#วางแผนการเงิน

3 มิติการลงทุน...เมื่อมนุษย์อายุยืนขึ้น

โดย ดร. ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์
เผยแพร่:
343 views

หากย้อนเวลากลับไปสู่ยุคหิน คนไทยที่ขณะนี้กำลังมีชีวิตอยู่กว่า 80% จะอยู่เลยอายุขัยเฉลี่ยในสมัยนั้นไปหมดแล้ว 

 

ทุกวันนี้อายุคาดเฉลี่ยเมื่อแรกเกิดของมนุษย์เราได้ขยับจากแค่ 26 ปี (ในยุคหิน) ขึ้นมาอยู่สูงถึง 75 ปี (คนไทยในปี 2559) โดยที่ตัวเลขนี้ได้ทยานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าถึง 10 ปี ภายในแค่ช่วง 30 ปีที่ผ่านมา   ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี Bionics (ต่ออายุด้วยการแทนอวัยวะที่เสียหายด้วยหุ่นยนต์) ทางการแพทย์ (ต่ออายุให้เสียชีวิตจากโรคภัยได้ยากขึ้น) และทางชีววิทยา (ต่ออายุเอาดื้อ ๆ ด้วยการตัดต่อพันธุกรรม ซึ่งตอนนี้ทำได้ในหนอนตัวกลมแล้ว) มีแต่จะบ่งชี้ว่ามนุษย์ในอนาคตจะมีอายุยืนขึ้นกว่าสมัยก่อนมาก 
 


 

แม้แนวโน้มนี้โดยรวมแล้วจะเป็นเรื่องน่ายินดี แต่มันก็เป็นการสร้างความท้าทายอันมหาศาลให้กับกระเป๋าสตางค์เราเหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเรา “แก่ก่อนรวย”   

 

ในรูปการณ์แบบนี้ หากเราคิดจะเกษียณที่อายุ 65 เราจะต้องมีเงินเก็บพอใช้ไปอย่างน้อย ๆ 10-20 ปีขึ้นไป และที่จริงแล้วควรจะมีเงินเก็บมากกว่านั้นด้วยซ้ำเนื่องจาก

1) เราอาจ underestimate รายจ่ายทางสุขภาพก้อนใหญ่ที่มักจะมาถมกันตอนใกล้บั้นปลายชีวิต

2) เรามีโอกาสอายุยืนกว่าค่าเฉลี่ย และ

3) เราอาจต้องการเกษียณก่อนอายุ 65 ปี  

พูดง่าย ๆ ก็คือการทำงานไปเก็บเงินไป 30 ปีเพื่อไฟแนนซ์ชีวิตในขณะนั้นบวกกับชีวิตวัยเกษียณอีกกว่า 20 ปี เป็นโจทย์ที่ท้าทายเหลือเกิน 

เนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ พ.ศ. 2560 (ที่พวกเราจะมีอายุเพิ่มขึ้นไปอีกหนึ่งปี!) ผมมีมุมมองเกี่ยวกับ mindset ของการลงทุนใน 3 มิติต่อไปนี้ที่หวังว่าจะเป็นตัวช่วยให้พวกเราสามารถใช้ชีวิตที่ได้ถูกความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ยืดออกไปได้อย่างมีความสุขและมีอิสระภาพทางการเงินครับ


1. ลงทุนกับการพัฒนาทักษะระดับสูง (high skill)

 

หากคุณค่าของแรงงานมนุษย์เราไม่ลดลงมากเมื่อเวลาผ่านไป การที่เราอยู่บนโลกนี้ได้เป็นเวลานานขึ้นจะไม่เป็นปัญหาที่น่ากังวลนัก เนื่องจากเรายังสามารถหารายได้จากการทำงานได้

 

แต่ความเป็นจริงมันมักไม่เป็นเช่นนั้นเนื่องจากทักษะหลายประเภทจะเสื่อมถอยลงเมื่อเราชราภาพ ทำให้เราไม่เป็นที่ต้องการนักในตลาดแรงงาน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งทักษะระดับต่ำ (low skills) เช่น การใช้แรงงาน หรือแม้กระทั่งทักษะคอมพิวเตอร์ที่พวกเราใช้อย่างช่ำชองและกำลังคิดว่าเป็นอะไรที่ high skills แล้ว ในอนาคตอาจถูกแรงงานรุ่นใหม่ (ที่อยู่ดึกได้มากกว่าเรา) และ automation เข้ามาทดแทนได้ง่าย ๆ  

 

เพื่อเป็นการป้องกัน scenario ที่เรา “ยอมแลกความสบายในวัยเกษียณเพื่อออกไปทำงาน แต่ดันไม่มีงานให้ทำ!”  เราควรลงทุนกับทักษะระดับสูง (high skills) ซึ่งแรงงานรุ่นใหม่ต้องใช้เวลา catch up หรือ automation ยังทำได้ยากตั้งแต่วันนี้

 

แม้ว่า 21st Century Skills (http://www.p21.org/our-work/p21-framework) จะถูกดีไซน์ขึ้นมาเพื่อปั้นแนวทางการศึกษาสำหรับเด็ก ผมมองว่าการเรียนรู้ไม่ได้สิ้นสุดที่ใบปริญญา  มีหลายทักษะในลิสต์นี้ที่เรายังสามารถขวนขวายเพื่อหาโอกาสพัฒนามันได้ตั้งแต่วันนี้ทั้งในเวลาทำงาน (เช่น ทักษะ critical thinking, communication and collaboration, และ social & cross-cultural skills) และนอกเวลาทำงาน  (เช่น ทักษะด้าน information literacy และ การใช้งานเทคโนโลยี)  และในยุคที่การเรียนรู้ไร้พรมแดนอย่างไม่เคยมีมาก่อนแบบนี้ เราสามารถพัฒนาทักษะหรือองค์ความรู้ใหม่ ๆ ได้ที่บ้านด้วยซ้ำไปจากการเรียนคอร์สออนไลน์ภาษาไทย (skillane.com) หรือภาษาอังกฤษ (Udacity, Coursera, khan academy และ edX) 


 

2. ลงทุนในการรักษาสุขภาพ


อายุยืนไม่ได้แปลว่าสุขภาพดีตามไปด้วย

 

ใครที่มีญาติผู้ใหญ่อายุเกิน 80 ปี หลาย ๆ ท่านให้เปรียบเทียบกันจะเข้าใจว่าไลฟ์สไตล์ของผู้ใหญ่เหล่านี้ (ตั้งแต่ก่อนเกษียณ) มีผลเหลือเกินต่อคุณภาพชีวิต กำลังกาย และกำลังสมองของพวกท่านในวัยชรา  แม้ว่าทุกท่านจะไม่สามารถออกไปทำงาน 8 ชั่วโมงได้แบบสมัยก่อนแล้ว แต่บางท่านก็ยังกระปรี้กระเป่า เล่นหุ้นได้ ทำบัญชีได้ ใช้อินเตอร์เน็ตและคอมพิวเตอร์เป็น เรียกง่าย ๆ ว่ายังมี “ทางเลือก” ในการสร้างรายได้   จากประสบการณ์ผมเองผู้ใหญ่เหล่านี้มักมีไลฟ์สไตล์ที่ active ทั้งทางกายและใจ ออกกำลังกายและใช้ชีวิตกลางแจ้งเป็นกิจวัตร ใช้สมองคิดคำนวนระหว่างทำงานมาตลอดชีวิต 

 

เพื่อเป็นการ “ถ่างวัยทำงานออก” ให้ยืดยาวขึ้นตามอายุขัยของคนเรา และเป็นการลดความเสี่ยงของโรคภัยไข้เจ็บนานาชนิดที่พอจะสามารถหลีกเลี่ยงได้ (เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน และโรคข้ออักเสบ) นอกจากการลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ แล้ว เราไม่ควรลืมลงทุนในสุขภาพ เนื่องจากหากเราดูแลมันไม่ดี  ทางเลือกในการทำงานของเราจะปิดตัวลงเร็วกว่าคนอื่น (จะเลือกไม่ทำงานก็ได้ แต่มีทางเลือกย่อมดีกว่าไม่มี) คุณภาพชีวิตจะถูกจำกัด อีกทั้งยังเป็นบ่อเกิดของรายจ่ายทางสุขภาพชิ้นมหึมาอีกด้วย  

 

สำหรับคอลงทุน คิดเสียว่าการเจียดเงินและเวลาในวันนี้เพื่อการออกกำลังกายหรือการบริโภคอาหารที่ดีขึ้นเป็นเหมือนกัน “ซื้อประกัน” ประเภทหนึ่งก็แล้วกันครับ  และสำหรับผู้ที่เข็นตัวเองออกไปออกกำลังกายได้ยาก ผมแนะนำให้ลงทุนซื้อสมาชิก membership ยิมหรือฟิตเนสคลาสที่ตัดออกจากบัญชีแบบอัตโนมัติไปเลย มันเป็นวิธีที่ได้ผลที่สุดแล้วในการบังคับให้คุณออกไปออกกำลังกายเอง และไม่ควรเสียดายเพราะราคาออกกำลังกายเหล่านี้มันน้อยนิดนักเมื่อเทียบกับสิ่งที่เราจะต้องเสียไปเมื่อเราป่วยในวัยชรา


3. เริ่มใส่ใจกับการลงทุนและการออมตั้งแต่วันนี้

 

ชีวิตหลังเกษียณที่มีคุณภาพคงเป็นไปได้ยากหากเราไม่รู้จักออมหรือไม่พยายามลงทุนเสียตั้งแต่ก่อนเกษียณ

 

ปัญหาหลักคือเราในวัยชราจะไม่สามารถรับความเสี่ยงจากการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงได้เท่ากับตอนหนุ่มสาวเนื่องจากโอกาสในการหารายได้จากแรงงานของเรากำลังแคบลงเรื่อย ๆ  ตลาดหุ้นแม้จะให้ผลตอบแทนสูงในระยะยาวก็อาจทรุดในเวลาที่เราไม่มีรายได้จากช่องทางอื่นแต่กำลังต้องการเงินที่สุด

 

ปัญหารองคือคนส่วนมากมักลืมความมหัศจรรย์ของดอกเบี้ยทบต้น (compound interest) และมักให้ความสำคัญกับปัจจุบันมากกว่าอนาคต  เป็นเรื่องน่าเสียดายในเมื่อเทคโนโลยีสามารถยืดอายุขัยของเราออกไปได้แล้วเราควรใช้ประโยชน์จากการออมและการลงทุนในวันนี้ให้มากที่สุด  คิดง่าย ๆ ว่าหากเราลงทุนวันนี้ 1 แสนบาทและสามารถได้อัตราตอบแทนเฉลี่ยแล้ว 7% ทุกปี  ผ่านไป 10 ปีมันจะเกือบกลายเป็นสองเท่า ผ่านไป 70 ปี (ถ้าเรายังอยู่) มันจะกลายเป็นเกิน 10 เท่าของเงินต้น  

 

เพราะฉะนั้นไม่มีเวลาไหนในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติแล้วที่เราควรเสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับการลงทุนเท่ากับในเวลานี้ที่อายุขัยของการลงทุนถูกยืดออกและกำลังเกิดความไม่แน่นอนและความท้าทายใหม่ ๆ ในตลาดการเงินทั่วโลก

ผมคิดว่าผู้อ่านและทุกท่านใน community นักลงทุนแห่งสต็อคทูมอร์โรว์กำลังเดินมาถูกทางแล้ว ผมขอเป็นกำลังใจให้กับทุกท่านและหวังว่าจะเอาบทวิเคราะห์จากมุมมองเศรษฐศาสตร์ที่น่าสนใจมาให้อ่านกันอีกในปีหน้าครับ สวัสดีปีใหม่ครับ

 

ติดตามบทวิเคราะห์จากมุมมองเศรษฐศาสตร์ที่เข้าใจง่ายได้ที่ www.settakid.com  ครับ


ผู้เขียนเป็นเจ้าของเว็บไซต์ settakid.com ที่วิเคราะห์ประเด็นเปลี่ยนโลกผ่านมุมมองเศรษฐศาสตร์แบบเข้าใจง่ายๆ  คุณ ณภัทร จบปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยคอร์เนลและจอนส์ ฮอปกินส์ เคยมีประสบการณ์ทำวิจัยที่มหาวิทยาลัยฮาวาร์ดและธนาคารโลก และสำเร็จการศึกษาปริญญาเอกสาขาเศรษฐศาสตร์ประยุกต์อยู่ที่มหาวิทยาลัยมินนิโซต้า เป็นนักเขียนรับเชิญของ stock2morrow และเป็นคอลัมนิสต์ประจำสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า

Facebook

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง