ความฝันกับการเปลี่ยนแปลงโลก
By แจ็ค มินทร์ อิงค์ธเนศ
ความฝันที่ดีไม่จำเป็นต้องยิ่งใหญ่ตั้งแต่แรก แต่ต้องเป็นจริงได้และสร้างประโยชน์ให้กับผู้คน

หนึ่งในสิ่งที่ทำให้มนุษย์แตกต่างจากสิ่งมีชีวิตอื่นอย่างชัดเจนที่สุดคือ “ความฝัน” มนุษย์สามารถจินตนาการถึงสิ่งที่ยังไม่มีอยู่จริง และสามารถตั้งเป้าหมายเพื่อทำให้มันเกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นความฝันเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัว หรือความฝันที่ยิ่งใหญ่ระดับเปลี่ยนแปลงโลก ความฝันเหล่านี้ล้วนเป็นต้นกำเนิดของความก้าวหน้าในทุกยุคสมัย
เมื่อใดที่ความฝันนั้นสามารถกลายเป็นจริง และนำประโยชน์มาสู่ผู้คนในวงกว้าง มันจะไม่ใช่แค่ความสำเร็จส่วนตัวอีกต่อไป แต่จะกลายเป็นมรดกทางปัญญา หรือก่อให้เกิดอารยธรรม
เช่น การคิดค้นไฟฟ้า เครื่องยนต์ รถยนต์ อินเทอร์เน็ต หรือปัญญาประดิษฐ์ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เริ่มต้นจากฝันของใครบางคน และวันนี้เราได้ใช้ชีวิตอย่างสะดวกสบายเพราะมีคนรุ่นก่อนที่เคยกล้าฝันและลงมือทำเอาไว้
แต่ความฝันที่จะนำไปต่อยอดได้ไหมก็ขึ้นอยู่กับว่าฝันนั้นจะทำให้เป็นจริงได้แค่ไหน โดยฝันที่เป็น Real Job สามารถกลายเป็นอาชีพจริง สร้างรายได้ สร้างคุณค่า และตอบโจทย์ของสังคมได้ ในขณะที่ฝันแบบ Gray Job อาจมีแรงบันดาลใจสูง มีจินตนาการล้ำสมัย แต่ยังไม่สามารถนำไปใช้ได้จริง อาจขาดแผนหรือทรัพยากรในการทำให้สำเร็จ
ทั้งสองประเภทต่างมีบทบาทของตนในสังคม บางครั้ง gray job ที่ดูไร้สาระในวันนี้อาจกลายเป็น real job ที่เปลี่ยนโลกในอีกสิบปีข้างหน้าก็เป็นได้ หากสภาพแวดล้อมทางธุรกิจเปลี่ยนไป หรือมีคนที่มองเห็น และพร้อมผลักดันมันอย่างจริงจัง
ในยุคของสตาร์ทอัพ เราได้เห็นพลังของความฝันมากมายจากผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่กล้านำเสนอไอเดีย กล้าฉีกกรอบ และกล้าท้าทายสิ่งที่มีอยู่เดิม แผนธุรกิจมากมายที่ส่งเข้าสู่เวทีแข่งขันล้วนเกิดจากความฝันบางอย่างของผู้ก่อตั้ง แต่ฝันเหล่านั้นจะประสบความสำเร็จหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับว่าฝันนั้นตอบโจทย์ใคร และใช้ได้จริงแค่ไหน
แนวคิดของสตาร์ทอัพส่วนใหญ่มักจะแบ่งได้เป็น 2 แนว นั่นคืออย่างแรกเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีใครทำ อาจเป็นนวัตกรรมหรือบริการที่ไม่เคยมีอยู่ในตลาด ซึ่งก็คือ Gray Job ที่บางครั้งอาจดูเกินจริงหรือห่างไกลความเป็นไปได้ ดูหวือหวาและท้าทายความคิดสร้างสรรค์
อีกประเภทหนึ่งนั้นเน้นการตอบโจทย์ชัดเจน เป็นแนวคิดที่มาจากการสังเกตปัญหาจริงในสังคม และสร้างทางออกที่มีประสิทธิภาพ เป็น Real Job ที่มาจากปัญหาในธุรกิจหรือชีวิตประจำวันของผู้คนทั่วไป ซึ่งมีโอกาสทำได้จริงสูงกว่ามาก
ความท้าทายคือ เด็กจบใหม่หรือคนเริ่มต้นธุรกิจจำนวนมาก มักจะหลงใหลในฝันจนลืมวิเคราะห์ความเป็นจริง พวกเขาอยากประสบความสำเร็จ อยากเป็นที่รู้จัก อยากเป็น “อีลอน มัสก์ คนต่อไป” โดยลืมถามคำถามสำคัญว่า สิ่งที่เราทำ แก้ปัญหาให้ใคร? คนจะยอมจ่ายเงินให้เราหรือไม่?
หากจะยกตัวอย่างของคนที่ทำความฝันให้เป็นจริงจนเปลี่ยนแปลงโลกได้อย่างแท้จริง ก็คงต้องพูดถึง Elon Musk เขาเริ่มต้นจากความฝันง่าย ๆ ที่อยากให้การชำระเงินออนไลน์เป็นเรื่องปลอดภัยและสะดวก จึงก่อตั้ง PayPal ขึ้นในปี 1999 เพื่อรองรับตลาด e-commerce ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว
หลังจากสร้างความสำเร็จ เขาก็ขายธุรกิจนั้นในปี 2002 และหันไปทำสิ่งที่แทบไม่มีใครกล้าคิดนั่นคือ Space X ซึ่งเป็นธุรกิจด้านอวกาศที่ไม่เคยมีเอกชนเจ้าไหนทำมาก่อน
SpaceX ไม่ใช่แค่ธุรกิจการบินอวกาศธรรมดา แต่มันคือฝันของการพามนุษยชาติไปอยู่ดาวดวงอื่น ความกล้าของเขาคือการ “คิดเผื่ออนาคต 100 ปีข้างหน้า” ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ก็คงไม่อยู่แล้ว แต่ก็เชื่อว่าโลกจะต้องการทางเลือก เมื่อได้รับผลกระทบรุนแรงจากภาวะโลกร้อนหรือทรัพยากรหมดลง
ความสำเร็จของ SpaceX ไม่ใช่แค่เรื่องของเทคโนโลยี แต่เป็นการลดต้นทุนการเดินทางสู่อวกาศจนแม้แต่นาซ่ายังเลือกใช้บริการของเขา นี่คือการเปลี่ยน Gray Job ให้กลายเป็น Real Job ที่สร้างประโยชน์ต่อมนุษยชาติ
ความฝันที่ดีไม่จำเป็นต้องยิ่งใหญ่ตั้งแต่แรก แต่ต้องเป็นจริงได้และสร้างประโยชน์ให้กับผู้คน เพราะสุดท้ายแล้ว ไม่ใช่ความฝันที่เปลี่ยนโลกแต่คือคนที่กล้าทำความฝันให้เป็นจริงต่างหากที่เปลี่ยนโลกได้สำเร็จ
ที่มา.. https://www.bangkokbiznews.com/blogs/tech/gadget/1187469