บริษัท มัดแมน จำกัด (มหาชน) (“MM”) ประเภทธุรกิจ : บริษัทฯ ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) ที่ประกอบธุรกิจหลักคือธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม และธุรกิจอื่นคือธุรกิจไลฟ์สไตล์
เครดิตภาพ : นิตยสาร Money & Wealth
ผู้บริหารของ MM มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจอาหาร โดยมีประสบการณ์ทั้งในธุรกิจอาหารและโรงแรม มากว่า 15 ปี โดยเฉพาะ CEO คุณนาดิม ซาเวียร์ ซาลฮานี ผู้พลิกฟื้นธุรกิจให้ “มัดแมน” พร้อมนำเข้าจดทะเบียนในตลาด mai ซึ่งถือว่าเป็นผู้มีประสบการณ์ในธุรกิจอาหารอย่างแท้จริง โดยคุณนาดิมเป็นผู้บุกเบิกกาแฟยี่ห้อดัง Starbucks ในประเทศไทย โดยเป็นผู้เปิด 40 สาขาแรก นับว่าเป็นทีมผู้บริหารที่มีฝีไม้ลายมือเป็นอย่างมาก
ในปี 2560 นี้ เริ่มเห็นสัญญาณของการฟื้นตัวของการบริโภคภายในประเทศ อันเนื่องมาจากการปรับค่าแรงชั้นต่ำ, การปรับโครงสร้างภาษี, และการฟื้นตัวของราคาสินค้าการเกษตรกลุ่มหลัก ๆ ทำให้การได้ประโยชน์ต่อกลุ่มการบริโภคภายในประเทศที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น
มัดแมน (MM) ดำเนินธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม โดยมีแบรนด์ที่ได้รับสิทธิจากต่างประเทศ ได้แก่ Dunkin’ Donuts, Au Bon Pain และ Baskin Robbins, และดาวเด่นอย่าง Greyhound ซึ่งนับว่าเป็นแบรนด์ที่ใครได้ยินก็คุ้นหู และเชื่อว่าพวกเราหลายๆ คน เคยได้ลิ้มลองความอร่อยของสินค้าในแบรนด์เหล่านี้แล้ว
ล่าสุดมัดแมน หรือชื่อย่อหุ้น MM กำลังเข้ามาเทรดในตลาดหุ้นให้นักลงทุนที่สนใจลงทุนธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม และรวมถึงธุรกิจไลฟ์สไตล์
มีจำนวนหุ้นที่เสนอขาย: 210,980,750 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 20 ของจำนวนหุ้นที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมด ของบริษัทภายหลังการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนในครั้งนี้ โดยแบ่งเป็น
1. หุ้นเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 41,437,135 หุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 20 ของจำนวนหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้ เพื่อเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นของ บมจ. ทรัพย์ศรีไทย (“SST”) ตามสัดส่วนการถือหุ้นใน SST (Pre-emptive Right) ทั้งนี้ หุ้นที่เหลือจากการจัดสรรในข้อนี้จะถูกนำมาจัดสรรเพื่อเสนอขายต่อประชาชนทั่วไป
2. หุ้นจำนวนไม่เกิน 169,543,615 หุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 80 ของจำนวนหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้ และหุ้นส่วนที่เหลือทั้งหมดจากการเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นของ SST ตามสัดส่วนการถือหุ้นใน SST (Pre-emptive Right) ตามข้อ 1 เพื่อเสนอขายให้แก่ประชาชนทั่วไป
สัดส่วนการเสนอขายหุ้น:
เสนอขายต่อผู้ถือหุ้นของทรัพย์ศรีไทย : ไม่เกิน 41,437,135 หุ้น
เสนอขายต่อผู้มีอุปการคุณของผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ : ประมาณ 64,543,615 หุ้น
เสนอขายต่อนักลงทุนสถาบัน : ประมาณ 80,000,000 หุ้น
เสนอขายต่อผู้มีอุปการคุณของบริษัทฯ : ประมาณ 25,000,000 หุ้น
"มัดแมน" ในชื่อย่อ MM สรุปราคาขาย IPO เปิดจอง 3-5 เมษายน 2560 เข้าเทรดวันแรกในตลาดหลักทรัพย์ ในวันที่ 11 เมษายน 2560
โดยเสนอขาย IPO หุ้นของบมจ.มัดแมน จำกัด (มหาชน) หรือ MM ในราคาหุ้นละ 5.25 บาท จากช่วงราคาเสนอขายในเบื้องต้นที่ 5.00 – 5.50 บาทต่อหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 1 บาท
MM เสนอขายหุ้น IPO จำนวน 210,980,750 หุ้น คิดเป็น 20% ของจำนวนหุ้นที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัท
พิจารณาจากราคาและจำนวนหุ้นที่ได้รับข้อเสนอด้านความต้องการซื้อจากนักลงทุนสถาบัน โดยคำนึงถึงราคาที่จะทำให้บริษัทฯ ได้รับเงินตามจำนวนที่ต้องการ และยังมีความต้องการซื้อหุ้นเหลืออยู่มากพอในระดับที่คาดว่าจะทำให้ราคาหุ้นมีเสถียรภาพในตลาดรอง
สำหรับนักลงทุนที่ต้องการอราบถึงนโยบายจ่ายเงินปันผล มัดแมนจ่ายในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของกำไรสุทธิบนงบการเงินเฉพาะกิจการหลังหักภาษี และหลังหักเงินสำรองตามกฎหมาย รวมถึงเงินสำรองอื่นๆ
ความท้าทายในการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai
จุดประสงค์หลักของการที่มัดแมน (MM) ที่เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ในตลาด mai โดยมีทั้งหมด 3 ข้อ ดังนี้
- เพื่อต้องการเคลียร์หนี้สินต่างๆ ของบริษัท ให้มีสภาพการเงินที่คล่องตัวมากขึ้น
- นำเงินทุนมาพัฒนาธุรกิจได้มากขึ้น พัฒนาโมเดลธุรกิจของแบรนด์ต่างๆ
- นำเงินลงทุนเพื่อไปลงทุนในต่างประเทศ โดยใช้แบรนด์ “เกรฮาวด์ คาเฟ่” เป็นหัวหอกหลัก จะเริ่มจากในเอเชีย และขยายไปยังยุโรป
มัดแมนมองว่ามีศักยภาพสูง และเป็นแบรนด์ของตัวเอง ในขณะที่แบรนด์อื่นเป็นมาสเตอร์ แฟรนไชส์ จะมีการขยายสาขาไปต่างประเทศมากขึ้น โดยที่ผ่านมาได้มีสาขาที่ประเทศมาเลเซีย จีน และฮ่องกง ซึ่งเป็นโมเดลของการขาย แฟรนไชส์ให้นักลงทุนท้องถิ่น
ร้านอาหารในเครือของมัดแมน รองรับลูกค้าเกือบทุกประเภท เช่น Greyhound รองรับลูกค้ากลุ่มคนมีกำลังซื้อสูง, Duukin' Donuts สำหรับกลุ่มคนฐานะปานกลาง และ Au Bon Pain สไหรับคนรักสุขภาพและพนักงานออฟฟิค
นอกจากนั้น เนื่องจากบริษัทฯ ประกอบกิจการโดยการถือหุ้นในกิจการอื่น (Holding Company) โดยมีสินทรัพย์หลักคือเงินลงทุนในบริษัทย่อย ดังนั้น ความสามารถในการจ่ายเงินปันผลของบริษัทจึงขึ้นอยู่กับผลการดำเนินงานและการจ่ายเงินปันผลของบริษัทย่อยเป็นหลัก
ผลประกอบการของมัดแมน ?
ด้านรายได้ : ในปี 2557 ปี 2558 และปี 2559 บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีรายได้รวมทั้งหมดเท่ากับ 2,235 ล้านบาท 2,889 ล้านบาท และ 2,992 ล้านบาท ตามลำดับ หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปี (Compound Annual Growth Rate) ที่ร้อยละ 16
เนื่องจากตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ปี 2557 เป็นต้นมา งบการเงินรวมของบริษัทฯ ได้ทำการรวมรายได้ของกลุ่มธุรกิจเกรฮาวด์เข้ามาด้วย ทำให้ภาพรวมของรายได้มีการเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
โดยสรุปการเพิ่มขึ้นของรายได้ของแต่ละบริษัทย่อยนั้นประกอบด้วยสาเหตุหลัก 2 ประการ คือ
1. การเติบโตของรายได้ของสาขาเดิม (Same Store Sales Growth - SSSG)
2. การเพิ่มขึ้นของจำนวนสาขาของแต่ละบริษัทย่อย
ด้านอัตรากำไร (ขาดทุน) สุทธิของมัดแมน ในปี 2557 – ปี 2559 คือ ร้อยละ (1.6) ร้อยละ (1.5) และ ร้อยละ (5.6) ตามลำดับ โดยการลดลงของอัตรากำไร (ขาดทุน) สุทธิของบริษัทฯ ตั้งแต่ปี 2557 เกิดจากค่าใช้จ่ายจากการซื้อกลุ่มกิจการเกรฮาวด์ ค่าตัดจำหน่ายสินทรัพย์ไม่มีตัวตนจากการรวมธุรกิจที่เกิดจากการตีมูลค่ายุติธรรมของสินทรัพย์ และการเพิ่มขึ้นของดอกเบี้ยจ่ายซึ่งเกิดจากการกู้ยืมเงินเพื่อใช้ในการซื้อกลุ่มกิจการเกรฮาวด์
ปัจจัยข้างต้นทำให้อัตรากำไรสุทธิในปี 2557 – ปี 2558 อยู่ในระดับติดลบ สำหรับปี 2559 บริษัทฯ มีอัตรากำไรสุทธิที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญจากปี 2557 – ปี 2558 เนื่องจากมีรายการขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์ จำนวน 155 ล้านบาท หรือร้อยละ (5.2) ของรายได้รวม ทั้งนี้ รายการขาดทุนจากการด้อยค่าดังกล่าวเป็นรายการพิเศษที่เกิดขึ้นในปีดังกล่าว
ทั้งนี้ หากไม่มีรายการขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์ดังกล่าว บริษัทฯ จะมีผลการดำเนินงานในงวดดังกล่าวประมาณ (13.4) ล้านบาทหรือคิดเป็นร้อยละ (0.5) ของรายได้รวม และจะมีอัตราขาดทุนที่ลดน้อยลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา
ในปี 2557 ปี 2558 และปี 2559 บริษัทฯ มีกำไร(ขาดทุน)ก่อนหักดอกเบี้ยและภาษี (EBIT) จำนวน 49 ล้านบาท 32 ล้านบาท และ (132) ล้านบาท ตามลำดับ และมีค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย และการด้อยค่าของสินทรัพย์ จำนวน 167 ล้านบาท 221 ล้านบาท และ 388 ล้านบาท ตามลำดับ
หลายคนอาจมีความกังวลเกี่ยวกับการทำกำไรของมัดแมน (MM) แต่อยากให้มองว่า สาเหตุดังกล่าวเกิดจากการค่าใช่จ่ายทางบัญชี เช่น ค่าตัดจำหน่ายจากการเข้าซื้อกิจการ ซึ่งค่าใช้จ่ายดังกล่าวเป็นเพียงค่าใช้จ่ายทางบัญชี และไม่กระทบกระแสเงินสด
ในมุมมองของการจ่ายเงินปันผล ซึ่งจะจ่ายจากงบเดี่ยว ก็จะไม่ได้รับผลกระทบเนื่องจากค่าใช้จ่ายดังกล่าวไม่กระทบกำไรสะสมของงบเดี่ยว นอกจากนี้ในปี 2559 MM ยังได้รับรู้ขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์ที่เกี่ยวกับธุรกิจแฟชั่น ซึ่งถือว่าเป็นการตั้งค่าเผื่อที่หมดแล้วหมดเลย ดังนั้น ในอนาคตคาดว่าจะไม่มีค่าเผื่อเกิดขึ้นอีก
รูปภาพ : กรุงเทพธุรกิจ
ส่งผลให้บริษัทฯ มีกำไรก่อนค่าใช้จ่ายทางการเงิน ค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย และการด้อยค่าของสินทรัพย์ (EBITDA) จำนวนเท่ากับ 216 ล้านบาท 253 ล้านบาท และ 256 ล้านบาท ตามลำดับ หรือคิดเป็นอัตราส่วนกำไรก่อนค่าใช้จ่ายทางการเงิน ค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย และการด้อยค่าของสินทรัพย์ ต่อรายได้รวม (EBITDA Margin) เท่ากับร้อยละ 9.7 ร้อยละ 8.8 และร้อยละ 8.6 ตามลำดับ
ส่วนธุรกิจที่ไม่ได้สร้างกำไร เช่น ร้านเสื้อผ้า ที่ขาดทุนอันเนื่องมาจากการตั้งสำรองการด้อยค่าของธุรกิจร้านเสื้อผ้า และธุรกิจเสื้อผ้าเหล่านี้มีการแข่งขัยที่ค่อนข้างสูง นำมาซึ่งค่าใช้จ่ายที่สูงเช่นกัน อาจะมีการลดสัดส่วน หรือทยอยปิดสาขาที่ขาดทุนสูงไปก่อน
ปัจจุบันมัดแมนมีธุรกิจหลัก 2 กลุ่มคือ ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มที่ดำเนินการภายใต้สัญญามาสเตอร์แฟรนไชส์กับต่างประเทศ ธุรกิจไลฟ์สไตล์ ภายใต้แบรนด์เกรฮาวด์ โดย ณ สิ้นปีที่ 2559 มีสาขารวมทั้งสิ้น 456 สาขา
ในระยะสั้น การขยายสาขา Greyhound ในประเทศจะเป็นตัวผลักดันกำไรได้ สำหรับ Franchise Greyhound ในต่างประเทศจะเป็นตัวขับเคลื่อนกำไรในระยะยาวต่อไป ดังนั้นมีโอกาสทำให้บริษัทพลิกกลับมามีกำไรได้ในปี 2560 อันเนื่องมาจากการขาดทุนของบริษัทจากการตั้งสำรองด้อยค่าประมาณ 159 ล้านบาทในปี 2559
ทั้งนี้ทั้งนั้นอาจถือได้ร้าน Greyhound เป็น Rising Star ในขณะที่ Donut ถือเป็น Cash-Cow เนื่องจาก Greyhound จะเป็นแรงสร้างการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ มีโอกาสที่สัดส่วนรายได้ของร้าน Greyhound จะขึ้นมาสูงถึง 40 % ของรายได้ทั้งหมดในอีก 3 ปีข้างหน้า และเปิดหัวเมืองสำคัญ ๆ เช่น พัทยา ภูเก็ต เชียงใหม่ เป็นต้น
ภายใต้แบรนด์ตัวเอง Greyhound Café ซึ่งถือว่าเป็นแบรนด์อาหารไทยที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก โดยปัจจุบันมีสาขาในประเทศ 14 สาขา และต่างประเทศ 14 สาขา ใน จีน ฮ่องกง สิงคโปร์ และมาเลเซีย โดยผู้บริหารยังคงวางแผนให้มีการขยายสาขาในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปแบบของการให้ Franchise
ซึ่งเป็นโมเดลที่สร้างรายได้ให้แก่ MM จากแบรนด์ที่ตนเองมีโดยไม่ต้องลงทุนอะไรเพิ่มเติม นอกจากนี้ ในปีนี้ MM ยังจะไปเปิดสาขาไกลถึงประเทศอังกฤษ โดยผู้บริหารวางเป้าว่าจะเป็น Flagship ในการขยายสาขาในประเทศยุโรป
ส่วนธุรกิจ Greyhound-Franchise เป็นอีกหนึ่งกุญแจสำคัญ ของ มัดแมน ที่จะเก็บส่วนแบ่งรายได้ (revenue-sharing) ประมาณ 4-6 % ของรายได้ รายได้ที่เกิดขึ้นทั้งหมดจะถูกนำมารวมใน EBITDA แล้วจะทำให้อัตรากำไรสูงขึ้นด้วย จะเห็นได้ว่าแบรนด์ Greyhound ยังทำอะไรได้อีกมาก ทั้งในตลาดอาหารและเครื่องดื่ม หรือโรงแรม”
ทั้งนี้มัดแมนยังได้เตรียมแผนขยายธุรกิจต่อไป ซึ่งมัดแมนเป็นผู้ดำเนินธุรกิจค้าปลีกในประเทศไทย โดยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แฟรนไชส์ Au Bon Pain, Dunkin’ Donuts, Baskin Robbins และเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในหลายๆ แบรนด์ที่ประสบความสำเร็จในตลาดประเทศไทยและต่างประเทศ
-----------------------------------------------
เขียนสรุปโดย : Freedom VI
นักลงทุนสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
http://market.sec.or.th/public/ipos/IPOSEQ01.aspx?TransID=89814
file:///C:/Users/Content/Downloads/Merlin_roadshow%20presentation_20170316.pdf
https://www.facebook.com/Stock2morrowFB/videos/1465718110138960/