หุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ต้องยอมรับว่ากลุ่มธุรกิจธนาคารมีผลต่อระบบเศรษฐกิจและตลาดหุ้นอย่างมาก เนื่องจากเป็นแหล่งทุนสำคัญของธุรกิจต่างๆ และมีมูลค่า Market Cap. สูงเป็นอันดับต้น ๆ ในตลาดหลักทรัพย์ฯ
ดังนั้นหุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ถือได้ว่าเป็นกลุ่มจับตาของนักลงทุนรายใหญ่ หรือนักลงทุนต่างชาติด้วยเช่นกัน
การวิเคราะห์หุ้นกลุ่มแบงก์ ตัวแปรที่สำคัญ คือ อัตราการเติบโตของสินเชื่อ เนื่องจากสามารถในการเติบโตจะบอกถึงผลกำไรของธนาคารที่มากขึ้นได้ โดยปกติแล้วการเติบโตของยอดสินเชื่อควรจะมากกว่าหรือเท่ากับอัตราการเติบโตของ GDP ของประเทศ
แหล่งรายได้หลักของธนาคาร คือ การปล่อยกู้สินเชื่อ โดยมีส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยเงินฝากกับการปล่อยสินเชื่อเป็นส่วนของกำไร
ปกติธนาคารมักจะแบ่งพอร์ตของวงเงินสินเชื่อได้ ดังนี้
- ลูกค้ารายใหญ่
- ลูกค้า SME
- ลูกค้ารายย่อย
นอกจากนั้น ยังมีรายได้อื่น ๆ อีก เช่น ค่าธรรมเนียมบริการ ค่าให้คำปรึกษา การลงทุน และมีบริษัทลูกในเครือไว้บริการธุรกิจด้านต่างๆ เช่น บริษัทหลักทรัพย์, บลจ. หรือบริษัทประกันภัยประกันชีวิต เป็นต้น
- ธนาคารขนาดใหญ่ มักจะมีเครื่องไม้เครื่องมือทางการเงินต่างๆ ไว้ให้บริการลูกค้าได้หลากหลาย
- ส่วนธนาคารขนาดกลาง-เล็ก มักจะเป็นธนาคารที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้านนั้น ๆ เช่น ด้านเช่าซื้อรถยนต์ ด้านการปล่อยสินเชื่อบ้านหรือบัตรเครดิต เป็นต้น
ธนาคารขนาดเล็กจะมีข้อจำกัดในเรื่องของต้นทุนทางการเงินที่เสียเปรียบธนาคารใหญ่ ๆ เพราะธนาคารเหล่านี้ต้องจูงใจลูกค้าด้วยอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่สูงกว่าธนาคารขนาดใหญ่นั้นเอง
ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ หรือ Net Interest Margin (NIM)
เป็นตัวบ่งชี้ถึงความสามารถในการทำกำไรของธนาคารได้ กล่าวคือ กำไรส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยเงินฝากกับเงินกู้แล้วหักด้วยค่าใช้จ่ายของธนาคาร ซึ่งการวิเคราะห์หุ้นกลุ่มธนาคารต้องให้ความสำคัญกับอัตราส่วนนี้เช่นกัน
ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage Ratio หน่วย %)
หากตัวเลขนี้มากกว่า 100% อาจสะท้อนถึงความอนุรักษ์นิยม (conservative) ของธนาคาร เพราะ ผู้บริหารอาจต้องการปิดความเสี่ยงที่จะต้องตั้งสำรองหนี้เสียเพิ่มขึ้นในอนาคตอีก
ดังนั้นธนาคารที่มีสัดส่วนนี้สูงอาจแสดงถึงความระมัดระวังในการบริหารงาน มากกว่าธนาคารที่มีอัตราส่วนนี้ต่ำ
หนี้สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือ NPL (Non-Performing Loan)
หนี้ NPL ค่อนข้างจะคุ้นหูเป็นที่รู้จักของสาธารณชน เป็นสินเชื่อที่ไม่สามารถเรียกคืนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยได้ ซึ่งปกติแล้วอัตรา NPL ต่อสินทรัพย์รวมประมานไม่เกิน 2-4% ดังนั้นค่านี้มียิ่งน้อยจะยิ่งดี หากมีค่ามากแสดงว่ามีความเสี่ยงมากขึ้น
ปัจจุบันนี้ธุรกิจธนาคาร นอกจากรายได้หลักจากดอกเบี้ยของวงเงินเงินเชื่อ ธนาคารยังให้ความสำคัญรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยมากขึ้น เนื่องจากมีอัตรากำไรที่สูงกว่าสินเชื่อ และช่วยเรื่องลดความผันผวนทางเศรษฐกิจได้ด้วย
ปัจจัยที่ส่งผลต่อหุ้นกลุ่มธนาคาร คือ อัตราดอกเบี้ยนโยบายของแบงก์ชาติ ณ ปัจจุบันนี้กำหนดไว้อยู่ที่ 1.50 % หากมีการเปลี่ยนแปลงดอกเบี้ยนโยบาย อาจจะส่งผลต่อต้นทุนทางการเงินของแต่ละธนาคารได้
รวมถึงกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ตามหลักสากลของระบบธนาคารโลก เช่น Basel 1-3, การตั้งสำรองเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง เป็นต้น
หมายเหตุ : งบการเงิน 2559 (เป็นงบการเงินก่อนตรวจทาน) ตัวเลขอัตราส่วนทางการเงินอ้างอิง ณ วันที่ 23/01/60
ขอบคุณแหล่งข้อมูล : SET