#ลงทุนแนวปัจจัยพื้นฐาน

4 เรื่องน่ารู้ก่อนคิดลงทุนใน Bitcoin

โดย ดร. ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์
เผยแพร่:
135 views

ณ เวลานี้คงไม่มีสินทรัพย์ไหนร้อนแรงเท่ากับ Bitcoin เงินสายพันธุ์ดิจิทัลที่โด่งดังที่สุดแล้ว ทั้งๆ ที่ไม่กี่ปีมานี้การเรียก Bitcoin ว่าเป็น “สินทรัพย์” ยังเคยเป็นเรื่องตลก !

 

จากต้นปี 2017 ถึงวันที่ 6 มิถุนายนนี้ Bitcoin ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยแล้วกว่า 180% ในขณะที่ S&P500 ให้ผลตอบแทน 7% (หรือเทียบกับ SET ที่แทบไม่โต...)  ภายในแค่หนึ่งเดือนที่ผ่านมาราคาของ Bitcoin หนึ่งเหรียญพุ่งขึ้นถึง 1200 ดอลลาร์  ถ้าคิดผลตอบแทนตั้งแต่ตอนเงินสกุลนี้เพิ่งคลอดใหม่ๆ หากคุณลงทุน $100 กับมันตอนต้นปี 2011 ตอนนี้ Bitcoin ก้อนนั้นจะมีมูลค่าเกิน $700,000 แล้ว  

 

จึงพอจะเข้าใจได้ว่าทำไมนักลงทุนหลายคนที่ไม่เคยเหลียวแล Bitcoin ถึงเริ่มหันมาให้ความสนใจกับมันกันมากขึ้น เพราะนอกจากราคาที่พุ่งขึ้นจนทำให้หลายคนเกาหัวแล้ว ยังเป็นเพราะว่ามันก็น่าทึ่งเหมือนกันที่เงินสกุลนี้ที่ไม่มีใครดูแล ไม่จำเป็นต้องเชื่อในบุคคลหรือองค์กรใด ยังสามารถอยู่รอดมาได้หลังเหตุการณ์ปล้น hack เงินครั้งใหญ่ที่ตลาด Mt. Gox เมื่อ 3 ปีก่อน และล่าสุดก็มีข่าวดีจากรัฐบาลญี่ปุ่นที่ประกาศรับว่า Bitcoin เป็นเงินถูกกฎหมายไปเมื่อเดือนเมษายน

 

ในบทความนี้เราไปลองดูกันว่ามีประเด็นอะไรที่ควรคำนึงก่อนคิดลงทุนใน Bitcoin กันบ้างครับ

 

1. ความเสี่ยงและความผันผวนยังคงสูงอยู่

 

เราอาจจะรู้สึกอิจฉาบางคนที่ลงทุนกับ Bitcoin ในระยะแรกจนได้รับรางวัลมหาศาลตอนนี้ แต่ก็ต้องเข้าใจว่าพวกเขาก็ต้องขึ้นโรลเลอร์โคสเตอร์แห่งความผันผวนของราคาอันมหาโหดนานถึง 6 ปีเหมือนกัน

ตั้งแต่ปี 2011 ความผันผวนของอัตราผลตอบแทนรายวันของ Bitcoin สูงกว่าค่าเงินทั่วไป 5 เท่าถึง 10 เท่า (ดังภาพ)  ในช่วงเวลาเดียวกันความผันผวนรายวันของดัชนี SET อยู่ที่แค่ 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

 

แม้ว่าทุกวันนี้ความผันผวนจะลดลงมามากแล้วก็ตาม ราคาของ Bitcoin ยังถูกกระทบได้อย่างรุนแรงด้วยหลายปัจจัย

 

ปัจจัยที่ว่านี้มีตั้งแต่ในมิติของความเคลื่อนไหวของรัฐบาลในแต่ละประเทศว่าจะควบคุมมันอย่างไร ประเทศรัสเซียที่หลายคนเคยมองว่าต่อต้านเงินสกุลนี้ เริ่มเปิดแขนอ้ารับมันขึ้นเนื่องจากเขามองเห็นว่ามันเป็นช่องทางที่อาจทำให้เขารวบแก๊งฟอกเงินได้  ไปจนถึงมิติของนโยบายภาษีว่ารัฐบาลไหนจะพยายามบังคับให้บริษัท start up หรือตลาดซื้อขาย Bitcoin ในประเทศยอมแบ่งปันข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานเพื่อเป็นการช่วยให้รัฐเก็บภาษีให้มากขึ้น

 

และที่สำคัญที่สุด เราต้องไม่ลืมมิติของความปลอดภัยในการดูแลรักษา wallet ดิจิทัลที่อาจถูกคุกคามจากเหตุการณ์การปล้น hack ครั้งใหญ่ๆ ได้ในอนาคต  Bitcoin ต่างกับเงินธรรมดาๆ ทุกวันนี้ตรงที่ว่า เมื่อถูกปล้นแล้วจะถูกปล้นเลย เอาคืนมาไม่ได้ พิมพ์ใหม่มาชดเชยไม่ได้  แม้ว่าในอนาคตจะมีบริษัทรับรักษาความปลอดภัยของ wallet หรือมีการร่วมมือระหว่างบริษัทประกันกับธุรกิจเกี่ยวกับการเก็บรักษา Bitcoin มากขึ้น มันก็ยังเป็น “ของใหม่” ที่ยังทำให้หลายคนหวาดเสียวได้อยู่ดี

 

2. ปริมาณจำกัด ไม่ได้แปลว่าไร้อนาคตเสียทีเดียว

 

หลายคนคงเคยได้ยินกันแล้วว่าการจำกัดปริมาณเงินเป็นหนึ่งในจุดเด่นของกลุ่มสกุลเงินดิจิทัล  Bitcoin เองก็จะมีการจำกัดปริมาณอยู่ที่ไม่เกิน 21 ล้าน BTC เท่านั้น ขณะนี้มีการ “ขุด” ไปได้แล้วประมาณ 16.4 ล้าน BTC  คาดว่าเหรียญสุดท้ายจะถูกขุดในปี 2140

 

ด้วยเหตุนี้บางครั้ง Bitcoin จึงถูกวิจารณ์ว่าไม่ค่อยมีประโยชน์นักเนื่องจากปริมาณมันจำกัดเหลือเกินจะเอาไปหมุนเศรษฐกิจระดับเมืองที่มีคนเป็นล้านคนได้อย่างไร อันนี้เป็นคำวิจารณ์ที่คาดเคลื่อนเนื่องจาก Bitcoin สามารถถูกแบ่งเล็กลงไปได้ถึงจุดทศนิยม 8 ตำแหน่ง และถึงแม้ในวันนี้ตัวเลข 0.00000001 จะดูระคายตา ในอนาคตถ้ามีการใช้ Bitcoin กันอย่างแพร่หลายจริงๆ เราก็คงคุ้นกับการเรียกมันแบบย่อๆ ว่า “1 ซาโตชิ” (ชื่อผู้คิดค้น) 

 

นั่นแปลว่าคุณไม่จำเป็นต้องซื้อ Bitcoin 1 BTC เป็นหน่วยเต็มๆ ในกรณีที่ในอนาคตมันราคาขึ้นไปมากกว่านี้ จะซื้อแค่ 0.00001 BTC ก็ได้ไม่มีใครว่าครับ

 

3. ความสัมพันธ์กับราคาสินทรัพย์อื่นค่อนข้างต่ำ

 

จุดหนึ่งที่นักลงทุนเริ่มสนใจ Bitcoin กันมากขึ้นคือเพราะว่าราคาของมันไม่ค่อยมีความสัมพันธ์กับสินทรัพย์อื่นนัก (ยกเว้นกับสกุลดิจิทัลด้วยกันเอง)  และเริ่มมีหลักฐานจากงานวิจัยแล้วว่ามันไม่ค่อยเคลื่อนไหวตาม fundamentals อื่นๆ ในระบบเศรษฐกิจ (https://arxiv.org/ftp/arxiv/papers/1405/1405.4498.pdf) แต่จะขึ้นอยู่กับตัวแปรที่เกี่ยวข้องกับอุปสงค์และอุปทานของตัวมันเองมากกว่า (มีคนสนใจมากขึ้นไหม ปริมาณการเทรดต่อวัน ฯลฯ)  หากเป็นเช่นนี้ต่อไปมันจะเป็น “จุดขาย” สำหรับนักลงทุนที่ต้องการบริหารความเสี่ยงในพอร์ตโฟลิโอของตน

 

4. อย่าลืมมอง cryptocurrency สกุลอื่น

 

ตั้งแต่ Bitcoin คลอดออกมาก็มีสกุลเงินดิจิทัลแบบ cryptocurrency อื่นๆ ออกมาให้ซื้อขายกันมากมาย (เท่าที่นับได้จากเว็บไซต์ coinmarketcap.com ก็ประมาณ 700 กว่าสกุลด้วยกัน) โดยสกุลที่ market capitalization สูงกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ตอนนี้มีแค่ 7 สกุลด้วยกัน  เพราะเหตุนี้จึงมีความเป็นไปได้เหมือนกันว่าคุณค่าของ Bitcoin จะเสื่อมลงหากในอนาคตเราอาจพบว่าการดีไซน์ Blockchain ของ Bitcoin ไม่มีประสิทธิภาพหรือไม่น่าดึงดูดเท่าสกุลดิจิทัลอื่นๆ 

 

สกุลดิจิทัลเหล่านี้มีทั้งที่เป็นโคลนของ Bitcoin ที่มีความแตกต่างในเรื่องของกฎของการขุดเงินหรือในการลงประชามติเพื่อเปลี่ยนแปลงการควบคุมระบบ ไปจนถึงความแตกต่างทางอุดมการณ์โดยสิ้นเชิง แต่สำหรับสกุลหลักๆ แล้วจะต่างกันมากที่สุดในมิติของความเป็นไปได้ในการเอาไปต่อยอด

 

ยกตัวอย่างเช่น ระหว่าง Bitcoin กับ Ethereum แม้จะมีพื้นฐานเป็น Blockchain เหมือนกัน แต่เทคโนโลยีของ Ethereum ไม่ใช่แค่เพื่อเช็คความถูกต้องของธุรกรรมโดยไม่จำเป็นต้องมีตัวกลางที่น่าเชื่อถือ (เช่นธนาคารหรือแบงก์ชาติ) อย่างเดียว เทคโนโลยี smart contract (สัญญาอัฉริยะ) ของ Ethereum นั้นอำนวยให้เช็คสิ่งอื่นๆ ที่คอมพิวเตอร์โปรแกรมทำได้ด้วย สาวก Ethereum จึงเชื่อว่ามันน่าจะมาเปลี่ยนชีวิตคนในอนาคตได้มากกว่า Bitcoin เสียอีก

 

อีกความเคลื่อนไหวที่น่าติดตามที่สุดในขณะนี้คือสิ่งที่เรียกว่า “stablecoin” ซึ่งเป็นการสร้างเงินดิจิทัลที่มีเป้าหมายขจัดความผันผวนของราคาที่เป็นจุดอ่อนของเงินดิจิทัลแทบทุกสกุลโดยพยายามกระจายหน้าที่ของธนาคารกลางแบบ peer-to-peer

 

ใครจะชนะการแข่งขันระหว่างสกุลเงินดิจิทัลยังเป็นอะไรที่ยากที่จะพยากรณ์ได้ ในมุมหนึ่งหาก Bitcoin ยังคงครอง market share ที่สูงถึงครึ่งหนึ่งของตลาดเงินดิจิทัลและมีสภาพคล่องดีที่สุดอย่างนี้ได้ต่อไป ในอนาคตอาจได้รับสถานะเดียวกับการที่ดอลลาร์สหรัฐฯ ที่เป็น “สกุลเสาหลัก” ของโลกออฟไลน์ก็เป็นได้ แต่ในอีกมุมราคามันก็มีโอกาสตกเหลือศูนย์ได้เมื่อเกิดตัวเลือกที่ดีกว่ามากๆ ขึ้นมา

 

สุดท้ายนี้ต้องไม่ลืมว่าการลงทุนในสกุลเงินดิจิทัลเหล่านี้ยังคงมีความเสี่ยงสูงมาก (รวมถึงความกำกวมในการชำระภาษี) แต่ก็ไม่ควรปล่อยให้ความเคลื่อนไหวใหม่ๆ นี้ละสายตาไปโดยเฉพาะในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเช่นนี้ครับ

 

ติดตามบทวิเคราะห์จากมุมมองเศรษฐศาสตร์ที่เข้าใจง่ายได้ที่ www.settakid.com  

 


ผู้เขียนเป็นเจ้าของเว็บไซต์ settakid.com ที่วิเคราะห์ประเด็นเปลี่ยนโลกผ่านมุมมองเศรษฐศาสตร์แบบเข้าใจง่ายๆ  คุณ ณภัทร จบปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยคอร์เนลและจอนส์ ฮอปกินส์ เคยมีประสบการณ์ทำวิจัยที่มหาวิทยาลัยฮาวาร์ดและธนาคารโลก และสำเร็จการศึกษาปริญญาเอกสาขาเศรษฐศาสตร์ประยุกต์อยู่ที่มหาวิทยาลัยมินนิโซต้า เป็นนักเขียนรับเชิญของ stock2morrow และเป็นคอลัมนิสต์ประจำสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า

Facebook

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง