ช่วงหลายปีก่อน หุ้น BJC เป็นหุ้นที่ไม่ค่อยเด่นดังมากนักในตลาดหุ้นไทย วอลุ่มเทรดก็เบาบางวันหนึ่งซื้อขายกันหลัก 5 หมื่นหุ้น - 1 แสนหุ้น แต่มาในปัจจุบันมีวอลุ่มเทรดสูงถึง 3 ล้านหุ้น - 10 ล้านหุ้น เลยทีเดียว ถือว่าเป็นหุ้นที่นักลงทุนรายย่อยให้การจับตามองเป็นหุ้นใหญ่ตัวหนึ่ง
BJC เป็นหุ้นตัวแรกๆที่ซื้อขายกันในตลาดหลักทรัพย์อยู่ในยุคเดียวกันกับ SCC หรือปูนซีเมนต์ไทย แต่เดิมเป็นบริษัทของคนต่างชาตินำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมาขายในประเทศไทย ต่อมาขยับขยายตั้งโรงงานสบู่ยี่ห้อ "ตรานกแก้ว" ผ่านมาอีกหลายปีโดนเจ้าสัวเจริญแห่งเบียร์ช้างเข้ามาซื้อกิจการไปเพื่อใช้เป็นฐานในการขยายกลุ่มค้าปลีกให้กับในเครือไทยเบฟ ตั้งโรงงานผลิตขวดแก้ว ผลิตกระป๋องอลูมิเนียม ให้กับกลุ่มไทยเบฟ ต่อมาตั้งโรงงานทำขนมขบเคี้ยว ตั้งโรงงานทำสินค้าอุปโภค บริโภค เป็นตัวแทนจัดจำหน่าย นำเข้าสินค้าเครื่องยาเวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์
ซึ่งถือว่าเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจหลากหลายมาก ล่าสุด บริษัทกำลังก้าวเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีก Modern Trade รายใหญ่อย่างบิ๊กซี ดูเหมือนว่าจุดอ่อนของบริษัทที่ผู้ลงทุนรวมถึงนักวิเคราะห์มองกันว่า สินค้าที่ผลิตขึ้นมากลับไม่มีช่องทางจัดจำหน่าย จุดอ่อนนี้จะถูกปิดอย่างสมบูรณ์แล้วในอนาคต
BJC ไม่ได้มีธุรกิจอยู่ในประเทศไทยเพียงอย่างเดียว แต่เขากลายเป็นบริษัทระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปแล้ว
(ขอบคุณข้อมูลจาก : รายงานประจำปี BJC ปี 2559)
SET.or.th สรุปธุรกิจของ BJC ไว้ดังนี้
1. ผลิต ทำการตลาด และจัดจำหน่าย
(1) ผลิตภัณฑ์ด้านบรรจุภัณฑ์ ได้แก่ บรรจุภัณฑ์แก้ว กระป๋องอลูมิเนียม และบรรจุภัณฑ์พลาสติกแข็ง (2) ผลิตภัณฑ์ด้านอุปโภคบริโภค ได้แก่ ขนมขบเคี้ยว เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์ซึ่งทำจากนม สินค้าเครื่องใช้ส่วนตัว (สบู่ แชมพู และเครื่องสำอาง) และสินค้าเครื่องใช้ในครัวเรือน (กระดาษทิชชู่และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด)
2. นำเข้า และจัดจำหน่าย (1) ผลิตภัณฑ์ด้านเวชภัณฑ์ ได้แก่ เภสัชภัณฑ์ เวชภัณฑ์ และเครื่องมือทางการแพทย์ (2) ผลิตภัณฑ์ด้านเทคนิค ได้แก่ เคมีภัณฑ์อุตสาหกรรม ผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีทางภาพ (3) ผลิตภัณฑ์ด้านหนังสือและนิตยสาร เครื่องเขียนและเครื่องใช้สำนักงาน
3. ออกแบบ จัดหา และจัดจำหน่ายเครื่องมือและอุปกรณ์ ระบบควบคุมอัตโนมัติ เครื่องมือเพื่อการอุตสาหกรรม อุปกรณ์คลังสินค้าและขนส่งสินค้า และโครงเหล็กเสาไฟฟ้าแรงสูงชุบสังกะสี
4. ให้บริการด้านพิธีการออกสินค้า คลังสินค้า ขนส่ง และจัดส่งสินค้า (โลจิสติกส์)
5. ให้บริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และธุรกิจอื่น ๆ
รายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นกลุ่ม TCC ซึ่งก็คือเจ้าสัวเจริญนั้นเอง
(ขอบคุณข้อมูลจาก : SET Smart)
ธุรกิจบรรจุภัณฑ์
ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ของ BJC ธุรกิจขวดแก้วสีเขียวมรกตถือเป็นสินค้าเรือธงที่มีเอกลัษณ์มาก
(ขอบคุณข้อมูลจาก : รายงานประจำปี BJC ปี 2559)
ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ เป็นธุรกิจที่เติบโตค่อนข้างช้าแต่ฐานรายได้ค่อนข้างมั่นคง แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ ธุรกิจแก้ว กระป๋องอลูมิเนียม และบรรจุภัณฑ์พลาสติก
ธุรกิจแก้วของ BJC มีสัดส่วนการตลาดอยู่ที่ 37% ดูเหมือนว่าธุรกิจชนิดนี้จะไม่มี "คูเมืองแห่งความได้เปรียบ" แต่ถ้าเราเจาะลึกจริงๆแล้วจะเห็นว่าธุรกิจนี้เป็นธุรกิจที่ไม่ได้มีเงินทุนอย่างเดียว แต่ต้องมีฐานลูกค้าที่มากระดับหนึ่งด้วยถึงจะไปได้ ซึ่งฐานลูกค้าส่วนใหญ่ของ BJC แล้วจะอยู่ในเครือเบียร์ช้างและเอฟแอนด์เอ็นเป็นส่วนใหญ่ ธุรกิจแก้วของ BJC ในปัจจุบันมีคำสั่งซื้อเข้ามาต่อเนื่องและโตไปพร้อมกับเครือไทยเบฟ ดังนั้นบริษัทจึงมีแผ่นเพิ่มกำลังผลิตอย่างต่อเนื่องแสดงให้เห็นถึงภาวะที่สดใสของธุรกิจ
ธุรกิจกระป๋องของ BJC เช่นเดียวกันกับธุรกิจแก้ว คือ ต้องมีฐานลูกค้าที่มากพอสมควร แต่ความแตกต่างคือต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูงเพื่อให้ต้นทุนเฉลี่ยต่ำจึงทำให้มีคู่แข่งน้อยมาก BJC ถือเป็นรายใหญ่ที่สุดทางด้านกระป๋องอลูมิเนียม
ธุรกิจสินค้าอุปโภค บริโภค
ขนมขบเคี้ยว ก็สามารถนำมาพัฒนาให้เป็นขนมที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพได้ ... สบู่ตรานกแก้วมีมาอย่างยาวนาน
(ขอบคุณข้อมูลจาก : รายงานประจำปี BJC ปี 2559)
สำหรับสายธุรกิจนี้แบ่งออกเป็น 6 กลุ่มธุรกิจ คือ อาหาร เครื่องใช้ส่วนตัว โลจิสติกส์ ผลิตจัดจำหน่ายในเวียดนาม ธุรกิจนำเข้าเครื่องเขียนเครื่องใช้สำนักงาน และนำเข้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ แต่ถ้าพูดถึงกลุ่มนี้เมื่อไร นักลงทุนกำลังพูดถึงธุรกิจอาหาร และเครื่องใช้ส่วนตัวมากกว่า
ธุรกิจในกลุ่มนี้เป็นธุรกิจที่แข่งขันกันค่อนข้างสูง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของตลาดขนมขบเคี้ยวที่มีมูลค่าตลาดประมาณ 65,000 ล้านบาท ก็จริงแต่มีผู้เล่นมากรายที่มาแย่งส่วนแบ่งการตลาดไป ดังนั้นแต่ละบริษัทจึงขยันออกโปรโมชั่น ออกผลิตภัณฑ์รสชาติใหม่ รูปลักษณ์ที่ทันสมัย เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภค ถึงแม้จะเป็นอย่างหนักการแข่งขันก็อิ่มตัว โจทย์ต่อไปสำหรับธุรกิจคือการขยายไปตลาดต่างประเทศอย่าง ลาว กัมพูชา พม่า เวียดนาม
BJC มีสิ่งที่ได้เปรียบคือ สินค้าของบริษัทมีชื่อเสียงมาอย่างยาวนานและเป้นที่รู้จักกันดีในเรื่องของคุณภาพ เช่น สบู่ตรานกแก้วที่ครองใจผู้บริโภคมายาวนาน และกระดาษทิชชู่เซลล็อกซ์
ถึงแม้การแข่งขันสูง แต่บริษัทก็พยายาที่จะพัฒนาสินค้าอย่างต่อเนื่อง โดยการออกสินค้าชนิดใหม่ รูปลักษณ์ใหม่
(ขอบคุณข้อมูลจาก : รายงานบริษัทจดทะเบียนพบผู้ลงทุน)
อีกหนึ่งธุรกิจในกลุ่มนี้ที่เติบโตสูงมาก คือ ธุรกิจผลิตจัดจำหน่ายในเวียดนาม .. เวียดนามเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตสูงมาก อีกทั้งโครงสร้างประชากรยังเป็นหนุ่มสาวที่มีกำลังซื้อสูง BJC มีไทยคอร์ป และไทอันเป็นหัวหอกในการลงทุนที่เวียดนาม ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นตัวแทนจัดจำหน่ายสินค้ารวมถึงกระจายสินค้าในเวียดนาม สินค้าจากประเทศไทยหลายบริษัท สินค้าจากในเครือเบียร์ช้างก็ให้ BJC เป็นตัวแทนการจัดจำหน่ายและกระจายสินค้าในเวียดนามเช่นเดียวกัน
ธุรกิจ Healthcare
ธุรกิจในกลุ่มนี้แยกออกได้เป็น 2 ประเภท คือ ฝ่ายเวชภัณฑ์ และฝ่ายการแพทย์
ฝ่ายเวชภัณฑ์ จะเป็นเรื่องของด้านตัวยาเป็นหลักสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นส่วนประกอบของตัวยา ยานำเข้า รวมถึงอาหารเสริม เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ซึ่งธุรกิจในกลุ่มนี้เป็นธุรกิจที่แข่งขันกันสูงมากทางด้านราคาทำให้ไม่เติบโตมากเท่าที่ควร เป็นกลุ่มที่เดินไปด้วยตัวของมันเองมากกว่าที่จะโตแบบผิดหูผิดตา
ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นธุรกิจที่ขึ้นอยู่กับนโยบายของภาครัฐมากกว่าว่าจะส่งเสริมหรือไม่ในปีนั้นๆ นอกจากภาครัฐแล้วยังมีโรงพยาบาลเอกชน คลีนิกเอกชนและกลุ่มธุรกิจร้านขายยาก็ถือว่าเป็นซัพพลายของตลาด
ฝ่ายการแพทย์ จะเป็นเรื่องของอุปกรณ์ทางการแพทย์ ที่ต้องมีความชำนาญในการใช้สูงมาก เช่นเครื่องเอกซเรย์ เครื่องผ่าตัด เครื่องกระตุนหัวใจ การเติบโตอยู่ที่ประมาณ 5%ต่อปี ซึ่งเป็นการเติบโตทีไม่หวือหวามาก
แต่สังคมไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้มูลค่าของสินค้าในกลุ่มนี้มีการเติบโตที่เด่นมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งภาครัฐยังส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นเมดิเคิลฮับซึ่งถือว่าเป็นธีมหนึ่งที่น่าลงทุนเลยทีเดียว อย่างไรก็ตาม กลุ่มนี้เป็นเรื่องเฉพาะกลุ่ม คือ เป็นเรื่องของเอกชน และภาครัฐเป้นสำคัญ ถ้าภาครัฐไม่ได้ส่งเสริม ดูเหมือนว่ากลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่ค่อนข้างเงียบเหงาไม่มีปัจจัยอะไรใหม่ๆมากระตุ้น
สัดส่วนรายได้ของบริษัท ในปี 2016 และประมาณของปี 2017 BigC จะเข้ามามีบทบาทมาก
(ขอบคุณข้อมูลจาก : บทวิเคราะห์ Maybank Kimeng)
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจในกลุ่มนี้ยังมีอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องส่วนผสมเบเกอร์รี่ ส่วนผสมสารเคมี สารทำความเย็นในโรงงานอุตสาหกรรม แต่รายได้ก็ถือว่ายังเป็นสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับรายได้ทั้งหมดของ BJC
นอกจากนั้นยังมีศักยภาพการเติบโตได้ดี ในระยะยาวภายใต้กลยุทธ์ที่ให้ BJC ทำธุรกิจต้นน้ำและกลางน้ำ โดยเน้นธุรกิจผลิต และกระจำยสินค้า ขณะที่ BIGC ทำธุรกิจปลายน้ำ โดยมีการขยายสาขาร้านค้าปลีก หลายประเภททั้งในไทยและ CLMV ซึ่งมีช่องว่างในการเติบโตอีกมำก
ตอนที่ 2 เราจะมาเจาะลึกกันว่า ธุรกิจตัวใหม่ของ BJC คือธุรกิจโมเดิร์นเทรด จะก้าวเข้ามามีบทบาทมากแค่ไหน รอติดตามกันครับ