นักลงทุนมักจะได้ยินมาเสมอว่า ให้เฟ้นหาลงทุนใน "หุ้นพื้นฐานดี" ซึ่งเราสามารถวิเคราะห์หาหุ้นพื้นฐานดีใน 2 แบบด้วยกัน คือ มองในเชิงปริมาณ และเชิงคุณภาพ
บทความนี้เราจะมาวิเคราะห์หุ้นพื้นฐานดีในเชิงปริมาณกันก่อน
มีสูตรไว้ให้เพื่อนๆ จดจำกันง่าย ๆ คือ “กำไรเพิ่ม ปันผลเพิ่ม พื้นฐานแกร่ง ไม่เพิ่มทุน” สูตร 4 ข้อสั้น ๆ นำไปปรับใช้กันได้
การเจาะเข้าไปดูจริงๆ ต้องอาศัยความรู้เรื่องงบการเงินพอสมควร ต่อไปเราไปลงรายละเอียดของสูตร 4 ข้อกันได้
สูตรข้อแรก : กำไรเพิ่มขึ้น
เป็นสูตรที่เรียบง่าย แต่ได้ใจความ โดยหุ้นพื้นฐานดี จะมีกำไรเพิ่มขึ้นได้ ต้องมาดูที่งบกำไรขาดทุน ดังนี้
- รายได้เติบโต โดยที่ถ้าสามารถเทียบการเติบโตทั้งรายปีต่อปี (YoY), และไตรมาสต่อไตรมาส (QoQ) ยิ่งดี เน้นการดูไปที่รายได้หลัก ไม่ไปดูรายได้อื่น ๆ ที่ไม่ได้มาจากธุรกิจหลัก หรือเป็นรายได้พิเศษ รายได้หลัก คือ ยอดขายสินค้า หรือยอดขายบริการ ควรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนได้ว่า บริษัทมีความสามารถแข่งขันและขยายธุรกิจต่อไปได้
- ต้นทุนค่าใช้จ่ายลดลง นักลงทุนควรเน้นมองไปที่ ค่าใช้จ่ายหลัก ได้แก่ ต้นทุนขาย (Cost of Goods Sold) หรือต้นทุนบริการ (Cost of service) รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการขายและในการบริหาร บริษัทที่มีพื้นฐานดีต้องสามารถควบคุมต้นทุนได้ดี แต่ทั้งนี้ต้นทุนค่าใช้จ่ายอาจเพิ่มขึ้นมาได้ แต่ว่าควรเป็นสัดส่วนเพิ่มตามรายได้ที่เพิ่มขึ้นด้วย
- กำไร บริษัทที่ดีควรมีผลกำไร เมื่อประกอบธุรกิจมาระยะหนึ่งแล้ว ให้ไปดูที่กำไรสุทธิ (Net Profit)บรรทัดสุดท้ายของงบการเงิน ซึ่งตัวกำไรสุทธินี้เองที่สามารถนำไปคำนวณเพื่อหาค่ากำไรต่อหุ้น (EPS) เป็นที่มาของ P/E Ratio นี้แหละ (ราคาหุ้นหารด้วยกำไรต่อหุ้น) แล้วบริษัทที่ขาดทุนก็จะไม่สามารถคำนวณหาค่า P/E ได้
นอกจากนั้น นักลงทุนจะดูกำไรเชิงลึก เช่น กำไรขั้นต้น (Gross Profit) และกำไรจาการดำเนินงาน (EBIT) โดยที่เปรียบเทียบกับอุตสากรรมเดียวกัน
- กำไรต่อยอดขาย สูงในอุตสาหกรรม ดูที่อัตราส่วนทางการเงิน อย่าง Profit Margin ต่าง ๆ เช่น อัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin), อัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin) และอัตรากำไรจากการดำเนินงาน (EBIT Margin)
- โดยที่บริษัทไหนที่มีอัตราตัวเลขกำไรต่าง ๆ เหล่านี้สูง ๆ แสดงถึงความสามารถในการควบคุมต้นทุน และค่าใช้จ่ายที่เหนือกว่า ซึ่งอัตรากำไรเหล่านี้ ควรเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เมื่อเทียบกับต่องวดรายไตรมาสหรืองวดรายปี และควรสูงสุดในอุตสาหกรรม
สูตรข้อที่ 2 : ปันผลเพิ่ม
การรับเงินปันผลเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ถือเป็นสิ่งที่นักลงทุนปรารถนาอย่างหนึ่งเลย โดยเฉพาะนักลงทุนกลุ่มห่านทองคำ หรือหุ้นปันผล ย่อมที่จะชื่นชอบความสามารถในการจ่ายปันผลของบริษัท จุดที่ต้องพิจารณา ดังนี้
- มีกำไรสะสม ดูได้จากงบดุล กำไรสะสมจะอยู่ใน ”ส่วนของผู้ถือหุ้น” เป็นตัวรับผลกำไรของบริษัทเป็นงวดๆ นับตั้งแต่บริษัทก่อตั้งบริษัทจนถึงปัจจุบัน ธุรกิจที่ขาดทุนสะสมจะไม่สามารถจ่ายปันผลได้ บริษัทที่ดีควรมีกำไรสะสมเพิ่มมากขึ้น และนำกำไรสะสมเหล่านั้นไปลงทุนต่อเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้บริษัท หากกำไรสะสมน้อยลง ควรเป็นเพราะว่านำเงินมาจ่ายปันผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหุ้น
- อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล (Dividend Yield) เมื่อเทียบกับดอกเบี้ยจากเงินฝากประจำหรือดอกเบี้ยพันธบัตร ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าได้ Dividend Yield มาจากเงินปันผลต่อหุ้นต่อปี หารด้วย ราคาตลาดต่อหุ้น การที่บริษัทจ่ายเงินปันผลเป็นเงินสดได้อย่างสม่ำเสมอ และมากกว่าดอกเบี้ยเงินฝากได้จะยิ่งดี จะทำให้ผลตอบแทนของนักลงทุนเพิ่มขึ้น หุ้นอาจมีมูลค่าเพิ่มขึ้น ถ้าบริษัทมีกำไรเพิ่มขึ้นปีต่อปี และเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในระยะยาว
บทความนี้ค่อนข้างยาวแล้ว บทความต่อไป เราจะมาต่อกันถึง สูตรของ พื้นฐานที่แข็งแกร่ง, และไม่ต้องเพิ่มทุน กันต่อเร็ว ๆ นี้นะครับ
ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือ ติวหุ้น รวยด้วยวีไอ (เขียนโดย อธิป กีรติพิชญ์ : นิ้วโป้ง Fundamental VI)
หลักสูตร BG-01 "เริ่มลงทุนหุ้น"
เรียน วันอาทิตย์ที่ 13 มกราคม นี้ !!
โอกาสดีต้นปีนี้..อย่าพลาด !! หลักสูตรพื้นฐานค้นหาหุ้นดีลงทุน
ดูรายละเอียดหลักสูตรได้ที่ >> http://bit.ly/2OZBNaJ <<