ห้องเม่าปีกเหล็ก

เตือน! สัญญาณอันตราย สินเชื่อแบงก์หดตัว

โดย หมาฝัน
เผยแพร่ :
24 views

เตือน! สัญญาณอันตราย สินเชื่อแบงก์หดตัวรอบ 21 ปี

ภาพรวมสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ไทยส่งสัญญาณน่าห่วง พบการปล่อยกู้เอกชนหดตัวครั้งแรกรอบ 21 ปี สะท้อนกำลังซื้ออ่อนแอเศรษฐกิจชะลอตัว ขณะที่แบงก์เข้มงวดการปล่อยกู้ หวั่นหนี้เสียพุ่ง สวนทางผลประกอบการยังโตดี

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สรุปยอดเงินให้กู้ยืมคงค้างภาคเอกชนของสถาบันรับฝากเงิน ณ สิ้นไตรมาส 4 ของปี 2567 ลดลง 0.04% เทียบกับการขยายตัว 0.21% ในไตรมาสที่แล้ว ซึ่งเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 21 ปี นับตั้งแต่ปี 2546 ตามการลดลงของเงินให้กู้ยืมของธนาคารพาณิชย์และการชะลอลงของเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ

ขณะที่เงินให้กู้ยืมภาคเอกชนในระบบธนาคารพาณิชย์ลดลง 1.67% ต่อเนื่องจากการลดลง 1.42% ในไตรมาสก่อนหน้า และเป็นการลดลงตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 โดยเงินให้กู้ยืมในภาคธุรกิจลดลง 0.55% ต่อเนื่องจากการลดลง 0.77% ในไตรมาสก่อนหน้า 

ทั้งนี้เป็นผลจากการลดลงของเงินให้กู้ยืมแก่ธุรกิจ SMEs ที่ลดลง 3.04% ต่อเนื่องจากการลดลง 3.28% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยเฉพาะเงินให้กู้ยืมในสาขาการขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ สาขาการผลิต และสาขากิจกรรมอสังหาริมทรัพย์

สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่โต 1.58%

ขณะที่สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่กลับมาขยายตัว 1.58% เทียบกับการลดลง 1.63% ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการขยายตัวของเงินให้กู้ยืมในสาขาการเงินและการประกันภัย สาขาการผลิต และสาขาการขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ 

ทั้งนี้ สถาบันการเงินยังคงเข้มงวดกับหลักทรัพย์ค้ำประกันต่อเนื่องตามคุณภาพสินเชื่อโดยรวมที่ยังด้อยลง โดยเฉพาะในสาขากิจกรรมอสังหาริมทรัพย์ สาขาก่อสร้าง และสาขาการขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์

กู้ยืมภาคครัวเรือน ลดลง 2.84%

สำหรับเงินให้กู้ยืมภาคครัวเรือน ลดลง 2.84% เทียบกับการลดลง 2.11% ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการลดลงของสินเชื่อเพื่อการซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ และสินเชื่อเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลอื่นๆ เป็นสำคัญ ซึ่งเป็นผลจากภาระหนี้สินภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และคุณภาพสินเชื่อที่ลดลง 

ประกอบกับธนาคารพาณิชย์เพิ่มความเข้มงวดในการให้สินเชื่อภาคครัวเรือนในทุกประเภท โดยปรับเพิ่มมูลค่าของหลักทรัพย์ค้ำประกัน (margin) สำหรับลูกค้ากลุ่มเสี่ยง และปรับเกณฑ์รายได้ให้เข้มงวดมากขึ้น เป็นต้น

ส่วนเงินให้กู้ยืมภาคเอกชนของสถาบันการเงินเฉพาะกิจในไตรมาสที่สี่ของปี 2567 ขยายตัว 2.21% ชะลอตัวลงจากการขยายตัว 2.64% ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการชะลอตัวของทั้งสินเชื่อภาคธุรกิจและสินเชื่อครัวเรือน โดยเฉพาะสินเชื่อภาคครัวเรือนที่ชะลอตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากภาระหนี้ของภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงและคุณภาพสินเชื่อที่ลดลงต่อเนื่อง

แบงก์พาณิชย์รายได้เพิ่มขึ้น 6.66%

สำหรับผลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ไทยเฉลี่ย ในไตรมาสที่สี่ของปี 2567 ธนาคารพาณิชย์มีรายได้เพิ่มขึ้น 6.66% เทียบกับการเพิ่มขึ้น 9.32% ในไตรมาสก่อนหน้า และมีรายจ่ายเพิ่มขึ้น 5.54% เทียบกับการเพิ่มขึ้น 9.87% ในไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่รายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ดอกเบี้ยเฉลี่ย (NIM) อยู่ที่ 3.24% เทียบกับ 3.32% ในไตรมาสก่อนหน้า และ 3.20% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน

ด้านธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สรุปภาพรวมธนาคารพาณิชย์ ไตรมาส 4 ปี 2567 และปี 2567 มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ โดยมีเงินกองทุน เงินสำรอง และสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง โดยสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ (รวมเครือ) ไตรมาส 4 ปี 2567 หดตัวอยู่ที่ 0.4% จากระยะเดียวกันปีก่อนลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนที่หดตัว 2.0% โดยขยายตัวจากสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่

ขณะที่สินเชื่อธุรกิจ SMEs หดตัวลดลง ด้านสินเชื่ออุปโภคบริโภคหดตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยเชิงโครงสร้างและรายได้กลุ่มเปราะบางที่ฟื้นตัวช้า

ยอดคงค้างสินเชื่อ NPL เหลือ 5.521 แสนล้าน

ขณะที่ยอดคงค้างสินเชื่อ NPL ไตรมาส 4 ปี 2567 ปรับลดลงมาอยู่ที่ 5.521 แสนล้านบาท ส่งผลให้สัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมปรับลดลงมาอยู่ที่ 2.78% โดยหลักจากสินเชื่อธุรกิจ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการบริหารจัดการคุณภาพหนี้และการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่องของธนาคารพาณิชย์ รวมทั้งลูกหนี้บางส่วนสามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามเงื่อนไขการปรับโครงสร้างหนี้ ทำให้ปรับชั้นดีขึ้นมาอยู่ที่ Stage 2 

ประกอบกับมีการจัดชั้นเชิงคุณภาพของสินเชื่อธุรกิจ ส่งผลให้สินเชื่อ stage 2 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 6.98% สำหรับผลการดำเนินงาน ปี 2567 ปรับดีขึ้นจากปีก่อน จากทั้งรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยตามการวัดมูลค่าตราสารทางการเงินเป็นสำคัญ และรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ ประกอบกับค่าใช้จ่ายสำรองลดลงจากการตั้งสำรองสูงในปีก่อน

เกาะติด SME - รายย่อย จ่ายหนี้

อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจ SMEs และครัวเรือนบางกลุ่มที่รายได้ฟื้นตัวช้าและมีภาระหนี้สูง รวมถึงธุรกิจในกลุ่มที่เผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างและความสามารถในการแข่งขันปรับลดลง ตลอดจนติดตามผลสำเร็จของการให้ความช่วยเหลือภายใต้โครงการคุณสู้เราช่วย 

โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ไตรมาส 3 ปี 2567 ปรับลดลงจากไตรมาสก่อน จากสินเชื่อภาคครัวเรือนที่ขยายตัวชะลอลง ขณะที่ภาคธุรกิจมีสัดส่วนหนี้สินต่อ GDP ปรับลดลงตามการหดตัวของสินเชื่อและตราสารหนี้ ด้านความสามารถในการทำกำไรโดยรวมลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อน โดยเฉพาะภาคการผลิต แม้จะมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยว

ก่อนหน้านี้ธนาคารพาณิชย์ 10 แห่งที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) รายงานผลประกอบการไตรมาส 4 และประจำปี 2567 ต่อตลาด หลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) พบว่า 10 ธนาคารจดทะเบียนฯ มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 17,266 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น7.4%เป็น 2.49แสนล้านบาทจาก 2.31แสนล้านบาทเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน


ที่มา  https://www.thansettakij.com/finance/financial-banking/620301

 


หมาฝัน