#แนวคิดด้านการลงทุน

Top 5 สาเหตุของการแหกกฎ

โดย ผศ.ดร. ศุภวัฒน์  สุภัควงศ์
เผยแพร่:
189 views

Dr. Brett Steenbarger เจ้าของหนังสือการลงทุนขายดีอย่าง The Psychology of Trading, Enhancing Trader Performance, และ The Daily Trading Coach ได้ทำการศึกษาถึงปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลให้นักลงทุนไม่ทำตามวินัยการลงทุน ซึ่งพอจะสรุปเป็น Top 5 สาเหตุที่ก่อให้เกิดการแหกกฎมีดังต่อไปนี้

ลำดับที่ 5 สมาธิหลุด

ในสถานการณ์ปกติ นักลงทุนควบคุมอารมณ์ตนเองได้ดี อย่างไรก็ตาม ในสภาวะที่ตลาดมีความผันผวนล้วนส่งผลต่อความสามารถในการตัดสินใจ ไม่ว่าจะเป็น ความตื่นเต้นหรือความเครียดจากการขึ้นลงของราคา ความเหนื่อยล้าทางร่างกายและอารมณ์ ทำให้สมาธิหลุด และไม่สามารถควบคุมตนเองได้ ตัดสินใจผลุนผลัน โดยไม่กลั่นกรองให้ดีเสียก่อน ก็ส่งผลให้เกิดความเสียหายได้

 

ลำดับที่ 4 แรงกดดันจากเหตุการณ์ รอบตัว

ระบบทุกระบบล้วนมีช่วงทำเงินได้เยอะ กับช่วงที่ขาดทุนอย่างต่อเนื่อง หรือผลตอบแทนเอื่อยๆ อยู่กับที่ ไม่ขึ้นไม่ลงอยู่เป็นปี ซึ่งพลอยจะทำให้จิตใจเราห่อเหี่ยวไปด้วย

 

หากช่วงเวลาดังกล่าวมีความจำเป็นต้องใช้เงิน เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าเล่าเรียนลูก ฯลฯ ก็จะรู้สึกแย่ขึ้นไปอีก (จริงๆ แล้วเงินส่วนที่เอามาเทรด ควรเป็นเงินเย็นที่ไม่มีความรีบร้อนจะเอามาใช้) พอมีโอกาสเข้ามา ก็พลอยทำให้เราไปโฟกัสหาวิธีในการทำกำไรให้สูงๆ แทนที่จะคงวินัยการเทรดที่ดีไว้

 

ลำดับที่ 3 เทรดเกินตัว

โดยเฉพาะในตลาดการซื้อขายอนุพันธ์ เทรดเกินตัวเพียงแค่มุ่งเป้าหากำไรก้อนใหญ่ๆ ในเวลาสั้นๆ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ระดับความเสี่ยงก็สูงตามขึ้นมาด้วย ในวันที่ตลาดมีความผันผวนมาก ย่อมส่งผลให้เกิดความหวั่นไหวทางอารมณ์ให้พร้อมที่จะแหกกฎที่ตั้งเอาไว้ทุกเมื่อ

 

ลำดับที่ 2 ไม่มีกลยุทธ์หรือแผนการเทรดที่ชัดเจนตั้งแต่แรก

Trading plan ถือเป็นเครื่องมือสำคัญยิ่ง ที่จะช่วยให้เราอยู่รอดปลอดภัยจากการลงทุนในเส้นทางนี้ น่าแปลกใจที่มีนักลงทุนจำนวนมากกระโดดลงในสมรภูมินี้ โดยไม่มีการวางแผนที่ชัดเจน บางคนอาจจะมีอยู่ในใจว่าถึงตอนนี้นะให้ซื้อ ถึงตรงนี้ให้ขาย แต่ไม่เคยมีการเขียนออกมาอย่างชัดเจน ทำให้เมื่อราคามีการเปลี่ยนแปลงอย่างหนักๆ ก็ลืมสิ่งต่างๆที่คิดมาทั้งหมด เป็นการเทรดด้วยอารมณ์ล้วนๆ

 

ลำดับที่ 1 ไม่รู้จักตัวเราเอง

ฟังดูแล้วเป็นเรื่องน่าเศร้าครับ ว่าสาเหตุหลักที่ทำให้นักลงทุนแหกกฎ คือ เขาเหล่านั้นไม่รู้จักตัวเอง  ความหมายคือ ไม่รู้ว่าพื้นฐานและลักษณะนิสัยของเขาเหมาะกับการลงทุนในลักษณะไหน มีเวลาว่างให้กับการศึกษาและการเทรดมากน้อยเพียงใด รวมถึง มีเป้าหมายผลตอบแทนและความเสี่ยงที่รับได้ที่เท่าไหร่

 

เมื่อตอบโจทย์ตรงนี้ไม่ได้ เส้นทางการลงทุนก็เหมือนคนเดินเข้าป่าอย่างไร้จุดหมาย เดี๋ยวเดิน เดี๋ยววิ่ง กลับไปกลับมา แต่ก็ไม่ได้อะไรเป็นชิ้นเป็นอัน  เคยคิดไหมครับว่า (1) time frame ที่เราเทรดอยู่ในตอนนี้ (2) สไตล์การลงทุน รวมถึง (3) ตลาดที่ลงทุนนั้น มันตรงกับนิสัยใจคอเราแล้วหรือยัง ? เพราะหากเราไม่สามารถตอบ Yes ได้อย่างชัดเจนเสียงดัง  ทุกๆ ครั้งที่เกิดเหตุการณ์ที่เราไม่คาดคิดขึ้น ก็จะมีเครื่องหมายคำถามกับกลยุทธ์ของเราอยู่เรื่อยไป ซึ่งสุดท้ายก็ก่อให้เกิดการแหกกฎ

 

ผมเชื่อว่านักลงทุนในยุคนี้มีการศึกษาเตรียมตัวที่ดีก่อนเริ่มการลงทุนอยู่แล้ว  และทุกคนล้วนเคยประสบปัญหาเหล่านี้ เพียงแต่ว่าจะรู้ตัวเองได้เร็วขนาดไหน แล้วทำการปรับปรุงตัวไม่ให้เจ็บซ้ำๆ อยู่ตลอดไป

 

อย่าลืมนะครับ หัวใจของการลงทุนให้ประสบความสำเร็จมีง่ายๆ อยู่แค่ 3 ข้อ คือ 10% มีจุดซื้อจุดขายที่ดี  30% มีการจัดการเงิน หรือ money management ที่ดี ส่วนที่เหลืออีก 60% ต้องมีจิตวิทยาและวินัยการลงทุนที่ดี

 

ถ้ารู้ว่าคุมตัวเองไม่ได้ ลองมาเรียนรู้ดูมั้ยว่าการตัดอารมณ์ออกไป แล้วเทรดแบบโรบอท จะช่วยสร้างผลตอบแทนที่ดีได้อย่างไร กับคอร์ส “สร้างพอร์ตให้โตด้วยโรบอทเทรด” วันเสาร์ที่ 20 พ.ค.นี้ ที่ Silom Complex ชั้น 19 ลงทะเบียนที่ https://www.stock2morrow.com/course/seminar_courses_list.php?id=365 

ร่วมเรียนรู้และก้าวเข้าสู่ยุคโรบอททำเงินไปด้วยกัน

ผศ.ดร.ศุภวัฒน์  สุภัควงศ์ (อาจารย์นาย)

:: อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

:: ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Think Algo

:: ผู้เขียนหนังสือ Best Seller “เทรดหุ้นยุคใหม่ให้โรบอททำเงินแทน”


ผศ. ดร.ศุภวัฒน์  สุภัควงศ์ (อาจารย์ Nine) - อดีตนักเรียนทุนรัฐบาล ศึกษาระดับปริญญาตรี-โท ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และปริญญาเอกที่ Imperial College London ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์  คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  อาจารย์เน้นงานวิจัยด้านการประมวลผลสัญญาณ time-series ประเภทต่างๆ หนึ่งในนั้นคือ การศึกษาพฤติกรรมการเปลี่ยนแปลงของราคาหลักทรัพย์  มีความสนใจและเป็นนักพัฒนา algorithms ต่างๆ ในแนวทางการลงทุนแบบ algorithmic and systematic trading

Facebook

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง