ห้องเม่าปีกเหล็ก

'ไทยออยล์' เคลียร์ปมผู้รับเหมา ดันโปรเจกต์ 2 แสนล้าน

โดย poomai
เผยแพร่ :
174 views

เปิดแผน 3 ขั้น 'ไทยออยล์' เคลียร์ปมผู้รับเหมา ดันโปรเจกต์ 2 แสนล้าน

By กัญณัฏฐ์ บุตรดี

  • ภายหลังโครงการ CFP ล่าช้า คณะผู้บริหารได้วางแผนดำเนินการตามขั้นตอน อาทิ ดำเนินการตามกระบวนการอนุญาโตตุลาการ โดยใช้สิทธิบังคับหลักประกันของกลุ่มกิจการร่วมค้า 358 ล้านดอลลาร์
  • ไทยออยล์จะได้เงินจากเงินค้ำประกันรวม 358 ล้านดอลลาร์ หรือ 12,339 ล้านบาท ซึ่งจะมาช่วยลดงบลงทุนโครงการ CFP ที่ไทยออยล์ประกาศก่อนหน้านี้
  • เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 68 ที่ประชุมผู้ถือหุ้นอนุมัติเพิ่มงบลงทุน 63,028 ล้านบาท และดอกเบี้ยระหว่างการก่อสร้าง 17,922 ล้านบาท หวังให้โครงการ CFP เปิดบริการเชิงพาณิชย์ปี 71

 

โครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project: CFP) ของบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ปักหมุมเริ่มต้นเมื่อวันที่ 5 มี.ค.2563 หลังมีพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารควบคุมกระบวนการผลิตหลัก โดยมีเงินลงทุนประเมินช่วงเริ่มโครงการ 160,279 ล้านบาท และดอกเบี้ยระหว่างการก่อสร้าง 5,016 ล้านบาท เพื่อเพิ่มกำลังการกลั่น จาก 275,000 บาร์เรลต่อวัน เป็น 400,000 บาร์เรลต่อวัน

ก่อนหน้านี้กำหนดเปิดดำเนินการในปี 2566 แต่ทันทีที่เริ่มก่อสร้างเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อการจัดหาอุปกรณ์และการก่อสร้าง โดยได้ทำสัญญาสำหรับการออกแบบวิศวกรรม การจัดหาและการก่อสร้าง (EPC) กับผู้รับเหมาหลักในนามกิจการร่วมค้า UJV-Samsung, Petrofac และ Saipem

ในปี 2564 UJV-Samsung, Petrofac และ Saipem เริ่มเจรจากับไทยออยล์เพื่อขอเพิ่มงบประมาณในสัญญา EPC และขยายเวลาส่งมอบ ซึ่งได้อนุมัติแก้ไขสัญญา EPC และให้งบประมาณเพิ่ม 550 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 19,000 ล้านบาท

รวมทั้งไทยออยล์ให้ UJV-Samsung, Petrofac และ Saipem จ่ายค่าตอบแทนค้างจ่ายให้ผู้รับเหมาช่วง โดยส่งหนังสือสอบถามบริษัทแม่ของ UJV-Samsung, Petrofac และ Saipem 

ล่าสุดที่ประชุมผู้ถือหุ้นไทยออยล์อนุมัติเมื่อวันที่ 21 ก.พ.2568 เพิ่มงบลงทุนอีก 63,028 ล้านบาท ประมาณการดอกเบี้ย 17,922 ล้านบาท รวมงบลงทุน 241,472 ล้านบาท หรือ 7,151 ล้านดอลลาร์ และดอกเบี้ยระหว่างก่อสร้าง 37,216 ล้านบาท หรือ 1,078 ล้านดอลลาร์

แหล่งข่าวจากไทยออยล์ กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ภายหลังที่โครงการดังกล่าวล่าช้าสิ่งที่คณะผู้บริหารได้มีการวางแผนดำเนินการตามขั้นตอน อาทิ

1.การใช้สิทธิตามสัญญาระหว่างไทยออยล์กับกิจการร่วมค้า UJV-Samsung, Petrofac และ Saipem ซึ่งบริษัทแม่ของกิจการร่วมค้าทั้ง 3 บริษัทดังกล่าวจะต้องดูแลให้บริษัทลูกที่มาร่วมกันเป็นกิจการร่วมค้าดูแลให้เป็นไปตามสัญญา โดยหากมีข้อโตแย้งของคู่สัญญาจะดำเนินการตามกระบวนการอนุญาโตตุลาการ

ทั้งนี้ ไทยออยล์ได้เตรียมการส่วนนี้ไว้ก่อนหน้านี้เพื่อรอเงื่อนไขเวลากำหนด ในขณะที่ Samsung และ Saipem ได้มีการยื่นเรื่องต่ออนุญาโตตุลาการดังกล่าวหลังจากไทยออยล์ใช้สิทธิบังคับหลักประกันของกลุ่มกิจการร่วมค้า 358 ล้านดอลลาร์

2.การดำเนินโครงการต่อร่วมกับกิจการร่วมค้า UJV-Samsung, Petrofac และ Saipem แต่ต้องดำเนินการตามเงื่อนไขของสัญญา เช่น การจ่ายเงินชดเชยกรณีที่ผู้รับเหมาหลักไม่สามารถส่งมอบงานได้ตามสัญญา

3.การจ้างบริษัทผู้รับเหมารายอื่นเข้ามาก่อสร้างแทน เพื่อให้โครงการแล้วเสร็จ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะมีผลต่อสัญญาระหว่างไทยออยล์กับกิจการร่วมค้า UJV-Samsung, Petrofac และ Saipem ซึ่งจะมีผลต่อการเพิ่มงบประมาณโครงการ และการใช้แนวทางนี้ต้องเสนอขออนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 21 ก.พ.2568 ที่ประชุมผู้ถือหุ้นอนุมัติให้ไทยออยล์เพิ่มงบลงทุน 63,028 ล้านบาท และดอกเบี้ยระหว่างการก่อสร้าง 17,922 ล้านบาท 

รวมทั้งอนุมัติมอบอำนาจให้คณะกรรมการไทยออยล์หรือบุคคลที่คณะกรรมการไทยออยล์มอบหมายเป็นผู้มีอำนาจดำเนินการที่ เกี่ยวข้อง รวมถึงแต่ไม่จำกัดเพียงการเจรจา กำหนด ตกลง ทำให้เสร็จสมบูรณ์ ลงนามในสัญญา และเอกสารที่เกี่ยวข้องและการแกไขเปลี่ยนแปลงวิธีการระยะเวลาขั้นตอนการดำเนินงานโครงการเพื่อให้เสร็จตามวัตถุประสงค์

นายบัณฑิต ธรรมประจำจิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ไทยออยล์ แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เมื่อวันที่ 26 มี.ค.2568 ว่า Samsung E&A (Thailand) Co., Ltd. และ Saipem Singapore Pte. Ltd. ซึ่งเป็น 2 ใน 3 ของผู้ร่วมกิจการร่วมค้า UJV ได้เริ่มกระบวนการอนุญาโตตุลาการกับไทยออยล์ต่อ Singapore International Arbitration Centre

ทั้งนี้ ได้ขอให้ข้อพิพาทเข้ากระบวนการอนุญาโตตุลาการในประเด็นสัญญา EPC โดยเฉพาะกรณีการใช้สิทธิของไทยออยล์บังคับหลักประกันของกลุ่มกิจการร่วมค้า 358 ล้านดอลลาร์ โดยกล่าวอ้างว่าการใช้สิทธิบังคับหลักประกันดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิก่อนถึงกําหนดเวลาและดําเนินการที่ไม่สมควร อีกทั้งได้เรียกร้องค่าเสียหายกับไทยออยล์ที่ผู้ร้องยังมิได้ระบุรายละเอียด

นอกจากนี้ ไทยออยล์ยืนยันว่าปฏิบัติตามเงื่อนไขสัญญา EPC เคร่งครัดตลอด โดยวันที่ 25 มี.ค.2568 ไทยออยล์ยื่นคําคัดค้านเพื่อโต้แย้งข้อเรียกร้องดังกล่าว รวมถึงยื่นข้อเรียกร้องแย้งต่อผู้ร้องตามกระบวนการอนุญาโตตุลาการด้วย 

“กระบวนการอนุญาโตตุลาการจะไม่ส่งผลกระทบต่อโครงการ CFP และไทยออยล์เตรียมการสําหรับกระบวนการอนุญาโตตุลาการแล้ว” นายบัณฑิต ระบุในหนังสือที่แจ้ง ตลท.

ทั้งนี้ ไทยออยล์จะได้เงินจากเงินค้ำประกันรวม 358 ล้านดอลลาร์ หรือ 12,339 ล้านบาท ซึ่งจะมาช่วยลดงบลงทุนโครงการ CFP ที่ไทยออยล์ประกาศก่อนหน้านี้ โดยผู้ตรวจสอบบัญชีของไทยออยล์พิจารณาให้รายการเงินหลักประกันที่ได้รับจากกลุ่ม UJV ไปลดต้นทุนวงเงินก่อสร้างในโครงการ CFP ที่จะเกิดขึ้นจากนี้ โดยไม่ให้บันทึกเป็นรายได้อื่น

นอกจากนี้ ไทยออยล์จะบันทึกการรับเงินหลักประกันโดยหักต้นทุนของงานระหว่างก่อสร้างในโครงการ CFP จำนวน 12,241 ล้านบาท และบันทึกรายได้อื่นจำนวน 98 ล้านบาทในไตรมาส 1 ปีนี้ โดยไทยออยล์ ยืนยันว่าจะดำเนินการอย่างเต็มความสามารถเพื่อผลักดันโครงการให้เดินหน้าต่อไปให้ดีที่สุด

 

https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1173179

 


poomai