ห้องเม่าปีกเหล็ก

AOT กำไรหายไปไหน 2 หมื่นล้าน

โดย หญิงแม้น
เผยแพร่ :
49 views

AOT กำไรหายไปไหน 2 หมื่นล้าน กูรูแนะยังไม่ใช่จังหวะซื้อ

AOT หรือ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) บริษัทที่มีมาร์เก็ตแคป (market capitalization) ใหญ่เป็นอันดับ 1 ของโลกในกลุ่มสนามบิน จากการจัดอันดับของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และมีจำนวนผู้ถือหุ้นรายย่อยกว่า 69,292 คน ประกาศผลประกอบการงวดปี 62/63 ออกมาแล้วพบว่า มีกำไรสุทธิเพียง 4,320 ล้านบาท ลดลง 82.74% เมื่อเทียบกับงวดปี 61/62 ที่มีกำไรสุทธิ 25,026 ล้านบาท Wealthy Thai จะเล่าให้ฟังว่า AOT กำไรสุทธิงวดปี 62/63 หายไปไหนกว่า 20,706 ล้านบาท

             

ก่อนอื่นเลยจะต้องทำความเข้าใจว่ารายได้หลักๆส่วนใหญ่ของ AOT ประกอบด้วย รายได้ที่เกี่ยวข้องกับกิจการการบิน คิดเป็นสัดส่วน 53% ของรายได้รวม และรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับกิจการการบิน คิดเป็น 47% โดยรายได้ที่เกี่ยวกับกิจการการบิน ได้แก่ ค่าบริการสนามบิน,ค่าบริการผู้โดยสารขาออก และค่าเครื่องอำนวยความสะดวก

 

ในงวดปี 62/63 AOT มีรายได้ที่เกี่ยวข้องกับกิจการการบินอยู่ที่ 16,625 ล้านบาท ลดลง 52% เมื่อเทียบกับปีก่อน ที่มีรายได้จำนวน 35,010 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากรายได้ค่าบริการผู้โดยสารขาออกลดลงกว่า 53% เพราะจำนวนผู้โดยสารรวมทั้ง 6 ท่าอากาศยานลดลง 48% อีกทั้งค่าบริการสนามบินที่ลดลง 48% เป็นเหตุจากจำนวนเที่ยวบินที่ลดลง 42% โดย AOT ให้เหตุผลของการลดลงว่าการแพร่ระบาดของ COVID-19 ตั้งแต่ต้นปี 63 ซึ่งส่งผลต่อการเดินทางเข้า-ออกประเทศไทย และทั่วทุกภูมิภาคโลก

             

สำหรับรายได้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับกิจการการบิน เช่น ค่าเช่าสำนักงานและอสังหาริมทรัพย์ รายได้เกี่ยวกับบริการ และรายได้ส่วนแบ่งผลประโยชน์ AOT ชี้แจ้งว่ายอดรายได้ดังกล่าวลดลง 47% จากงวดปีก่อน เพราะมีรายได้ค่าเช่าสำนักงานและอสังหาริมทรัพย์ที่ลดลง 19% ส่วนรายได้ที่เกี่ยวกับบริการลดลง 43% ขณะที่รายได้ส่วนแบ่งผลประโยชน์ลดลงถึง 53% ซึ่งลดลงตามจำนวนผู้โดยสารและผู้ใช้บริการภายในท่าอากาศยาน

 

โดยรายการหลักๆ ที่ลดลงมาจากธุรกิจร้านค้าปลอดอากร และธุรกิจจากกา รบริหารกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ทั้งนี้สาเหตุหลักที่รายได้ไม่เกี่ยวข้องกับกิจการการบินลดลงมาจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ตั้งแต่ต้นปี2563 ทำให้จำนวนผู้โดยสารและผู้ใช้บริการลดลง ประกอบกับทาง AOT มีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว

             

ทั้งนี้ในปี 62/63 AOT มีปริมาณการจราจรทางอากาศของท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่ง มีจำนวนเที่ยวบินรวม 515,185 เที่ยวบิน ลดลง 42.51% เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน แบ่งเป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศ 244,511 เที่ยวบิน และเที่ยวบินภายในประเทศ 270,674 เที่ยวบิน ส่วนจำนวนผู้โดยสารรวมมีทั้งหมด 72.64 ล้านคน ลดลง 48.80% เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน แบ่งเป็น ผู้โดยสารระหว่างประเทศ 37.49 ล้านคนและผู้โดยสารภายในประเทศ 35.15 ล้านคน โดยการลดลงส่วนใหญ่มาจากเที่ยวบินและผู้โดยสารระหว่างประเทศ ดังนั้นจึงทำให้ในปี 62/63 มีกำไรสุทธิ 4,320 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 20,705 ล้านบาท หรือลดลง 82.74% โดยมีรายได้รวมลดลง 31,291 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายรวมลดลง 5,143 ล้านบาท และภาษีเงินได้ลดลง 5,350 ล้านบาท แม้ว่าในปีงบประมาณ 63 จะมีปัญหาการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ส่งผลให้ปริมาณเที่ยวบินและผู้โดยสารลดลงอย่างมาก แต่ทาง AOT ยังสามารถรับรู้รายได้จำนวนมากในช่วงต้นปีงบประมาณ ระหว่างเดือน ตุลาคม 2562-มกราคม 2563 ทำให้ในปีนี้ยังคงผลการดำเนินงานที่เป็นกำไรสุทธิ

อย่างไรก็ตามโดย AOT ยังคงเดินหน้าแผนแม่บทพัฒนาขีดความสามารถของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ซึ่งในส่วนของโครงการพัฒนา ทสภ.ระยะที่ 2 มีความคืบหน้าในการดำเนินงานก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (Satellite 1 : SAT-1) ประมาณ 95% ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินงานสถาปัตยกรรม งานตกแต่งภายใน งานภูมิทัศน์ และงานติดตั้งระบบประกอบอาคารฯ นอกจากนี้ งานอื่นๆ ได้แก่ งานรถไฟฟ้าขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (Automated People Mover : APM) มีความคืบหน้าประมาณ 71% งานระบบสายพานลำเลียงกระเป๋ามีความคืบหน้าประมาณ 76% งานก่อสร้างสำนักงานสายการบินและที่จอดรถด้านทิศตะวันออก คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 63 และงานระบบประกอบอาคารของอาคารจอดรถ คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปี 64

             

สำหรับแผนการเพิ่มรายได้ในช่วงวิกฤติการบินในปี 64 ทาง AOT ระบุว่าจะหารายได้เพิ่มจากรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับกิจการการบิน ได้แก่ ศูนย์รับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร (Certify Hub), เมืองการบินสุวรรณภูมิ (Airport City), บริษัทลูก ทอท. และแอพพลิเคชั่น AOT Airports ซึ่งจะมีส่วนช่วยทดแทนรายได้ที่หายไปจากผู้โดยสาร จากแผนการสร้างรายได้ที่กล่าวมานั้น จะทำให้ AOT มีการให้บริการท่าอากาศยานอย่างครบวงจร ทั้งนี้เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุน การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและการท่องเที่ยวให้เติบโต ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศกลับมาฟื้นตัวภายหลังจากที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 รวมทั้งเพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินและการขนส่งสินค้าทางอากาศชั้นนำของภูมิภาค

             

กูรูมองยังไม่ต้องรีบซื้อ

             
ขณะที่นายมนชัย มกรานุรักษ์ หัวหน้าสำนักวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ทิสโก้ จำกัด ให้มุมมองว่า หากเป็นนักลงทุนระยะยาวขณะนี้ยังไม่ถึงเวลาที่ควรจะเข้าลงทุนใน AOT เนื่องจากรายได้หลักๆของ AOT มาจากนักท่องเที่ยว และสายการบินเชิงพาณิชย์ ซึ่งแม้ว่าจะมีการประกาศผลการทดลองวัคซีนป้องกันโควิด 19 ออกมาแล้วนั้น ก็คงจะต้องรออีก 2-3 ปี กว่าผลประกอบการจะฟื้นตัวกลับมาเป็นปกติเหมือนในช่วงปี 61/62 เพราะขณะนี้ยังคงลดรายได้จากค่าเช่าพื้นที่เชิงพาณิชย์ในสนามบินให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งมีผลกระทบต่อผลประกอบการอย่างมาก ทั้งนี้มองว่าผลประกอบการจะกลับมาฟื้นเป็นปกติ ก็คงต้องรอปี 66 เป็นต้นไป ส่วนนักลงทุนระยะสั้นสามารถเก็งกำไรได้ตามปัจจัยบวกที่เข้ามาและตามภาวะตลาด

 

ขอบคุณที่มาเนื้อหาข้อมูลจาก


หญิงแม้น