนักลงทุนคนใดก็ตามต้องการสร้างผลตอบแทนที่พึงพอใจ การเดินนำหน้านักลงทุนคนอื่นหนึ่งก้าวคือเรื่องที่จำเป็น
การเดินนำหน้าที่อธิบายมานี้อาจเป็นการเดินนำหน้าในแง่ของข่าว เหตุการณ์ ธุรกิจ อุตสาหกรรมที่มีโอกาสเติบโตในอนาคต หรือแม้กระทั่งการเดินนำหน้าในแง่ของการ “หาประเทศ” ที่มีแนวโน้มการเติบโตดีก็ได้เช่นกัน
ย้อนกลับไปช่วงสิบปีก่อนหน้า “เวียดนาม” ก็เป็นประเทศที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างน่าสนใจ จนนักลงทุนไทยหลายคนกระโดดเข้าไป หนึ่งในนั้นคือ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนเน้นมูลค่าระดับตำนานของไทย
แต่มาจนถึงทุกวันนี้ เวียดนามยังคงน่าสนใจเหมือนเมื่อสิบปีก่อนอยู่หรือไม่ หรือแม้กระทั่งนักลงทุนจะมองหาประเทศที่มีแนวโน้มการเติบโตเหมือนเวียดนามสมัยก่อนได้อย่างไร
คุณโยฮันเนส โลฟสตรันด์ (Johannes Loefstrand) ผู้จัดการพอร์ตโฟลิโอ กลยุทธ์หุ้นตลาดชายขอบจาก T. Rowe Price บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจากสหรัฐซึ่งมีสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ (AUM) กว่า 1.68 ล้านล้านดอลลาร์และเชี่ยวชาญด้านการจัดพอร์ตการลงทุนระยะยาวเพื่อการเกษียณ ให้สัมภาษณ์พิเศษ “กรุงเทพธุรกิจ” เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว
จัดพอร์ตตามสัดส่วนจีดีพีโลก
คุณโยฮันเนส เริ่มต้นอธิบายให้ฟังว่า ท่ามกลางสถานการณ์ที่ทั่วโลกเผชิญกับความท้าทายจากนโยบายการค้าของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐและอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ยังอยู่ในระดับสูง นักลงทุนไทยที่ต้องการลงทุนระยะยาวเพื่อผลตอบแทนที่มั่นคงควรจัดพอร์ตการลงทุนแบบ “Global Allocation” หรือจัดพอร์ตตามสัดส่วนเศรษฐกิจโลก โดยอาจแบ่งสัดส่วนครึ่งหนึ่งลงทุนในสินทรัพย์ในประเทศพัฒนาแล้วและบริษัทชั้นนำด้านนวัตกรรมของโลก และอาจจะแบ่งพอร์ตประมาณ 20% ลงทุนในประเทศของตัวเองที่รู้จักดี และจากนั้นจึงแบ่งสัดส่วนให้ตลาดหุ้น Emerging Market รวมทั้งส่วนเล็กๆ ไปลงกับตลาด Frontier Market
นอกจากนี้ เขาเน้นย้ำถึงความสำคัญของการลงทุนในตลาดหุ้นชายขอบเพราะ “เป็นตลาดสุดท้ายของโลกที่กำลังจะผงาดขึ้นมา” ยกตัวอย่างเช่นประเทศไทยเมื่อหลายปีก่อนก็เคยเป็นตลาดชายขอบมาก่อน เมื่อเวลาผ่านไปมูลค่าการซื้อขายและคุณภาพของบริษัทจดทะเบียนก็เพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่งผลต่อผลตอบแทนในพอร์ตของนักลงทุนที่เห็นโอกาสตั้งแต่เนิ่นๆ หรือแม้แต่ตลาดหุ้นเวียดนามที่ยังเป็นตลาดหุ้นชายขอบอยู่ก็จริงแต่ในปัจจุบันก็มีปริมาณการซื้อขาย ความน่าสนใจ และผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจากการเชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานของบริษัทเทคโนโลยีของโลก
ทั้งหมดแสดงให้เห็นชัดเจนว่าการลงทุนในตลาด Frontier Market เป็นปัจจัยสร้างโอกาสในการเติบโตให้นักลงทุนอย่างเห็นได้ชัด ที่สำคัญคุณโยฮันเนสอธิบายว่า ตลาดหุ้นในประเทศกลุ่ม Frontier Markets มีความผันผวนน้อยกว่าดัชนีภูมิภาคอื่นๆ ทั้งดัชนี MSCI Europe, MSCI Japan, MSCI Latin America และแม้แต่ MSCI Emerging Markets เหตุผลคือประเทศต่างๆ ใน Frontier Markets ไม่เชื่อมโยงกับกระแสเงินทุนโลกน้อยกว่ากลุ่มอื่นใน MSCI อย่างเห็นได้ชัด

ตลาดหุ้นชายขอบผันผวนน้อยกว่าตลาดหุ้นอื่น
แต่อย่าลงทุนกระจุกแค่ในเวียดนาม...
อย่างไรก็ตาม การลงทุนในตลาดชายขอบอย่างเวียดนาม 100% โดยไม่กระจายความเสี่ยงก็อาจจะสร้างผลกระทบเชิงลบต่อพอร์ตการลงทุนได้และการลงทุนในเวียดนามต้องเป็นการลงทุนในระยะยาว เนื่องจากยังคงเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่ผันผวนอย่างมาก รวมทั้งนักลงทุนท้องถิ่นมักมีแนวโน้มซื้อหุ้นเวียดนามในราคาสูงและขายเมื่อราคาต่ำ ดังนั้นควรหาโอกาสในตลาดชายของอื่นๆ ประกอบด้วย
“ยกตัวอย่างง่ายๆ คือในวันที่หุ้น Apple ขึ้น 10% หุ้น TSMC ของไต้หวันก็มักจะขึ้น 5% เพราะมีความเชื่อมโยง แต่ถ้าบริษัทเทคโนโลยีในเวียดนามขึ้น 10% เขาไม่สามารถคาดเดาได้ว่าบริษัทเทคโนโลยีในโมร็อกโกซึ่งเป็นตลาดชายขอบจะขึ้นหรือลงในวันนั้น เพราะไม่เชื่อมโยงกัน ความแตกต่างนี้ช่วยทำให้พอร์ตเสถียรขึ้น ดังนั้นถ้านักลงทุนซื้อกองทุนเวียดนามอย่างเดียว ก็จะมีความผันผวนสูง แต่ถ้าซื้อกองทุน Frontier อื่นๆ จะมีความผันผวนน้อยกว่าและผลตอบแทนเรียบขึ้น”

ราคาของตลาดหุ้นชายขอบน่าสนใจมากกว่าตลาดหุ้นเกิดใหม่
ตัวอย่างตลาดชายขอบที่มีโอกาสเติบโต
โรมาเนีย
นอกจากเวียดนาม คุณโยฮันเนส กล่าวว่า ยังมีประเทศ Frontier Markets อื่นๆ ที่มีศักยภาพสูง ประเทศแรกคือโรมาเนีย ซึ่งถึงแม้จะมีปัญหาทางการเมืองมา 20 ปี แต่ GDP ต่อหัวเพิ่มขึ้นจาก 1,600 ดอลลาร์ (ต่ำกว่าบังกลาเทศปัจจุบัน) มาเป็นเกือบ 20,000 ดอลลาร์ในรอบ 25 ปี เนื่องจากรัฐบาลสามารถบูรณาการเศรษฐกิจการเข้ากับซัพพลายเชนของยุโรปได้สำเร็จ มีผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์และผู้รับเหมาด้านกลาโหมหลายรายตั้งโรงงานที่นี่ รวมถึงมีนักพัฒนาและนักคณิตศาสตร์ที่เก่งมากในภาคไอที
คาซัคสถาน
คาซัคสถานเป็นอีกประเทศที่น่าสนใจ เป็นหนึ่งในประเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลกและมีทรัพยากรธรรมชาติมากมาย แต่ยังมีชนชั้นกลางที่เจริญรุ่งเรือง GDP ต่อหัวเพิ่มจาก 2,000 ดอลลาร์ในปี 2000 เป็น 15,000 ดอลลาร์ปัจจุบัน รวมทั้งมี “ซูเปอร์แอปฯ” ที่ล้ำที่สุดในโลกและประชาชนมีความรอบรู้ทางดิจิทัลสูง
บังกลาเทศและโมร็อกโก
ส่วนบังกลาเทศแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง แต่เป็นหนึ่งในเศรษฐกิจที่เติบโตเร็วที่สุดในโลกในทศวรรษที่ผ่านมา และยังอยู่ในฐานที่ต่ำมาก รัฐบาลกำลังสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษหลายสิบแห่งและมีโอกาสแย่งส่วนแบ่งการผลิตต้นทุนต่ำจากจีน ค่าแรงก็อยู่ในระดับที่แข่งขันกับหลายประเทศในโลกได้ สิ่งที่น่าทึ่งคือในปี 2005 มีเพียง 47% ของประชากรที่อ่านหนังสือได้ แต่ปัจจุบันเพิ่มขึ้นมาเป็น 80% และประชาชนเกือบทุกคนมีสมาร์ตโฟนเป็นของตัวเอง ซึ่งปลดล็อกโอกาสการเติบโตของประเทศได้อย่างมาก นอกจากนี้ T. Rowe Price ยังถือหุ้นธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในบังกลาเทศซึ่งควบคุม ซูเปอร์แอปฯ ใหญ่ที่สุดชื่อ bKash ซึ่งมีมูลนิธิบิล เกตส์และเมลินดาลงทุนด้วย ส่วนโมร็อกโกก็เป็นอีกประเทศที่มีแนวโน้มการเติบโตดี
“สิ่งที่ผมพยายามจะอธิบายให้ฟังคือ การกระจายความเสี่ยงในตลาดชายขอบจะทำให้นักลงทุนได้สะสมหุ้นของบริษัทที่ดีที่สุดจากแต่ละประเทศ ซื้อธนาคารที่ดีที่สุดและมีแนวโน้มดีที่สุดในเวียดนาม แต่ก็สามารถซื้อธนาคารที่ดีที่สุดในบังกลาเทศ บริษัทเทคโนโลยีที่ดีที่สุดในคาซัคสถาน และผู้ผลิตที่ดีที่สุดในโรมาเนียได้ด้วยเช่นกัน” คุณโยฮันเนสทิ้งท้าย
ที่มา.. https://www.bangkokbiznews.com/finance/investment/1191007